ฉะเชิงเทรา – ก้าวสำคัญ ยานยนต์ไฟฟ้าขยับตัวครั้งใหญ่ เปิดสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมในประเทศไทยแล้ว เผยใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเป็นแห่งแรกของประเทศไทยขนาด 1 กิกะวัตต์ พร้อมด้วยโครงสร้างรากฐานที่วางรองรับอนาคตต่อการขยายตัวได้มากถึง 4 กิกะวัตต์ในอีก 2 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นการผลิตแหล่งกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ชาร์จไฟได้รวดเร็วป้อนเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เป็นหลักสำคัญลำดับแรก
วันที่ 12 ธ.ค.64 เวลา 09.05 น. ที่บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือของกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) “EA” ตั้งอยู่ด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร
ข่าวน่าสนใจ:
ด้วยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากประเทศไต้หวัน และถือเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีพลังงาน รองศาสตราจารย์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีกว่า 400 คน
โดยระหว่างในพิธีเปิด นายสุริยะ กล่าวว่า การเปิดตัวโรงงานและสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแห่งแรกในประเทศแห่งนี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญ ที่จะช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากแบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า ในการเดินหน้าประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้คาร์บอน
ขณะที่นายชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวระหว่างรายงานความเป็นมา และวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งโรงงานแห่งนี้ว่า โรงงานแห่งนี้ได้มุ่งเน้นการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพื่อใช้กักเก็บพลังงานในยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตและจ่ายไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมของกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์
เพื่อช่วยให้การผลิตและจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความสามารถในการผลิตและจ่ายอย่างมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ในปี 2560 ทางกลุ่มอีเอ ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทอมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีการวิจัยพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในใต้หวันมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี จึงได้ขยายการผลิตจากโรงงานเดิมในใต้หวัน เพื่อนำมาต่อยอดสร้างโรงงานผลิตในประเทศไทยให้มีกำลังการผลิตที่ใหญ่มากขึ้นในระดับเวิลด์สเกล
โดยนำประสบการณ์และความร่วมมือระหว่างวิศวกรไต้หวันและวิศวกรไทย มาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบถุงอย่างครบวงจร ภายใต้ชื่อบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในพื้นที่การพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และยังสามารถขยายการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นขนาด 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีต่อไปได้ในทันที บนพื้นที่โรงงาน 8 หมื่น ตรม. ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยเพื่อให้การผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
อีกทั้งตัวอาคารโรงงานนั้นยังสามารถที่จะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาในอนาคตอย่างต่อเนื่อง บนเนื้อที่โดยรวมทั้งโรงงานกว่า 90 ไร่ พร้อมที่จะรองรับการขยายการลงทุน การผลิตแบตเตอรี่ได้มากถึง 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และพร้อมที่จะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรม 4.0 นิวเอสเคิร์ฟได้อย่างสมบูรณ์ในที่สุด
โดยกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ยังได้ร่วมมือกับ บ.อมิตา ไต้หวัน และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของรัฐบาลไต้หวัน หรือ IGRI ดำเนินการพัฒนาแบตเตอรี่แบบโซลิตสเตท (แบตเตอรี่แบบแข็ง) ในรูปเน็ตเวิร์คอามายอีพ็อกซี่โพลิเมอร์อิเล็กโตไลต์ NAEPE ซึ่งได้รับรางวัล R@D 100 Awards ประจำปี 2563 ถือเป็นรางวัลในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลก
โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อนำมาทดสอบการใช้งาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตแบตเตอรี่แบบโซลิตสเตทออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในอีกไม่นาน ปัจจุบันบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรและทดสอบการเดินเครื่องจนสามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิดถุงได้สำเร็จ และมีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย
เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าต่อไป นับเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นนิวเอสเคิร์ฟตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ในพื้นที่การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มุ่งเป้าหมายในการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย และสนับสนุนความมั่นคงยั่งยืนด้านพลังงาน
โดยเฉพาะการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดมลภาวะ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาวะภูมิอากาศโลก เป็นการช่วยให้ประเทศไทยบรรลุถึงเป้าหมายในการลดมลภาวะต่อไป นายชาญยุทธ กล่าว
ขณะที่นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์จำกัด (มหาชน) “EA” กล่าวว่า หลังโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งนี้เกิดขึ้น เชื่อว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่ยอมรับได้เร็วขึ้น เมื่อเรามีแบตเตอรี่ที่ “อมิตาไทย” เราทำนั้นสามารถชาร์จประจุไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่และจะทำให้รถยนต์เชิงพาณิชย์เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าได้เร็วมากขึ้น
เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันค่อนข้างสูงจึงเป็นตัวเร่งให้รถยนต์เชิงพาณิชย์มีความสนใจที่จะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งในมุมของแบตเตอรี่ที่มีการชาร์จไฟเร็วและมีอายุของการใช้งานได้ยาวนานนั้น จึงถือว่าเราเป็นหนึ่งในผู้นำในตลาด แต่หากจะพูดถึงความจุก็อาจจะไม่ได้อยู่ในระดับชั้นนำ ซึ่งถือเป็นข้อดีข้อเสียที่เรียกได้ว่า “ได้อย่างเสียอย่าง” แต่เราต้องใช้จุดเด่นให้เป็นประโยชน์มากกว่า จึงเชื่อว่าถ้าในมุมของรถยนต์เชิงพาณิชย์นั้นเราถือว่าเราเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านนี้
เมื่อถามว่าขณะนี้มีลูกค้าสนใจที่จะซื้อแบตเตอรี่แล้วหรือยัง นายสมโภชน์ ตอบว่า ยุทธศาสตร์ในการผลิตของโรงงานแห่งนี้ เราพยายามที่จะทำให้ครบซัพพลายเชนโดยการสร้างรถของเราเองก่อน จากนั้นจึงเอารถที่ผลิตได้ไปขายให้แก่ลูกค้า โดยขณะนี้ได้มีลูกค้าเข้ามาพูดคุยกับเราบ้างแล้ว ส่วนในเรื่องของแบตเตอรี่ขณะนี้อาจจะยังไม่มี เนื่องจากขณะนี้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศยังไม่เติบโตมากนัก
โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์นั้นยังไม่มีรายใดทำการผลิต แต่เชื่อว่าเมื่อเราเริ่มต้นแล้ว จะไปช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการายอื่นๆ สนใจที่จะมาผลิตรถยนต์ประเภทเดียวกันมากขึ้น เมื่อถึงจุดนั้นเราก็ยินดีที่จะซัพพลายตัวแบตเตอรี่ให้กับผู้ผลิตรายอื่น ส่วนการที่โรงงานผลิตรถยนต์ในเครือ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันนี้ที่กำลังจะเปิดตัวใหม่ในอีก 1 เดือนข้างหน้า เลือกที่จะผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์นั้น
เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่ใช้งานมาก เช่น รถบัส รถบรรทุก จึงเหมาะที่จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด เพราะจะช่วยประหยัดค่าพลังงานได้มากที่สุด และถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล โดยเป็นตรรกะในการตัดสินใจที่คนขับไม่ใช่เจ้าของรถ และเจ้าของรถส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นคนขับ จึงเป็นส่วนสำคัญในการที่จะตัดสินใจเปลี่ยนรถ ที่จะมองไปในเรื่องของความคุ้มค่ามากกว่า
ซึ่งตรงกันข้ามกับรถยนต์ส่วนบุคคล ที่มุ่งเน้นไปในเรื่องของความสวยงาม สมรรถนะความรู้สึกของคนซื้อ ซึ่งแต่ละบุคคลนั้นยังมีวัตถุประสงค์และความชื่นชอบที่แตกต่างกันกับรถยนต์ในเชิงพาณิชย์ สำหรับรถที่จะผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาด คือ รถเทรลเลอร์หัวลาก รถ 6 ล้อรถ10 ล้อ รถบัสและรถบรรทุก 4 ล้อ นายสมโภชน์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: