ฉะเชิงเทรา – ชลประทาน แปดริ้วแจงหลังน้ำในแม่น้ำบางปะกงจืดสนิทตลอดสาย ทำให้มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติที่เกิดขึ้น จนมีกระแสข่าวสะพัดในพื้นที่ต่อเนื่องระบุหน่วยงานรัฐเอื้อประโยชน์บริษัทเอกชนด้วยการผลักดันน้ำเค็มไว้ ยันไม่มีต้นทุนน้ำเพียงพอที่จะทำได้
วันที่ 8 ส.ค.61 ผู้สื่อข่าวได้รับคำจี้แจงจากนายธเนศ ปลื้มคิด ผอ.ชลประทานจังหวัดฉะเชิงเทราว่า หลังเกิดปรากฏการณ์แม่น้ำบางปะกงจืดสนิทตลอดทั้งลำน้ำอย่างต่อเนื่องยาวนานมาหลายเดือน ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชไม้ผลบางชนิดที่ต้องการน้ำเค็ม โดยเฉพาะผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลตลอดแนวลำน้ำในพื้นที่ว่า
ในปีนี้พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีปริมาณฝนตกลงมามากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จึงทำให้น้ำในแม่น้ำบางปะกงตลอดทั้งลำน้ำนั้น มีค่าความเค็มเป็นศูนย์หรือจืดตลอดลำน้ำจนถึงพื้นที่บริเวณปากอ่าวไทย ผิดไปจากธรรมชาติ ตามฤดูกาลที่เคยเกิดขึ้นในทุกๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งตามปกติน้ำในแม่น้ำบางปะกงจะมีน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในลำน้ำ สลับเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม โดยในบางครั้งน้ำเค็มยังได้รุกล้ำเข้าไปไกลนับร้อย กม.จนถึงตัว จ.ปราจีนบุรีแต่ในปีนี้น้ำกลับมีความจืดสนิทไปจนถึงพื้นที่บริเวณปากอ่าว และทำให้มีกระแสข่าวโจมตีเกิดขึ้นในพื้นที่ว่าทางชลประทานนั้นเป็นตัวการที่ทำให้น้ำมีสภาพจืดจนผิดไปจากธรรมชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำรายใหญ่แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกนั้นได้สูบน้ำไป ไม่เป็นความจริงเนื่องจากชลประทานไม่มีต้นทุนน้ำมากเพียงพอที่จะทำได้
ข่าวน่าสนใจ:
โดยฝนที่ตกลงมาในพื้นที่นั้นส่วนใหญ่ตกอยู่ในบริเวณพื้นที่ใต้สันเขื่อนหรือพื้นที่ทางตอนล่างของอ่างเก็บน้ำ จึงทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญเช่น อ่างเก็บน้ำคลองสียัดนั้น ยังคงมีประมาณน้ำไม่ถึงครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างที่ 420 ล้าน ลบม. และหากทางชลประทานจะทำการผลักดันน้ำเค็มเอาไว้ไม่ให้รุกล้ำเข้ามาในลำน้ำได้นั้น จะต้องมีต้นทุนน้ำเดือนละไม่ต่ำกว่า 400-500 ล้าน ลบม. จึงจะสามารถชะลอความเค็มเอาไว้ได้ที่ผ่านมาในทุกปีนั้นชลประทานสามารถที่จะชะลอความเค็มของลำน้ำเอาไว้ได้แค่เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณหนึ่งเดือนเท่านั้น คือ ในช่วงของเดือน ธ.ค.จนถึงต้นเดือน ม.ค.ของทุกปีเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำทำนาก่อนถึงฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันที่จะเข้าสู่ช่วงของฤดูแล้งและมีน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในลำน้ำ
หลังจากนั้นน้ำในแม่น้ำบางปะกงจึงจะเริ่มมีความเค็มไปจนถึงแม่น้ำปราจีนบุรี ตลอดช่วงฤดูแล้ง แต่ในปีนี้จะไม่มีน้ำเค็มเข้ามาในลำน้ำอีกแล้ว เนื่องจากเมื่อช่วงเดือน เม.ย.61 น้ำเค็มได้รุกเข้ามาในลำน้ำบางปะกงได้แค่เพียงประตูระบายน้ำในเขต อ.บ้านโพธิ์ เท่านั้น ไม่ถึงเขตพื้นที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา และขณะนี้น้ำเค็มได้เลื่อนลงไปอยู่ยังที่ปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงแล้ว ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จึงทำให้ไม่มีน้ำเค็มเข้ามาในลำน้ำอีกต่อไปจนตลอดทั้งปีนี้ เพราะเป็นช่วงฤดูฝนแล้วส่วนเขื่อนทดน้ำบางปะกง ในพื้นที่ ต.บางแก้ว อ.เมืองฉะเชิงเทรา นั้น ไม่ใช่เขื่อนเก็บกักน้ำ จึงไม่สามารถที่จะปิดบานประตูลงจนถึงพื้นได้ เนื่องจากในลำน้ำมีน้ำไหลขึ้นลงถึงวันละ 2 ครั้ง หากปิดบานประตูระบายน้ำแล้ว จะเกิดผลกระทบต่อลำน้ำหลายด้าน
แต่ที่เห็นว่าทางชลประทานเอาบานประตูระบายน้ำลงนั้นเพื่อป้องกันวัชพืช เช่น ผักตบชวา ที่ไหลลงมาจากแม่น้ำปราจีนฯ และแม่น้ำนครนายก ให้มาติดอยู่ที่หน้าเขื่อน จากนั้นทางชลประทานจะทำการจัดเก็บขึ้นที่บริเวณด้านหน้าเขื่อนทดน้ำบางปะกงเพียงแห่งเดียว เพื่อไม่ให้ไหลลงมายังตัวเมืองฉะเชิงเทราได้ และใช้วิธีการนำเครื่องจักรกลงานหนักตักขึ้นที่บริเวณด้านหน้าเขื่อนทดน้ำ โดยที่น้ำในลำน้ำนั้นยังสามารถไหลขึ้นลงได้ตามปกติ ที่บริเวณใต้บานประตูของเขื่อน นายธเนศ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: