ฉะเชิงเทรา – แย่งน้ำทำนา ชาวบ้านรอยต่อ 4 อำเภอหวิดยิงกันดับที่แปดริ้ว ขณะผู้นำชุมชนพร้อมด้วยหน่วยงานชลประทานในพื้นที่ รุดเข้าเจราจาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนจนสถานการณ์คลี่คลาย สุดท้ายทั้งสองฝ่ายอ้างบอกแค่ตะโกนส่งเสียงคุยกันดังข้ามทุ่งเท่านั้น ไม่ได้มีการเตรียมก่อเหตุทะเลาะวิวาทแย่งน้ำเติมลงนากันแต่อย่างใด
วันที่ 21 ม.ค. 63 เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ ไปยังที่บริเวณบนสะพานข้ามปากคลองจม หรือคลองระบายน้ำ ร-1 ท่าเรือ ของกรมชลประทาน ที่เชื่อมต่อระบายน้ำในช่วงฤดูฝนจากคลองบึงกระจับ ในเขตพื้นที่ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ผ่านมายังพื้นที่ ม.5 ต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น มาลงสู่คลองท่าเรือ ในพื้นที่ ม.2 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว ก่อนเข้าสู่พื้นที่ ต.เสม็ดเหนือ ต.ท่าทองหลาง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
ข่าวน่าสนใจ:
หลังรับแจ้งจากชาวบ้านว่า ชาวบ้านทางตอนบนริมคลองจม กำลังจะก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวริมคลองท่าเรือ ซึ่งอยู่ทางตอนล่าง จนถึงขั้นมีการท้าทายที่จะใช้อาวุธปืนยิงกันในทุ่งนาเพื่อแย่งชิงกันสูบน้ำเข้าสู่แปลงนาข้าว หลังจากเมื่อวานที่ผ่านมานั้น ได้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้นำรถแบคโฮเข้ามาขุดดินตั้งคันสร้างเป็นทำนบ
ปิดกั้นปากคลองจม เพื่อไม่ให้น้ำจากโครงการชลประทานที่ไหลมาจากฝายคลองท่าลาด พื้นที่ทางตอนบนไหลลงไปยังในคลองท่าเรือพื้นที่ทางตอนล่าง จนทำให้เกิดการโต้เถียงแย่งชิงน้ำกันในการทำนา ก่อนที่ในวันนี้จะมีกลุ่มผู้นำชุมชน ประกอบด้วย ว่าที่ร้อยตรีสมยศ อินทร์สุวรรณ นายก อบต.ท่าทองหลาง นายชัยพร อุไร นายก อบต.เสม็ดเหนือ อ.บางคล้า นางขวัญเรือน วิหกเหิร ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 ต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น นายทองหล่อ เฉยสวัสดิ์ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำเสม็ดเหนือ-ท่าเรือ
พร้อมด้วยชาวบ้านจากทั้งสองฝ่าย โดยมี นายชญาน์ทัต สิทธิวิชชาพร หัวหน้าฝ่ายโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 คลองท่าลาด (สบ.3) มาร่วมเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านทั้งสองฝ่ายรวม 4 อำเภอ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข หลังการพูดคุยเจรจาจนมีความเข้าใจระหว่างกัน ชาวบ้านทั้ง 2 กลุ่ม ที่อยู่เหนือน้ำและปลายน้ำ จึงได้ข้อสรุปว่า
ให้ชาวบ้านกลุ่มที่เข้าไปสร้างทำนบกั้นปิดขวางทางน้ำนั้น ยอมที่จะทำการรื้อถอนเปิดทางน้ำให้ไหลล้นผ่านปากคลองจม ลงสู่คลองท่าเรือได้ โดยขอให้มีการชะลอน้ำไว้บ้าง เพื่อไม่ให้น้ำไหลผ่านเลยไปลงสู่คลองท่าเรือทั้งหมด จนชาวนาทางตอนบนไม่สามารถที่จะสูบน้ำเข้าสู่แปลงนาได้ ในระยะ 2-3 วันนี้ และทางชลประทาน สบ.3 จะทำการส่งน้ำเพิ่มเข้ามาให้อีกระยะหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาให้ระดับน้ำในลำคลองสูงขึ้นด้วย
โดยนายณรงค์ นงค์จิตร อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 126/2 ม.13 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มชาวบ้านริมคลองจมได้เข้าไปสร้างทำนบปิดขวางทางน้ำนั้น เนื่องจากน้ำที่ได้รับการแบ่งปันมาจากโครงการชลประทานในช่วงระยะ 10 วันสุดท้ายของปีนี้ มีน้ำไหลผ่านลำคลองเข้ามาเพียงเล็กน้อย ลักษณะไหลรินต่ำว่าระดับของหัวกะโหลกท่อสูบน้ำ จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถที่จะสูบดึงน้ำเข้าสู่แปลงนาได้
โดยการทดปิดปากคลองนั้น ก็เพื่อต้องการให้มีระดับน้ำในลำคลองสูงขึ้น เพื่อให้พอที่จะท่วมปากท่อสูบน้ำ จนชาวนาสามารถที่จะสูบน้ำได้บ้างเท่านั้น โดยเป็นการทำกันไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ “ส่วนที่มีข่าวว่ามีการแย่งชิงน้ำ จนถึงขั้นจะยิงกันตายนั้น ไม่เป็นความจริง” เพราะชาวนาส่วนใหญ่ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีทั้งนั้น เพียงแต่อาจจะมีการตะโกนส่งเสียงพูดคุยกันข้ามทุ่ง ดังไปหน่อยเท่านั้น นายณรงค์ ระบุ
ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.สมยศ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาใน ต.ท่าทองหลาง รวมพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ กำลังจะได้รับความเสียหาย เนื่องจากผืนนาขาดน้ำ ซึ่งล่าสุดได้เสียหายไปแล้วจำนวนกว่า 500 ไร่ ส่วนอีกประมาณ 1 พันไร่นั้น ยังคงต้องการน้ำหล่อเลี้ยง หากได้น้ำจากการเปิดทำนบลงไปบ้างก็จะทำให้นาข้าวในส่วนที่ยังยืนต้นรอน้ำอยู่นั้นรอดตายได้ผลผลิต
สำหรับนาข้าวจำนวน 500 ไร่ ที่เสียหายไปแล้วนั้น จำเป็นต้องประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติ และขออนุมัติการเยียวยาช่วยเหลือจากทางจังหวัดต่อไป ว่าที่ ร.ต.สมยศ กล่าว
ด้าน นายยุทธพงษ์ ช่ำชอง อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68/1 ม.6 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม กล่าวว่า ชาวบ้านริมคลองจม ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับ ต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น และพื้นที่ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว ที่ต้องการทดน้ำเติมเข้านานั้น มีอาชีพทำนากันเพียงอาชีพเดียว รวมเนื้อที่กว่า 1 หมื่นไร่ ในทุกปีน้ำไม่เคยแล้งอย่างนี้มาก่อนเลย
หากจะทิ้งข้าวก็เสียดาย เนื่องจากกำลังตั้งท้องได้ผลผลิต อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากได้ลงมือหว่านไถกันมานาน ตามวงรอบของการทำนาปกติในทุกๆ ปี จนข้าวเริ่มตั้งท้องและใส่ปุ๋ยรอบที่ 2 แล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาไถหว่านนอกฤดูกาล ซึ่งหากยังไม่ได้ลงทุนอะไรมาก หรือยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยรอบที่ 2 ชาวนาก็สามารถที่จะตัดสินใจทิ้งต้นข้าวในนาได้ และหากปล่อยนาข้าวทิ้งไปตอนนี้ ชาวนาก็จะเสียหายอย่างหนัก จนแทบไม่ได้อะไรเลยตลอดทั้งปี
เนื่องจากกระบวนการทำนาของชาวนาจะผิดเพี้ยนไปจากปกติ ในทุกๆ ด้าน โดยหากนาข้าวที่ตั้งท้องเสียหายตอนนี้ ชาวนาก็จะไม่มีทุนที่จะทำนาในรอบต่อไป และหากทำนาในช่วงต้นฤดูฝนปลายเดือน เม.ย. ไม่ทัน หรือลงมือทำนาล่าช้าเลยไปจนถึงเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. ข้าวก็จะเก็บเกี่ยวไม่ทันฤดูน้ำท่วมอีก เนื่องจากทุ่งนาในบริเวณนี้จะกลายเป็นท้องทุ่งรับน้ำท่วมในทุกๆ ปี แล้วจะให้ชาวนาทำอะไรกิน จะเอารายได้จากตรงไหน และหากไปทำนาในช่วงปลายปีนี้ ก็อาจจะมาประสบปัญหาภัยแล้งอีกได้ นายยุทธพงษ์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: