ฉะเชิงเทรา – บลูเทคซิตี้ ตั้งโต๊ะแจงหลังถูกชาวบ้านบุกร้องศูนย์ดำรงธรรมกรณีไล่รื้อฮุบที่ดินทำกินกว่า 2 พันไร่ ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมย่านบางปะกง เผยมุ่งหวังสร้างเป็นสวนอุตสาหกรรมสีเขียวพร้อมให้การเยียวยาดูแลชดเชยชาวบ้านจนเต็มความพึงพอใจ และเพิ่มโอกาสโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนในพื้นที่เป็นอันดับแรก
วันที่ 8 ต.ค.61 เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานชั่วคราวโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ถนนเลียบมอเตอร์เวย์สาย 7 ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นายวิวัฒน์ โฆษิตสกุล ที่ปรึกษาบริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ได้ตั้งโต๊ะชี้แจงและแถลงข่าวกรณีมีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขาดิน บุกเข้าไปร้องเรียนยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 13 ก.ย.61 ที่ผ่านมา
ข่าวน่าสนใจ:
โดยกล่าวหาว่าทางโครงการฯ ได้ทำการรื้อไล่ที่ดินทำกินและบ้านเรือนพักอาศัยของชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 1,2,3,7 ต.เขาดิน จนทำให้มีชาวบ้านจำนวนกว่า 30 ครัวเรือนที่อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้เช่า ตาม พ.ร.บ.เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (พ.ร.บ.เช่าที่ทำนา) จนมีสื่อมวลชนหลายแขนงนำเสนอเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องเผยแพร่ออกไปทั่วประเทศนั้น
นายวิวัฒน์ ได้ชี้แจงว่า ทางบริษัทไม่เคยไล่รื้อบ้านเรือนที่พักอาศัยของชาวบ้านตลอดจนที่ดินทำกินตามที่ตกเป็นข่าวแต่อย่างใด โดยบ้านเรือนที่ถูกรื้อถอนออกไปนั้นเป็นความสมัครใจของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่จริง และได้รื้อถอนย้ายออกไปเองตามความพึงพอใจในการซื้อขายที่ดินระหว่างกันของทั้งสองฝ่าย
ขณะเดียวกันทางบริษัทได้ทำการซื้อที่ดินแปลงใหม่จำนวน 12 ไร่ ในพื้นที่ ม.6 ต.เขาดิน เพื่อจัดสรรให้แก่ชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่อาศัยได้เข้าไปสร้างบ้านเรือนพักอาศัยรายละ 50 ตารางวา โดยทางโครงการจะเก็บค่าเช่ารายปีในอัตราที่ต่ำที่สุด และจะนำเงินค่าเช่าจากชาวบ้านทั้งหมดไปใช้ในการดูแลด้านสาธารณูปโภคในหมู่บ้านที่จัดสรรให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่นั้นเองโดยที่จะไม่นำเงินค่าเช่านั้นกลับมายังโครงการ
โดยที่ผ่านมานั้นทางโครงการได้มีการเยียวยาชาวบ้านไปทั้งหมดแล้วแต่อาจจะมีบางรายที่ตกหล่นหรือไม่ทั่วถึง เนื่องจากอาจเป็นผู้ที่เช่าช่วงต่อจากผู้เช่าโดยตรงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหากมีชาวบ้านรายใดที่เป็นผู้เช่าช่วงต่อในที่ดินเดิมแปลงนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยานั้น สามารถที่จะเข้ามาแจ้งชื่อไว้ยังที่ทำการโครงการ หรือแจ้งรายชื่อไว้ที่ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนได้ และหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นผู้ที่เคยเช่าอยู่อาศัยทำกินอยู่จริงทางโครงการจะดำเนินการเยียวยาและชดเชยให้เช่นเดียวกันทั้งหมดทุกราย
สำหรับโครงการของบริษัทที่กำลังจะดำเนินอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ทางบริษัทมีนโยบายที่จะดำเนินโครงการในรูปแบบของอุตสาหกรรมสีเขียว ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง โดยผู้ประกอบการโรงงานที่จะเข้ามาก่อตั้งในพื้นที่นั้นจะต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาดไม่มีมลพิษเท่านั้นทางโครงการจึงจะให้เข้ามาดำเนินการก่อตั้งในพื้นที่ได้
นอกจากนี้การก่อสร้างตัวอาคารโรงงานจะต้องก่อสร้างเป็นอาคารในรูปแบบใหม่ที่ดูสวยงาม เป็นซิลิคอนวัลเลย์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสมาร์ท ซิตี้ ของ จ.ฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่โครงการจำนวน 2,116 ไร่ จากริมฝั่งลำน้ำบางปะกงจรดถนนมอเตอร์เวย์ สาย 7 กรุงเทพฯ-พัทยา โดยที่ทางโครงการจะให้ความสำคัญต่อคนในชุมชนเป็นลำดับแรก
ด้วยการให้โอกาสต่อลูกหลานของคนในพื้นที่ได้มีสิทธิ์ถูกเลือกเข้ามาทำงานก่อนที่จะรับคนนอกพื้นที่เข้ามาทำงานหากมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดเข้ามาสมัคร และจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นอัตรา และจะช่วยยกระดับด้านการศึกษาของชุมชนและจังหวัดในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ จากการมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษา
ตลอดจนความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในจังหวัดเพื่อพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทำให้พื้นที่มีรายได้มากขึ้นทั้งด้านภาษีและคนในชุมชน โดยที่อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาก่อตั้งในพื้นที่นั้น จะเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก EEC ตามแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (รถยนต์ไฟฟ้า) อุปกรณ์จัดเก็บพลังงานไฟฟ้ามีความจุสูง ที่ไม่ใช่แบตเตอรี่แบบตะกั่วกรดทั่วไป
อย่างไรก็ตามทางบริษัทยังไม่ได้เริ่มลงมือดำเนินการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมแต่อย่างใด เนื่องจากโครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และการทำอีไอเอ จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจาก สผ.และสีผังของที่ดินเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแล้ว จึงจะเริ่มก่อสร้างได้ ซึ่งคาดว่าจะทำอีไอเอแล้วเสร็จประมาณในช่วงไตรมาตร 2 ของปีหน้า (2562)
ส่วนการปรับถมพื้นที่ภายในโครงการในขณะนี้นั้น เป็นเพียงการเตรียมพื้นที่สำหรับสร้างเป็นลานจอดรถ และทำเป็นโกดังเก็บสินค้า ซึ่งไม่ต้องผ่านกระบวนการทำ อีไอเอ จำนวน 250 ไร่ที่ได้รับการอนุญาตจากทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแล้วเท่านั้น นายวิวัฒน์ กล่าว
ด้าน นางอ้อยใจ อุไรพันธุ์ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 31/7 ม.5 ต.เขาดิน กล่าวว่าบิดาของตน คือ นายวิเชียร พร้อมเจริญ อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20/3 ม.3 ต.เขาดิน ซึ่งอยู่อาศัยประกอบอาชีพทำกินอยู่ในที่ดินแปลงนี้ และได้ถูกให้รื้อถอนบ้านเรือนออกไปแล้วนั้น เดิมเกิดความสับสนอย่างมากเพราะมีกระแสข่าวจากหลายด้านที่ไม่ตรงกันกับข้อเท็จจริงจากทางบริษัทเจ้าของโครงการที่เข้ามาชี้แจงในวันนี้
หลังจากได้มารับฟังถึงแนวทางในการเยียวยาช่วยเหลือจากทางผู้ดำเนินโครงการแล้ว จึงรู้สึกว่ามีความชัดเจนมากขึ้นและเกิดความพึงพอใจ โดยที่ผ่านมาหลังจากรื้อบ้านออกไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะนำเงินทุนที่ไหนไปขนย้ายบ้านที่รื้อออกมา และไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาสร้างบ้านใหม่ แต่มาในวันนี้ทางบริษัทได้รับว่าจะช่วยเหลือดำเนินการให้จึงรู้สึกพึงพอใจต่อการเยียวยาช่วยเหลือจากทางโครงการดังกล่าวนี้ นางอ้อยใจ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: