ฉะเชิงเทรา – พลิกบ่อลูกรังร้าง มาสร้างเป็นแหล่งเก็บน้ำชลประทานระบบท่อ แนวคิดใหม่ของ CEO หนุ่มวัย 33 ปี เสริมสร้างศักยภาพความแข็งแกร่งให้กลุ่มอุตสาหกรรมตะวันออก ตอบโจทย์ช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษให้ก้าวเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด ท่ามกลางวิกฤตจากสถานการณ์โควิด 19 ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก
“ธนวัฒน์ สันตินรนนท์” หรือ “ตั้ม” ผู้บริหารหนุ่มวัย 33 ปี นักธุรกิจเชื้อสายอุตรดิตถ์ ที่ได้เติบโตมากับแวดวงของอุตสาหกรรมด้านการบริหารจัดการน้ำ ในฐานะประธานกรรมการบริษัทอินดัสเตรียลวอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จํากัด หรือ IWRM ผู้พลิกฟื้นบ่อลูกรังอันไร้ค่าเมื่อครั้งอดีต มาช่วยเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาประเทศให้มีแหล่งน้ำต้นทุนสำรองรับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืนเพียงพอ
ข่าวน่าสนใจ:
- ฝนกระหน่ำพัทยาท่วมรับเทศกาลลอยกระทง ทำจราจรติดยาวหลาย กม.แบริเออร์ลอยน้ำเกลื่อน เก๋งจมน้ำ
- คอหวยแห้ว เลขหางประทัดขบวนเรือหลวงพ่อโสธรไม่ปรากฏให้เสี่ยงทาย
- มรภ.ราชนครินทร์ ผุดหลักสูตรคลายเหงาผู้สูงวัย รองรับสังคมไทยในอนาคต
- กองถ่ายหนังอเมริกันชื่นชอบนโยบายไทย นายกฯ แพทองธาร ประกาศแคมเปญแคชรีเบต 30% หลังหารือ 7 บิ๊กผู้ผลิตภาพยนตร์…
ถอดบทเรียนจากภาวะวิกฤตภัยแล้งเมื่อช่วงปลายปี 2562 จนถึงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ทำให้ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง จนบางแห่งแทบต้องปิดตัวลงเพราะขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้ แต่ IWRM ซึ่งเป็นผู้จัดทำโครงการชลประทานระบบท่อ ได้เข้ามาช่วยเสริมต่อลมหายใจด้านทรัพยากรน้ำให้แก่ภาคธุรกิจได้เดินหน้าต่อไป และตอบโจทย์ให้แก่รัฐบาลที่ได้พยายามผลักดันโครงการขนาดใหญ่ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโครงการพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้ขยับเดินต่อไปได้
“ต้น” ระบุว่า เขาได้เข้ามารับช่วงงานเพื่อสานต่อธุรกิจจาก “วีรชัย สันตินรนนท์” วัย 67 ปี ผู้เป็นบิดา ที่ได้ยุติบทบาทลงไปเมื่อกว่า 6 ปีก่อน โดยรากฐานดั้งเดิมของบริษัท ได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและบริหารการจัดหาน้ำให้แก่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ จากประสบการณ์ของบริษัทที่เคยมีมานานถึงเกือบ 20 ปีเต็ม นับแต่รุ่นคุณพ่อที่ได้เริ่มก่อตั้งมาเมื่อปี 2544 ในการผลิตน้ำดิบส่งให้แก่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี
ในขณะนั้นนิคมอุตสาหกรรมแห่งดังกล่าวยังไม่เติบโตมากนัก จึงเป็นเพียงผู้รับจ้างจัดหาแหล่งน้ำ หรือทำโครงการประปาขนาดเล็กส่งเข้าไปเสริมให้แก่นิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น ก่อนที่จะมีการจัดหาซื้อบ่อลูกรังเก่าเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน ในราคาที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งในอดีตนั้นบ่อลูกรังแทบไม่มีมูลค่าอะไรเลย เนื่องจากบางแห่งมีความลึกถึง 30 และ 50 เมตร จากการถูกตักดินไปถมหนองงูเห่า เพื่อก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิในเวลานั้น
เมื่อนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำรองให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และส่งเป็นต้นทุนน้ำดิบให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และเป็นการช่วยทำรายได้เข้ามาสู่ประเทศจากการลงทุนของกลุ่มทุนใหม่ กลายเป็นระบบเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของไทย ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโรคโควิด 19 ที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วโลก
การบริหารจัดการน้ำด้วยชลประทานระบบท่อ ที่วางโครงข่ายเชื่อมโยงกันจากบ่อลูกรังเก่าในแต่ละแห่งให้สามารถผันน้ำจากบ่อแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งได้ จึงทำให้ปัจจุบันบริษัทมีศักยภาพในการที่จะกักเก็บน้ำไว้ได้มากถึงกว่าปีละ 25 ล้าน ลบม. บนเนื้อที่บ่อลูกรังเก่ากว่า 2 พันไร่จำนวน 22 บ่อ โดยโครงการนี้ได้รับความสนใจจากภาคอุตสาหกรรม หรือกลุ่มของผู้จัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรม
ที่กำลังมองหาความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตที่กำลังจะเกิดขึ้น IWRM จึงเป็นตัวเลือกสำคัญที่มีศักยภาพ ที่สามารถรองรับการขยายตัวและการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยเอกลักษณ์แบบพิเศษเฉพาะตัวของแหล่งเก็บน้ำในบ่อลูกรังเก่าแต่ละแห่งนั้น มีทำเลที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายกันไปทั่วพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นทางน้ำสำคัญของภาคตะวันออก
ทั้งในเขต อ.พานทอง อ.พนัสนิคม อ.บ้านบึง อ.เมืองชลบุรี และ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ถูกน้ำท่วมในฤดูฝน แต่บ่อแต่ละแห่งนั้นมีทางน้ำไม่เท่ากันและมีปริมาณน้ำฝนที่ไม่สม่ำเสมอเหมือนกันในทุกๆ ปี เราจึงได้ทำโครงการชลประทานระบบท่อ เพื่อผันน้ำจากบ่อแห่งหนึ่งที่มีทางน้ำดีกว่าไปกักเก็บไว้ยังบ่ออีกแห่งหนึ่งที่อาจมีทางน้ำน้อยกว่าในช่วงฤดูฝน
จึงทำให้เรามีน้ำเก็บไว้ได้จนเต็มความต้องการในทุกบ่อ และเกิดเป็นความเข้มแข็งมั่นคงในการที่มีน้ำทุนสำรองที่เพียงพอ และผันออกไปสนับสนุนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้อย่างไม่ขาดแคลน และทำให้เรามีปริมาณน้ำต้นทุนมากถึง 25 ล้าน ลบม. และยังได้รับสัมปทานน้ำจากกรมชลประทาน ที่ได้สนับสนุนน้ำดิบมาจากอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ในช่วงฤดูฝนเข้าเสริมอีก 7.3 ล้าน ลบม.ต่อปี
ทำให้ปัจจุบันเรามีปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บไว้ได้มากถึง 32 ล้าน ลบม.ต่อปี เพื่อรองรับการขยายตัวให้แก่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ทั้ง 4 แห่งใน จ.ฉะเชิงเทรา คือ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ซึ่งเคยประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในปี 2563 ที่ผ่านมาอย่างหนัก และต้องการใช้น้ำประมาณ 3 หมื่น ลบม.ต่อวัน นิคมฯ ทีเอฟดี ต้องการใช้น้ำ 2 หมื่น ลบม.ต่อวัน นิคมฯ บลูเทคซิตี้ และ บีพี (บ้านโพธิ์)
ซึ่งเป็นกลุ่มโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต มีความต้องการใช้น้ำอีกแห่งละประมาณ 2 หมื่น ลบม.ต่อวัน รวมทั้ง 4 แห่งจะมีความต้องการน้ำประมาณ 1 แสน ลบม.ต่อวัน หรือ 36 ล้าน ลบม.ต่อปี โครงการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบชลประทานทางท่อได้ช่วยตอบโจทย์ให้แก่รัฐบาล ที่สำคัญสามารถช่วยให้รัฐบาลขับเคลื่อนโครงการพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้
จึงได้รับความสนใจ และได้รับการสนับสนุนทั้งจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โครงการอีอีซี รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้มาร่วมแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยานในการเปิดตัวสถานีเพิ่มแรงดันน้ำบางปะกงที่ ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.63 ที่ผ่านมาอย่างเป็นทางการ
สำหรับแรงบันดาลใจในการดำเนินโครงการชลประทานระบบท่อนั้น ได้น้อมนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบ แก้มลิง ตามปราชญ์พระราชาในรัฐกาลที่ 9 มาใช้ จึงทำให้เรานั้นถือว่าเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศ และมี พลเรือเอกพิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มาเป็นประธานในพิธีเปิด
มีนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ได้เดินทางมาร่วมเป็นเกียรติในวันเปิดตัวดังกล่าว
ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลักษณะนี้ คือ ปัญหาเรื่องของดินเค็ม ดินมีแร่ธาตุโลหะหนัก (แมงกานีส) ปนเปื้อนสูง จึงทำให้ไม่สามารถที่จะนำบ่อลูกรังที่รับซื้อไว้ทั้งหมดเกือบ 40 บ่อมาพัฒนาให้เป็นบ่อเก็บน้ำสำรองได้ทั้งหมด เช่น บ่อลูกรังแถบย่านถนนเลียบมอเตอร์เวย์ และบ่อในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่จะมีความเค็มสูง เมื่อนำน้ำจืดเข้ามากักเก็บไว้ก็จะกลายเป็นน้ำเค็มไปในที่สุด
โดยบ่อลูกรังที่สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นแหล่งเก็บน้ำได้ดีนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ จ.ชลบุรี เช่น อ.พานทอง อ.พนัสนิคม อ.บ้านบึง อ.เมืองชลบุรี และ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โดยเรายังต้องมีการพัฒนาต่อไป เพื่อที่จะจัดหาแหล่งเก็บน้ำเพิ่มเติมให้มากขึ้น เพื่อให้ทันต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ที่ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นในระยะ 3 ปีข้างหน้าจากกลุ่มทุนใหม่
โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ที่กำลังเกิดใหม่ใน อ.บางปะกง กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า BP ใน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีการลงทุนค่อนข้างสูง และคาดว่าจะมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาก่อตั้งอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว จึงทำให้เราต้องพยายามเร่งจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากขึ้นด้วย แม้ปัจจุบันเราจะสำรองน้ำไว้ได้มากถึงกว่า 2 เท่าตัวของความต้องการในภาคอุตสาหกรรมแล้วก็ตาม ซีอีโอหนุ่ม กล่าว
และยังบอกกับเราอีกว่า การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกยังต้องเดินหน้า จึงทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำมีความสำคัญ ที่ต้องทำแบบควบคู่กันไปเพื่อให้ทันต่อความต้องการและเพียงพอต่อการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น “ประเทศไทยเรามีน้ำมาก แต่ที่ผ่านมาไม่มีคนเก็บ เมื่อฝนตกลงมาจึงไหลท่วม แต่พอแล้งน้ำที่ไม่ได้เก็บจึงแห้งหายไป และกลายมาเป็นปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นซ้ำซาก”
เราจึงมาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในส่วนที่ขาดหายไป มาช่วยสร้างปัจจัยสนับสนุนต่อโครงการสำคัญของรัฐบาลให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะเราเป็นองค์กรขนาดเล็กที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าหน่วยงานของรัฐ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น จึงช่วยตอบโจทย์ให้แก่รัฐบาล ในการที่จะพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก ให้ขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด ซีอีโอหนุ่ม เล่าบอกถึงความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: