ฉะเชิงเทรา – หมดแรงต้าน โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ยื้อมาราธอนกันมาอย่างยาวนานถึงกว่า 11 ปีเต็ม ยังสร้างไม่ได้ ก่อนพลิกหันใช้ก๊าซธรรมชาติ NGV เป็นเชื้อเพลิงทดแทน สุดท้ายเดินหน้าเวทีประชาพิจารณ์ผ่านฉลุย เตรียมปักหมุดลงเสาหลัก เริ่มก่อสร้างได้ในทันทีหากอีไอเอผ่านการพิจารณา พร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ในปี 2569
วันที่ 25 ส.ค.63 เวลา 09.00 น. ที่โดมลานกีฬาเอนกประสงค์ภายในวัดเข้าหินซ้อนนันทวัฒนาราม พื้นที่ ม.2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บริษัทบูรพา พาวเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด (BPP) ผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ (NGV) ขนาด 600 เมกาวัตต์ ในพื้นที่ ม.3 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรัศมีพื้นที่โดยรอบโครงการ 5 กม.
ข่าวน่าสนใจ:
เพื่อประกอบการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นครั้งที่ 2 หลังจากได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา (ก.ย.62) โดยมีประชาชนเดินทางมาเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นจำนวนกว่า 400 คน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ตำบลเข้าหินซ้อนทั้ง 14 หมู่บ้าน โดยบรรยากาศดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยไม่มีกลุ่มบุคคลเข้ามาเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านโครงการแต่อย่างใดอีก ผิดไปจากโครงการเดิม ซึ่งผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ารายเดียวกันนี้ ได้เคยดำเนินโครงการก่อตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกาวัตต์ ภายใต้ชื่อ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด มาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2562
แต่ได้ถูกชาวบ้านคัดค้าน และมีกลุ่มต่อต้านออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว เพื่อคัดค้านโครงการมาโดยตลอดเป็นเวลายาวนานถึงกว่า 11 ปีเต็ม จนสุดท้ายต้องยุติโครงการลงไป เมื่อช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา จากนั้นจึงได้มีการปรับเปลี่ยนโครงการมาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ เมื่อประมาณเดือน เม.ย.2562
และได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย.62 ที่ผ่านมา โดยไม่มีกระแสต่อต้านมากนัก แต่ยังคงมีประชาชนในพื้นที่ วิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องของการถูกแย่งน้ำไปจากภาคเกษตรกรรม เนื่องจากทางโครงการต้องใช้น้ำดิบจากคลองระบม ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของคลองท่าลาดเข้าไปหล่อเลี้ยงระบบมากถึงปีละกว่า 4 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบม.)
โดยในวันนี้ นายกิตติพันธ์ จิตต์เป็นธรรม หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารโครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนโดยรอบโครงการในรัศมี 5 กม. ในวันนี้ ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อที่จะนำข้อคิดเห็นไปประกอบการทำรายงานอีไอเอ (EIA) โดยการดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีเสียงต่อต้านจากภาคประชาชนแต่อย่างใด
และยังได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นจากคนในพื้นที่ ซึ่งหากรายงานอีไอเอ ผ่านและได้รับการอนุมัติจาก สผ.แล้ว จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในทันที โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 ปี จึงจะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ. ได้ ในปี 2569 ส่วนข้อกังวลของชาวบ้านบางส่วน จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อปีที่ผ่านมานั้น
ทางโครงการได้จัดตั้งบริษัท เพื่อจัดเตรียมบริหารจัดการน้ำขึ้นมาดำเนินการศึกษาและสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในโครงการเองจำนวน 5 ล้าน ลบม. ต่อปี โดยได้มีการขออนุญาตจากทางชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อทำการสูบน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในช่วงฤดูน้ำหลาก ระหว่างเดือน ก.ค.-ต.ค. เป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอหล่อเลี้ยงโครงการ ที่ต้องการใช้น้ำปีละประมาณ 4 ล้าน ลบม. นายกิตติพันธ์ กล่าว
และกล่าวต่อว่า สำหรับโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โดยใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.3 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีกำลังการผลิตสูงสุด 650 เมกาวัตต์ แต่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ไว้จำนวน 540 เมกาวัตต์ เป็นเวลา 25 ปี โดยมีหมู่บ้านโดยรอบในรัศมี 5 กม. ที่ตำบลเขาหินซ้อน 7 หมู่บ้าน ต.เกาะขนุน 3 หมู่บ้าน และ ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 4 หมู่บ้าน
และจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาดในขณะนี้ จึงได้แบ่งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นจำนวน 3 เวที คือในวันนี้ที่บริเวณวัดเขาหินซ้อนมีประชาชนมาเข้าร่วมประมาณ 400 คน ในวันพรุ่งนี้ที่วิทยาลัยการอาชีพพนมสารคาม อีกประมาณ 160 คน และในวันพฤหัสบดี ที่หอประชุมที่ว่าการ อ.สนามชัยเขต คาดว่าจะมีประชาชนมาเข้าร่วมอีกประมาณ 200 คน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: