ฉะเชิงเทรา – ปักหมุดบางคล้า ควานหาอารยธรรมสุวรรณภูมิ แผ่นดินทองของชาวเอเชียตะวันออก โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสนเทศ (จิสต้า) ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ ลงสู่แหล่งศึกษาหาร่องรอยในพื้นที่อารยธรรมปากโขง ปากมังกร ถกร่วมรับฟังความเห็นนักวิชาการ และภูมิพื้นบ้านคนในถิ่น ก่อนพัฒนาสู่ความร่วมมือระดับชาติในสังคมอาเซียน
วันที่ 2 มี.ค.63 เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์รังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิ (ธารา รีสอร์ท) เลขที่ 39/5 ม.7 ต.หัวไทร อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา คณะอนุกรรมการดำเนินโครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสนเทศ (สทอภ.) องค์การมหาชน หรือจิสต้า (GISTDA) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
ข่าวน่าสนใจ:
ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อประชุมหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอารยธรรมสุวรรณภูมิ ในการนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาสุวรรณภูมิ สู่การสร้างสุวรรณภูมิในศตวรรษที่ 21 และเสนอกรอบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอารยธรรมสุวรรณภูมิ บนเส้นทางปากโขง-ปากมังกร พร้อมระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อร่วมกันสร้างแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมร่วมสุวรรณภูมิสู่อาเซียน
โดยมี รศ. ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานอนุกรรมการโครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง รองประธานคณะอนุฯ พร้อมนักวิชาการ สถานศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด และสระแก้ว รวมถึงพระสงฆ์ เดินทางมาเข้าร่วมรับฟัง และให้ข้อเสนอแนะจำนวนกว่า 70 คน ซึ่งระหว่างการเสวนาได้มีนักวิชาการร่วมปาฐกถา อย่างหลากหลาย เช่น เรื่องเล่าสุวรรณภูมิ โดย รศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์ และ ดร.ลักขณา สท้านไตรภพ อนุกรรมการ
ขณะที่ รศ. ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานอนุกรรมการฯ ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “แนวคิดหลักปรัชญาสุวรรณภูมิ สู่การพัฒนารากฐานประเทศ” ซึ่งในการเสาวนาได้มีการนำแผนที่โลกจากยุคโบราณในอดีตของชาวกรีก แผนที่ “ปโตเลมี” มาเปรียบหารอยต่อทางอารยธรรมกับแผนที่ปัจจุบัน และภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อหาผืนแผ่นดินทองของสุวรรณภูมิที่แท้จริง เพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันอย่างหลากหลายมิติ
ทั้งด้านภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของรัฐด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิทยาการ และการผลิต เช่น ความก้าวหน้าทางวิทยาการ การเดินเรือ ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้สุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางทางการค้า ระหว่างโลกตะวันตก และโลกตะวันออก การจัดการเกษตรการจัดการน้ำ และการขุดค้นจนพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในอดีต และการจัดการเชิงพื้นที่
เทคนิคและเทคโนโลยีการผลิตภาชนะ เครื่องมือ จากเครื่องปั้นดินเผา เหล็ก และสำริด ตลอดจนมิติด้านการค้าขาย พาณิชย์ และการบริการ มรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรม ศาสนา เพื่อสร้างความร่วมมือในกลุ่ม 5 ชาติสุวรรณภูมิ วัฒนธรรมร่วมในศตวรรษที่ 21 แห่งอาเซียน ประกอบด้วย อินเดีย ไทย พม่า อินโดนีเซีย และจีน ตามแผนวัฒนธรรมเสริมโครงการเส้นทางสายไหมใหม่จีน ให้เป็น “สุวรรณภูมิ อารยธรรมเชื่อมโลก”
โดยในงานได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของแผ่นดินสุวรรณภูมิจากในยุคอดีต และการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการไปจนถึงในยุคปัจจุบัน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมหารือ และรับฟังการปาฐกถา และบรรยายพิเศษในวันนี้ ที่ต่างพากันเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการด้วยความสนใจ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: