ม็อบชุดขาวเดินขบวนยื่นสมุดปกขาวผ่านศูนย์ดำรงธรรมขอคืนอายุงาน 4 ปีเต็มที่ถูกกลืนหายไปช่วงระหว่างไร้ตำแหน่งรองรับหลังเรียนวิชาชีพจบตามโครงการใช้ทุนของรัฐ เผยตั้งใจทำงานมายาวนานกว่าคนรุ่นน้องถึง 4 ปีเต็ม แต่กลับได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำต้อยกว่ากันอย่างมาก ทวงถาม “พวกเราทำผิดอะไร ถึงได้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นกับเราเช่นนี้”
วันที่ 15 ธ.ค.60 เวลา 09.39 น. ที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีกลุ่มตัวแทนพยาบาลวิชาชีพจำนวนเกือบ 20 คน ได้เดินทางมารวมตัวชูป้ายร้องขอคืนอายุราชการ และเข้ายื่นสมุดปกขาวเพื่อขอความเป็นธรรมต่อทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุหวังเป็นที่พึ่งสุดท้ายโดยอยากให้ส่งไปให้ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้
หลังจากปัญหาในเรื่องนี้ได้ถูกทอดทิ้งอย่างเรื้อรังมานานนับ 10 ปี ซึ่งเป็นการลอยแพพนักงานของรัฐที่เป็นนักเรียนทุนในสาขาวิชาชีพ จำนวนมากถึงกว่า 2.4 หมื่นคน ที่จบในวิชาชีพเมื่อปี 2543 แต่ในขณะนั้น กลับไม่มีตำแหน่งรองรับจนต้องกลายสภาพไปเป็นการจ้างงานในรูปแบบของพนักงานของรัฐ และมาได้รับการบรรจุที่ล่าช้าพร้อมกันกับรุ่นน้องถึง 4 ปี ในปี 2547 จึงทำให้อายุงานและฐานเงินเดือน ตลอดจนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไม่รองรับอายุงานเดิมให้อีกด้วย ทั้งที่ทำงานมานานมากกว่ารุ่นน้อง
โดย นางวัชราภรณ์ พงศ์ศิริพัฒน์ อายุ 38 ปี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ซึ่งทำงานในสถานพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งมานานถึง 17 ปีเต็ม และเป็นตัวแทนในการเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม กล่าวว่า เดิมนั้นพวกตนได้รับทุนในการเรียนพยาบาลในช่วงปี พ.ศ.2543-2546 แล้วจบออกมาทำงาน ซึ่งตามสัญญาในขณะนั้นเมื่อเราเรียนจบแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเลยในทันที แต่ปรากฏว่าในปีนั้นเมื่อจบออกมาแล้วกลับไม่มีตำแหน่งข้าราชการรองรับ โดยมีเพียงบางตำแหน่งเท่านั้น
ซึ่งเขาก็ได้จัดให้ทางแพทย์ และเภสัชกรได้เข้ารับการบรรจุก่อน ส่วนกลุ่มพวกที่ยังเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมากถึงกว่า 24,000 อัตรานั้น กลับปล่อยให้ถูกลอยแพ ซึ่งครั้งนั้นเขาให้เราเขียนหนังสือสัญญาขึ้นมาใหม่เพราะเนื่องจากเราเป็นนักเรียนทุนจึงไม่สามารถชดใช้ทุนคืนให้แก่รัฐได้ในทันที ซึ่งจะต้องทำงานในสถานที่ที่ถูกกำหนดให้อย่างน้อย 4 ปี เพื่อเป็นการใช้ทุนคืน จึงทำให้ทุกคนต้องยอมเขียนสัญญาขึ้นมาใหม่ ในตำแหน่งพนักงานของรัฐ นับตั้งแต่ปี 2543-2546
หลังจากนั้นในวันที่ 11 พ.ค.2547 ทุกคนจึงได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ โดยตำแหน่งเป็นข้าราชการและอายุราชการได้นับต่อ แต่ทางกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กลับให้มาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในปี 2547 เท่ากับว่าอายุราชการที่ให้นับต่อมานั้นไม่มีผลกับการเกษียณอายุราชการ เพราะ กบข.มีข้อกำหนดต่างๆ ตามอายุงาน เช่น 10 ปี หรือ 25 ปี ซึ่งจะไม่เท่ากันกับอายุการทำงานจริงที่เราทำมา จึงเท่ากับว่าอายุงานองพวกเราหายไป 4 ปี
อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากหลังปี 2547 ไปแล้ว กลับมีรุ่นน้องที่ได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงานราชการหรือพนักงานกระทรวงได้รับการเยียวยา ซึ่งได้อัตราเงินเดือนที่สูงกว่าพวกเราที่ทำงานกันมาก่อนถึง 4 ปีมาก ซึ่งแตกต่างกันมากถึง 5-7 พันบาท ซึ่งเท่ากับว่าพวกเรานั้นจบมาก่อนทำงานก่อน แต่กลับได้เงินเดือนตามหลัง จึงรู้สึกว่าพวกเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยไปยื่นหนังสื่อร้องเรียนมาหลายแห่ง หลายหน่วยงานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และคาดหวังว่าในครั้งนี้ที่เข้ามายื่นหนังสือ สมุดปกขาวผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมก็เพื่ออยากให้ถึงมือนายกรัฐมนตรี ที่เป็นความหวังสุดท้ายแล้ว
“เรารับราชการก็ได้ตั้งใจทำงาน แต่ก็ไม่คิดว่าผลตอบแทนต่อเราจะกลับมาเป็นแบบนี้ ไม่รู้ว่าพวกเราทำผิดอะไรถึงได้ถูกเหลื่อมล้ำ ไม่ได้รับความเป็นธรรมขนาดนี้” นางวัชราภรณ์ กล่าว
จากนั้นได้มี นายวราห์ เขินประติยุทธ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด สำนักงานจังหวัดฉะเชิงเทรา มารับเรื่องร้องเรียนในสมุดปกขาวจากกลุ่มตัวแทนพยาบาลวิชาชีพดังกล่าว พร้อมกล่าวว่า จะนำเรื่องนี้เสนอไปยัง นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงนามและส่งไปถึงยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: