ฉะเชิงเทรา – จับตาพื้นที่ 2 อำเภอชายขอบ สร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่สนามเลือกตั้งนายก อบจ.แปดริ้ว แม้มีจำนวนประชากรและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่มาก แต่อาจกลายเป็นพื้นที่เชือดเฉือนกันด้วยคะแนนปลาย ที่อาจขยับเข้ามาใกล้หรือสูสีกันในการแข่งขันชิงเก้าอี้ นายก อบจ.คนใหม่ในรอบ 8 ปีเต็มจากการเลือกตั้งครั้งนี้
โดยผู้สมัครหมายเลข 1 อดีตแชมป์เก่า คือ นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ หรือนายกไก่ ที่เคยครอบครองตำแหน่งอย่างต่อเนื่องมานานถึง 3 สมัย แกนนำกลุ่ม “แปดริ้วโฉมใหม่” ได้นำทีมงานหน้าใหม่จำนวนมาก และทีมงานหน้าเก่า ที่ยังอาสาปะปนเข้ามาอย่างประปราย สู้ศึกกับผู้ท้าชิงหน้าใหม่ คือ จ่าเอกยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ ผู้สมัครหมายเลข 2 อดีตนายก อบต. และเทศบาลตำบลบางผึ้ง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา แกนนำกลุ่ม “ฉะเชิงเทราก้าวหน้า”
ข่าวน่าสนใจ:
ที่มีผู้สมัคร ส.อบจ.หน้าใหม่ ลงมาร่วมท้าชิงแบบครบถ้วนทั้ง 30 เขต และมีอดีต ส.อบจ.รุ่นเก่า เข้าร่วมลงสู้ศึกด้วยเป็นบางส่วน ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มการเมืองใหญ่ “ตระกูล ฉายแสง” ที่พยายามปลุกปั้นผลักดัน “ยศสิงห์” ขึ้นมาล้มแชมป์เก่า ซึ่งเป็นอดีตนายกฯ ที่ได้เคยปลุกปั้นขึ้นมาเองกับมือเช่นเดียวกัน แต่หลังเปลี่ยนขั้วทางการเมืองไปเอนอิงกับทางซีกฝ่ายของนักการเมืองด้านฝั่งรัฐบาล จึงเลิกให้การสนับสนุน
และทำให้การต่อสู้ศึกชิงนายก อบจ.ฉะเชิงเทรา ในครั้งนี้ เปรียบเสมือนการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง 2 ขั้วการเมืองระดับชาติอย่างชัดเจน แม้ยศสิงห์ จะเร่งปูพรมเปิดตัวมานานถึงกว่า 2 ปีเต็ม เพื่อให้ผู้คนทั้งจังหวัดได้เคยเห็นหน้าคร่าตา แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตนายกฯ คนเก่าแล้ว การคุ้นชินกับประชาชนนั้นย่อมมีอยู่เหนือกว่ากันมาก อีกทั้งอดีตนายกคนเก่า ยังเป็นผู้ที่ขยันทำมวลชนเดินสายออกงาน ทั้งงานบุญบ้าน งานประชาชน และงานในหน้าที่เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ชาวบ้านมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีเต็มนั้น ย่อมมีความได้เปรียบและปลูกฝังรากลงแน่นลึกอยู่ในใจของผู้คนได้มากกว่า
ขณะที่ “ยศสิงห์” แม้จะมีขั้วการเมืองใหญ่เข้ามาหนุนหลังอย่างชัดเจน แต่ทว่ากระแสเดิมของกลุ่มการเมืองบ้านใหญ่หลังนี้ ได้เริ่มอ่อนล้าลงมาในระดับหนึ่งจากผลการเลือกตั้งการเมืองระดับชาติในระยะที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้พลาดโอกาสหลุดเก้าอี้ตำแหน่ง ส.ส.เขต 1 และเขต 4 ที่ได้เคยครอบครองมานาน อีกทั้งฐานกำลังหลักส่วนใหญ่นั้นยังคงหยุดนิ่ง ทั้งอดีต ส.อบจ. ที่ยังคงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ที่เดิมอดีตคนในบ้านเดียวกันมาแข่งขันกันเอง จนทำให้ต้องหยุดชะงักการลงเล่นการเมืองไปโดยชั่วขณะ เพื่อลดปัญหาและไม่เกิดร่องรอยของความหมองช้ำระหว่างกัน ทั้งคนในบ้านใหญ่และอดีตนายก อบจ.คนเก่า ซึ่งเคยเป็นแกนนำหลักสำคัญและอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน
เมื่อส่องลึกลงไปถึงการเมืองในระดับ นายก อบต. และ ส.อบต. ตลอดจนเทศบาลท้องถิ่นนั้น ต่างแตกระแหงแยกยิบปลีกย่อยซอยลงไปจากกันอย่างมากมาย จนแทบไม่อาจจับให้ติดมือ หรือรวบรวมกำลังกันให้เป็นกลุ่มใหญ่ได้ แต่สิ่งที่น่าจับตาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ “กระแสของการอยากเปลี่ยน” และความร้อนแรงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต่างเบนหน้าหันหนีอดีตนายกฯ คนเก่า ที่มีเงาของคนซีกรัฐบาลยืนอยู่ที่มุมฉากหลัง คือ จุดเปลี่ยนสำคัญต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้
โดยเฉพาะตัวแปรที่น่าสนใจ คือ ประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอห่างไกลย่านชายขอบสุดเขตของจังหวัด อย่าง อ.สนามชัยเขต และ อ.ท่าตะเกียบ นั้น ที่มวลชนส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานพลัดถิ่น ซึ่งมีรากเหง้าดั้งเดิมจากการย้ายถิ่นฐานมาจากกลุ่มคนทางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล้วนแต่มีความนิยมชมชอบต่อแนวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อสีทางซีกของฝ่ายค้านในปัจจุบัน
แม้จะเป็นเพียงคะแนนเสียงตัวแปรในช่วงปลาย แต่ก็อาจพลิกผันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในการเมืองระดับจังหวัดให้เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก หากผลคะแนนเสียงของคนชิดขอบชานเมืองออกมาทัดเทียมเท่าหรือสูสีกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: