X
ชาวบ้านขอความเป็นธรรม

รัฐวิสาหกิจบริหารเหลวจากบินไทยสู่ รฟท.กรรมาธิการ สว.ลงคุ้ยแผลเน่าตลาดบ่อบัว

ฉะเชิงเทรา – รัฐวิสาหกิจบริหารเหลว กรรมาธิการ สว. ลงพื้นที่ดูตลาดสดบ่อบัว คุ้ยแผลเน่า ร.ฟ.ท. ปล่อยเอกชนเรียกเก็บค่าเช่าแผงค้าโหดโดยไม่มีสัญญาต่อเนื่องยาวนานเกือบ 10 ปี  ในระหว่างช่องว่างบอกเลิกสัญญา  ทั้งยังเอื้อประโยชน์มีการประนีประนอมต่อสัญญาใหม่ และปล่อยละเลยให้มีการละเมิดข้อตกลงตามสัญญาจนทำให้รัฐได้รับความเสียหายหลายครั้ง ชี้หากผลสอบเสร็จสิ้นเตรียมยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีทางกฎหมาย

วันที่ 19 พ.ค.63 เวลา 11.00 น. นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร ประธานอนุกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่มายังที่บริเวณตลาดสดบ่อบัว ภายในเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เพื่อดูพื้นที่จริงและสอบถามปัญหาข้อร้องเรียนจากชาวบ้านภายในตลาด

ชี้ให้ สว.เห็นปัญหา

ที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เอารัดเอาเปรียบในการเรียกเก็บค่าเช่าโหดมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 แต่ไม่ได้มีการนำเงินมาพัฒนาตลาดให้มีความสะอาด มีมาตรฐาน หรือเกิดความเจริญถูกสุขลักษณะเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด โดยมีชาวบ้านหลายรายต่างพากันเข้ามาให้ข้อมูล และร้องเรียนเพิ่มเติมต่อหน้าคณะอนุกรรมาธิการ และสื่อมวลชน ตลอดจนผู้ที่มาสังเกตการณ์จาก อบจ.ฉะเชิงเทรา นำโดยนายสัมฤทธิ์ เหลืองทรัพย์ทวี ที่ปรึกษานายกฯ อบจ.ฉะเชิงเทรา

ไม่มีการก่อสร้างตามสัญญา รฟท.

โดยนางจินดา พุ่มเจริญ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41/13 ถ.ริมคลองท่าไข่ เขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยนายชูศักดิ์ ยังอยู่สุข อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41/7 ถ.ริมคลองท่าไข่ และชาวบ้านอีกหลายราย กล่าวว่า พวกตนสงสัยว่าในช่วงที่สัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัทเอกชนรายนี้ กับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ถูกระงับลงในช่วงระหว่างปี 2544-2553 นั้น แต่ทางบริษัทเอกชนรายนี้ยังเข้ามาเรียกเก็บเงินค่าเช่าแผงค้าขายจากชาวบ้านผู้เช่านั้นสามารถทำได้อย่างไร

ลงดูพื้นที่จริง

เหตุใดทางฝ่าย รฟท. จึงไม่มาเป็นผู้ดำเนินการเก็บเอง และจัดสร้างปรับปรุงตลาดให้แก่ผู้ค้า จึงรู้สึกว่าประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ เนื่องจากเดิมนั้นชาวบ้านเช่าแผงค้าขายเพียงวันละไม่กี่บาท แต่พอมีบริษัทเอกชนเข้ามา โดยอ้างว่าเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานมาจากการรถไฟฯ จึงได้เข้ามาเรียกเก็บค่าเช่าในราคาที่สูงแบบขูดเลือดขูดเนื้อจากประชาชน ในอัตราล็อกขนาด 2 เมตรราคาค่าแรกเข้า 2 หมื่นบาท

ชี้ให้เห็นความผิดปกติ

และยังมีการเรียกเก็บค่าเช่าแบบรายวันอีก วันละ 100 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟที่คิดเป็นจุดอีก จุดละ 20 บาทต่อหลอดไฟ 1 ดวงต่อวัน ทั้งยังมีการเรียกเก็บแบบยิบย่อยอีกมากมาย เช่น หากมีการใช้พัดลมก็จะคิดเพิ่มอีกจุดละ 20 บาท เสียบชาร์ทโทรศัพท์มือถือก็คิดเพิ่มอีก 20 บาทต่อวัน หากแม่ค้าเจ็บป่วยไม่ได้มาขายของ ก็ยังต้องเสียค่าเช่า โดยจะถูกเรียกเก็บเงินย้อนหลังในวันที่ไม่ได้มาขายตามปกติอีกด้วย

ชาวบ้านไม่เอานายทุน

ขณะเดียวกันอัตราค่าเช่า ยังจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ จากเดิมในปี พ.ศ.2539 เคยเก็บแค่แผงละ 20-50 บาทต่อวัน ตามแต่ขนาดของแผง ต่อมาได้มีการขยับราคาขึ้นมาเป็น 40-80 บาทต่อแผงต่อวัน และล่าสุดเมื่อปี 2557 เอกชนรายนี้ได้เรียกเก็บค่าเช่าแผงแบบรายวันในราคาแผงละ 100 -130 บาท ตามแต่ขนาดแผง ส่วนค่าไฟฟ้าหากไม่มีมิเตอร์ของ กฟภ.เอง ในตลาดกางเต๊นท์ของผู้ค้ารายใหม่

ขอความเป็นธรรม

จะถูกคิดจุดละ 10 บาทสำหรับดวงไฟขนาดเล็ก และ 20 บาทสำหรับไฟหลอดใหญ่ และจะเพิ่มขึ้นในทุก 20 บาทตามจำนวนของหลอดไฟ ส่วนเครื่องคั้นน้ำผลไม้ น้ำกะทิ จะคิดค่าไฟสูงถึงเครื่องละ 50-100 บาท ต่อวัน นางจินดา กล่าว

ชาวบ้านฟ้อง กมธ.สว.

นายวิวรรธน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบตามหนังสือร้องเรียนที่ได้รับมาเบื้องต้นพบว่าผู้เช่าไม่ได้มีการปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย นับตั้งปี 2539 มาจนถึงปี พ.ศ.2544 ทางการรถไฟจึงได้มีการบอกเลิกสัญญาในวันที่ 1พ.ย.44 และมีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว แต่ต่อมาทาง รฟท.กลับมีการไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาล เมื่อวันที่ 23 ก.พ.53 ให้ผู้เช่าเดิมกลับมาได้รับสิทธิ์อีกครั้ง ในการทำสัญญาฉบับใหม่ โดยให้มีการชำระค่าเสียหายเพียงเล็กน้อย

กมธ.วุฒิสภา

หลังจากวันที่ 24 ก.พ.53 ไปจนถึง 27 มี.ค.57 รวมเวลากว่า 4 ปี กลับไม่มีการทำสัญญาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอม แต่ รฟท.กลับปล่อยให้ผู้เช่าเข้าไปเก็บผลประโยชน์ค่าแผงขายของในตลาดบ่อบัวเหมือนเดิม โดยที่ยังไม่ได้มีการนำเงินมาพัฒนาตลาดให้ดีขึ้นแต่อย่างใด ตามสภาพที่ได้มาเห็นในวันนี้ และยังปรากฏว่า ได้มีการทำสัญญาฉบับใหม่เมื่อวันที่ 28 มี.ค.57 กำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ 1 เม.ย.57 – 31 มี.ค.62

กว่า 24 ปี ยังอยู่คงเดิม

เพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 178 คูหา อาคารตลาด และแผงขาย  160 แผง ลานคนเดินและลานจอดรถอีก 250 คัน จนมาถึงวันที่ 27 ธ.ค.61 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเช่า รฟท.กลับอ้างเหตุว่า “เนื่องจากมีผู้บุกรุกในพื้นที่เช่าจำนวนมาก เป็นเหตุให้มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้ผู้เช่าไม่สามารถเข้าดำเนินการในพื้นที่เช่าตามสัญญาดังกล่าวได้” จึงได้ทำการจัดทำบันทึกขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี 2 เดือน 14 วัน ถึงวันที่ 14 มิ.ย.63

เดินดูภายในตลาด

ทั้งที่สัญญาเช่าข้อ 7 และมติคณะกรรมการรถไฟ ครั้งที่ 12/2552 เมื่อวันที่ 13 พ.ย.52 ได้กำหนดเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้เช่า หากก่อสร้างไม่เสร็จต้องทำการริบหลักประกันสัญญาและบอกเลิกสัญญาเช่า แต่กลับไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด การกระทำของเจ้าหน้าที่การรถไฟ และผู้เกี่ยวข้อง ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐ

ตลาดไม่เคยถูกปรับปรุง

ทำให้การรถไฟได้รับความเสียหายจากเงินค่าแผงขายของ ที่สมควรจะต้องได้รับ เนื่องจากมีการเก็บเงินมานานถึงกว่า 24 ปี แต่กลับไม่มีการก่อสร้างปรับปรุงตลาดแต่อย่างใด หลังการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และรับฟังปัญหาจากประชาชนเพื่อนำข้อมูลพร้อมภาพถ่ายไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การรถไฟ

ชีหากผิด ส่งดำเนินคดี

ว่ามีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย ตามที่ได้รับการ้องเรียนหรือไม่ต่อไป ซึ่งหากผลการพิจารณาประกอบพยานหลักฐานมีความชัดเจน จะได้นำเรื่องทั้งหมดส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตามกฎหมายต่อไป นายวิวรรธน์ กล่าว

ตลาดที่ไร้การพัฒนา

ชาวบ่อบัวดีใจ หลัง กมธ. สว.เอาจริงทำ รฟท.ขึ้นป้ายหยุดขยายเวลาเอื้อเอกชนแล้ว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน