ฉะเชิงเทรา – กมธ.การปกครองท้องถิ่นวุฒิสภา ลงพื้นที่รับฟังปัญหาข้อเสนอแนะ ก่อนการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นทั่วไป ด้าน อปท.แปดริ้ว โอดปัญหาหลังการรับถ่ายโอนสาธารณสมบัติจากหน่วยงานอื่น ไม่สามารถเข้าบริหารจัดการได้จริงอย่างเต็มรูปแบบ ซ้ำยังถูกปล่อยทิ้งเป็นภาระขอส่งมอบคืนกลับไม่ยอมรับ อีกทั้งยังพบปัญหาในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ จากผู้ประกอบการที่เข้ามาก่อตั้งโรงงานในพื้นที่ แต่มี สนง.ใหญ่อยู่ในเมืองหลวง
วันที่ 17 ก.ค.63 เวลา 10.00 น. คณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่นวุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น (วุฒิสภา) ได้เดินทางมาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเตรียมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นฯ ยังที่ห้องประชุมสภาสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา (อบจ.) เพื่อรับฟังเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 การจัดการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา
โดยมีนายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา มาเป็นประธานกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยนายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา กล่าวบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหารงาน การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การบริหารงบประมาณ และการจัดการศึกษาของ อบจ.ฉะเชิงเทรา
โดย นายกิตติ ได้กล่าวรายงานต่อ คณะ กมธ.ว่า อบจ.ฉะเชิงเทรา มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนเรื่องการบริหารจัดการงานด้านอื่นๆ ได้ยึดหลักในทำงานตามนโยบาย “ผิดระเบียบไม่ทำ สั่งการไม่ถูกให้บอก มีอะไรคลุมเครือปรึกษาหารือกัน” จากนโยบายที่ได้ถือปฏิบัติทำให้การบริหารงานทั้งฝ่ายบริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ มีความราบรื่น โปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ส่วนรวม
จากนั้นยังได้เสนอถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการบริหารงานด้านต่างๆ เกี่ยวกับการรับถ่ายโอนสาธารณสมบัติ เช่น ถนนเส้นทางสัญจรจากสำนักงานทางหลวงชนบท (รพช.) คูคลองสาธารณะจากชลประทาน นั้น หลังจากการรับถ่ายโอนมาแล้ว ทาง อบจ.ไม่สามารถที่จะเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้ โดยหากจะเข้าไปปรับปรุงหรือขุดลอกซ่อมแซม ทาง อบจ.ยังคงต้องทำหนังสือขออนุญาตไปยังหน่วยงานเดิมก่อนทุกครั้ง
เปรียบเสมือนกับการได้รับมอบบ้านมาแล้ว แต่พอจะเข้าไปในบ้านกลับยังคงต้องไปขออนุญาตจากเจ้าของเดิมก่อน จึงไม่สามารถที่จะเข้าไปบริหารจัดการได้อย่างเต็มรูปแบบ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ เมื่อจะขอส่งมอบถ่ายโอนกลับคืนไป หน่วยงานเดิมเจ้าของพื้นที่กลับไม่ยอมรับคืน ทั้งยังทิ้งภาระที่จะต้องหาเงินงบประมาณมาทำการปรับปรุงซ่อมแซมบำรุงรักษากันเองไว้ให้
ขณะเดียวกัน จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลให้เป็นพื้นที่เขตการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาก่อตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่ทาง อปท.กลับไม่สามารถเข้าไปจัดเก็บภาษีรายได้บำรุงท้องที่ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการหรือบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ ล้วนมีที่ตั้งของสำนักงานใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งสิ้น
ปัจจุบันจึงทำให้ อบจ.ฉะเชิงเทรา สามารถทำการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ได้น้อยมาก เพียง 91.1 ล้านบาทหรือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินงบประมาณทั้งหมด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ข้างเคียงทั้งที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีที่ตั้งติดอยู่กับกรุงเทพฯ และเป็นเมืองหน้าด่านของอีอีซี จึงทำให้มีงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่เพียงจำนวน 900 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้ 618.9 ล้านบาท รายได้จากเงินอุดหนุน 190 ล้านบาท นายกิตติ กล่าว
ด้าน พลเอก เลิศรัตน์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้มาศึกษาดูงานยังที่ อบจ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อรับทราบข้อมูลนำไปสรุปดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ รวม 3-4 ประเด็น โดยประเด็นแรกนั้นเกี่ยวกับงบประมาณต่างๆ ประเด็นที่สองเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ประเด็นที่สามเกี่ยวข้องกับการดำเนินการเกี่ยวกับอีอีซีของ อบจ.ฉะเชิงเทรา ว่าได้ช่วยสนับสนุนรัฐบาลอย่างไรในการดำเนินการ
ส่วนประเด็นสุดท้ายนั้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่าได้มีการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้อย่างไร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงของปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ส่วนปัญหาที่ได้รับฟังจากการนำเสนอในวันนี้เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ไม่ได้นั้น ต้องเป็นเรื่องของการเชิญชวน รณรงค์และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการว่า ควรจะเห็นความสำคัญกับพื้นที่ ที่เขามาตั้งโรงงานและจ่ายภาษีให้ท้องถิ่น ซึ่งหลายจังหวัดมีการรณรงค์และร้องขอกันอยู่ แต่เราไม่สามารถที่จะไปบังคับภาคเอกชนได้
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการถ่ายโอนนั้น ได้มีการผลักดันในทุกครั้งที่ได้เข้าไปพบ รมว.มหาดไทย เข้าไปพบคณะกรรมการกระจายอำนาจ เราก็จะไปพูดประเด็นนี้อยู่เสมอ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องลงไปกำชับกับทางกระทรวงทบวงกรม หรือส่วนราชการส่วนภูมิภาคต่างๆ ว่าการถ่ายโอนมาแล้วนั้นเราต้องให้งบประมาณให้ทั้งคนแก่เขามาด้วย อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะเรื่องถนนหนทางนั้น ทางกรมทางหลวงชนบทโอนมาให้แก่ อปท. เกือบหนึ่งแสน กม.แล้ว แต่งบประมาณซ่อมบำรุง กลับมาถูกปล่อยให้หากันเองจึงเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งรัฐบาลได้รับทราบแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ พลเอก เลิศรัตน์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: