ฉะเชิงเทรา – แฉกันทั้งหมู่บ้าน พบพิรุธโรงงานหลอมขยะอิเล็กทรอนิกส์ แอบสอดไส้รายชื่อชาวบ้านเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ขณะหน่วยงานรัฐในพื้นที่ปฏิเสธไม่มีอำนาจช่วยชาวบ้านแก้ปัญหาใดๆ จากความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้น รับทำได้แค่รับเรื่องไปนำเสนอให้หน่วยงานส่วนกลางพิจารณาเท่านั้น
วันที่ 15 ก.พ.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีชาวบ้านแหลมเขาจันทร์ พื้นที่ ม.3 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการตั้งป้ายคัดค้านการก่อตั้งโรงงานหลอมขยะอิเล็กทรอนิกส์กลางหมู่บ้านในพื้นที่แหล่งต้นน้ำแควระบมและคลองท่าลาด ลำน้ำสาขาใหญ่ของลุ่มแม่น้ำบางปะกง เมื่อช่วงสายที่ผ่านมาของวันนี้
ทำให้มีหลายหน่วยงานประกอบด้วย นายมหัตม์ มงคล ป้องกันจังหวัด นายวราห์ เขินปฏิยุทธ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.ฉะเชิงเทรา นายอภิรักษ์ อ่ำสุริยะ หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา นายนชรพงศ์ บุญทา วิศวกรปฏิบัติงาน สนง.อุตสาหกรรมจังหวัด นายพีระพล ต่วนภูษา หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อม สสจ.ฉะเชิงเทรา น.ส.ดุษฎี คชสิงห์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ฉะเชิงเทรา
นางสุวรรณา คำแก้ว รองปลัด อบต.เขาหินซ้อน และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เขาหินซ้อน ได้ร่วมกันเดินทางลงไปยังในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาข้อสงสัยและตอบข้อซักถามจากชาวบ้าน โดยที่มีนายนชรพงศ์ บุญทา วิศวกรปฏิบัติงาน และนายอภิรักษ์ อ่ำสุริยะ หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สนง.อุตสาหกรรมจังหวัด ได้กล่าวยอมรับต่อชาวบ้านและคณะเจ้าหน้าที่ที่เดินทางลงพื้นที่ว่า
ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ ไม่มีอำนาจในการสั่งระงับใบอนุญาตการก่อตั้งโรงงาน หรือทำการตรวจสอบถึงกระบานการได้มาของใบอนุญาตในการก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์แห่งดังกล่าวนี้ได้ เนื่องจากเป็นคำสั่งทางการปกครอง และทำได้เพียงนำเรื่องไปเสนอ เกี่ยวกับการออกมาคัดค้านของชาวบ้าน ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ได้พิจารณาทบทวน หรือตรวจสอบข้อสงสัยได้เท่านั้น
ทั้งยังอ้างด้วยว่า การขอใบอนุญาตก่อตั้งโรงงานแห่งดังกล่าวนี้ ได้ดำเนินการอยู่ในระหว่างที่รัฐบาลใช้อำนาจของกฎหมาย ตามมาตรตรา 44 ที่การขอใบอนุญาตก่อตั้งโรงงานนั้น ไม่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของฝังเมืองรวมจังหวัด เกี่ยวกับเรื่องของระยะห่างระหว่างแหล่งน้ำลำคลองสาธารณะ แม้จะมีกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ออกมาบังคับใช้ในภายหลัง ให้เว้นระยะห่าง 200 เมตรแล้วก็ตาม
จากคำชี้แจงดังกล่าวได้ทำให้ชาวบ้านต่างผิดหวังเกี่ยวกับช่องโหว่ของกฎหมายที่เอื้อต่อนายทุน ในการที่จะเข้ามาก่อตั้งโรงงาน ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษขึ้นในพื้นที่ ทั้งที่มีชาวบ้านหลายรายต่างยืนยันว่าไม่ได้ไปมีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือร่วมการทำประชาพิจารณ์ เห็นชอบให้มีการก่อตั้งโรงงานหลอมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่มาก่อนก็ตาม
โดยที่ นางอำพาพันธ์ โฉมเฉิด อายุ 53 ปี ชาวบ้าน ม.3 ต.เขาหินซ้อน ซึ่งมีพื้นที่ทำกินติดกันกับพื้นที่ก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจะมีโรงงานลักษณะนี้เข้ามาก่อตั้งในพื้นที่ เพียงแต่แปลกใจที่เห็นเขาเข้ามาปรับพื้นที่ให้โล่งเตียน จากเดิมที่เคยเป็นป่าไร่มันสำปะหลัง และถมพื้นที่ให้สูงขึ้นเป็นแปลงพื้นที่ดินกว้างใหญ่ไม่น้อยกว่า 60 ไร่ จึงเชื่อว่าพื้นที่ทำกินของตนจะได้รับผลกระทบด้านมลพิษจากโรงงานหลอมขยะแห่งนี้ นางอำพาพันธ์ กล่าว
ขณะที่ นางสมนึก สุริวงศ์ อายุ 49 ปี ชาวบ้าน ม.3 ต.เขาหินซ้อน กล่าวว่า หากโรงงานแห่งนี้เกิดขึ้นจริง ชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยหาปลาและจับสัตว์น้ำในลำคลองระบมกิน จะต้องได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิต ที่อาจจะมีสัตว์น้ำเหลือน้อย จากน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมา จนทำให้เกิดมลพิษหรือน้ำเสียขึ้นในลำน้ำ และชาวบ้านไม่อาจหากินหรือจับสัตว์น้ำในลำคลองระบมได้อีก นางสมนึก กล่าว
ด้านนายสงคราม ทองแก้ว อายุ 45 ปี อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.3 ต.เขาหินซ้อน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เคยนำรายชื่อชาวบ้านจำนวนกว่า 300 คน เดินทางเข้าไปยื่นหนังสือคัดค้าน ยังที่สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา มานานถึงเกือบ 1 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า โดยทางสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา ได้บอกกับชาวบ้านว่า
“เขาได้รับใบอนุญาตในการก่อตั้งโรงงานมาตามขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ที่มีการพิจารณาตามเอกสารที่มีการยื่นขอตามขั้นตอนมานานถึงกว่า 2 ปี ทั้งที่ชาวบ้านยังไม่มีใครรู้เรื่องมาก่อนเลย จึงอยากขอให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาชี้แจงและดูแลชาวบ้านว่า โรงงานแห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร และหากโรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชาวบ้านบ้าง นายสงคราม กล่าว
ส่วนนางนวลจันทร์ แซ่ตั้ง อายุ 58 ปี ชาวบ้าน ม.3 ต.เขาหินซ้อน กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเองไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน และไม่เคยไปเซ็นชื่อหรือเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นใดๆ มาก่อนเลย และเชื่อว่าโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์แห่งนี้ ได้รับใบอนุญาตมาอย่างไม่ถูกต้อง และเชื่อว่าจะต้องส่งผลกระทบต่ออาชีพของตนที่เพาะเห็ดฟางขาย เนื่องจากมีพื้นที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก นางนวลจันทร์ ระบุ
ขณะที่ พระปลัดอาทร ปัญญาปทีโป อายุ 35 พรรษา 11 เจ้าอาวาสวัดท่าไม้แดง (แหลมเขาจันทร์) ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.3 ต.เขาหินซ้อน กล่าวว่า จากเอกสารที่ได้รับมาจากทางโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังจะเข้ามาก่อตั้งนั้น พบว่ามีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น มีลายมือชื่อของชาวบ้านที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ร่วมเซ็นชื่อในเอกสารด้วย ทั้งที่ปกติแล้วจะใช้เพียงการแปะพิมพ์ลายนิ้วมือแทนการเซ็นชื่อเท่านั้น
ขณะเดียวกันชาวบ้านยังมีข้อสงสัยอีกด้วยว่า ได้มีการนำรายชื่อของชาวบ้านที่ไปเข้าร่วมในการประชุมในวาระอื่นๆ หรือมีการลงชื่อในเวทีรับฟังความคิดเห็นของอีกโรงงาน ซึ่งเป็นคนละแห่งกัน มาสวมเข้าเป็นการมาร่วมรับฟังความคิดเห็น ให้กับเวทีของโรงงานแห่งนี้ ทั้งที่ยังไม่เคยมีการจัดขึ้นเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ขึ้นมาจริงๆ จึงต้องการให้เกิดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย พระปลัดอาทร ระบุ
ด้าน นางศลินญา รุ่งเรือง อายุ 39 ปี ชาวบ้าน ม.6 ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้านฝั่งตรงข้ามกับโครงการก่อตั้งโรงงานดังกล่าวแห่งนี้ กล่าวว่า ปกติตนมีอาชีพทำนาจำนวน 60 – 80 ไร่ โดยทำนาปีละ 2 ครั้ง อยู่ทางด้านฝั่งหมู่บ้านยางแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกัน แต่อยู่คนละฝากของลำคลอง จึงเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากมลภาวะ ด้านอากาศและสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ตามมาในภายหลัง
หากโรงงานแห่งนี้เกิดขึ้นได้จริง และอาจส่งผลต่อด้านการประกอบอาชีพ เกี่ยวกับผลผลิตที่อาจจะลดลง ทั้งการปลูกข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา ในวันนี้จึงได้ออกมาร่วมกันคัดค้านการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย โดยนำเอากระสอบปุ๋ยมาเขียนข้อความ เพื่อต่อต้านการก่อตั้งโรงงานแห่งนี้ นางศลินญา กล่าว
–ชาวแหลมเขาจันทร์ รวมตัวตั้งป้ายต้าน รง.รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์
–ชาวเขาหินซ้อน เดินสายยื่นร้องค้านก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์
–น้ำไหลบ่า ปริ่มล้นลำรางกลางฤดูแล้ง ชาวบ้านตามหาต้นตอพบปลายท่อออกจากโรงงาน
–“ชาวแหลมเขาจันทร์” รวมตัวตั้งป้ายต้าน โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: