ฉะเชิงเทรา – เตรียมปัดฝุ่นเขื่อนทดน้ำบางปะกง หลัง “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ ลงพื้นที่แปดริ้ว หนุนการพัฒนาจัดหาแหล่งน้ำภาคตะวันออก รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและแหล่งผลิตสินค้าเกษตรขึ้นชื่อ ขณะกองเชียร์คนรักลุงป้อมออกหน้าชูป้ายคอยต้อนรับ
วันที่ 17 มี.ค.65 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทรา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เดินทางลงพื้นที่มายังที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมีนายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวต้อนรับและนำเสนอภาพรวมปัญหาในพื้นที่
ข่าวน่าสนใจ:
พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออก และกรมชลประทานนำเสนอการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และแนวทางการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ. ) นำเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
ก่อนที่จะเดินทางไปยังที่อาคารโดมภายในวัดสมานรัตนาราม ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสถานที่จัดการรับรองต้อนรับ เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง ซี่งตั้งอยู่ใกล้กัน โดยพลเอก ประวิตร ได้ให้นโยบายในการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกว่า ภาคตะวันออกถือเป็นพื้นที่สำคัญด้านเศรษฐกิจ และยังเป็นเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ดีอีกด้านหนึ่งด้วย
จึงส่งผลทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมามักประสบภาวะฝนทิ้งช่วงและแหล่งกักเก็บน้ำไม่เพียงพอ ในการลงพื้นที่วันนี้เป็นการมาติดตามในภาพรวม เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งของพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งพบว่าปริมาณน้ำในฤดูแล้งปีนี้ไม่น่าห่วง เนื่องจากปีนี้มีฝนมากกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา จึงทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้ในพื้นที่รวมกันมากถึง 1,618 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของลุ่มน้ำ ขณะที่ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 6 แห่ง มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้ 701 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณร้อยละ 47
สำหรับปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำในด้านต่างๆ นั้น โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รัฐบาลได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขให้เป็นระบบในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในทุกปี จึงได้มอบหมายให้ สทนช. บูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยาว
โดยให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงให้เต็มประสิทธิภาพ โดยใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ และมอบหมายให้ กปภ. วางแผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ล่วงหน้าและเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง โดยให้ทาง จ.ฉะเชิงเทรา เร่งพิจารณาเสนอแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำบางปะกงมีปริมาณน้ำในพื้นที่ 699 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 จากแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ เขื่อนขุนด่านปราการชลอ่างเก็บน้ำคลองสียัด และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา มีปริมาณน้ำใช้รวมกัน 313 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่แหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีปริมาณน้ำใช้รวม 128 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าในปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 30
ขณะที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ได้กล่าวถึงแผนงานในการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงว่า สทนช. ได้วิเคราะห์กลั่นกรองเตรียมแผนโครงการที่สำคัญไว้ ที่สามารถดำเนินการได้ในปี 2566 -2567 รวม 27 โครงการ หากหน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินการได้ตามแผน จะช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บได้ 792 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่รับประโยชน์ 1,522,883 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 371,133 ครัวเรือน
เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพแผนการผลิตน้ำประปา กปภ.สาขาบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองแขนนาง จ.ปราจีนบุรี จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 4.12 ล้าน ลบ.ม. โครงการระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา จะได้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้าน ลบ.ม. ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน อ.เมืองปราจีนบุรี จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,231 ไร่ การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนท่าช้าง จ.นครนายก พื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,713 ไร่ นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 15 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้น มีกลุ่มโครงการที่ต้องขับเคลื่อนรวม 17 โครงการ และจะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นรวม 556.80 ล้าน ลบ.ม. เช่น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี โครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี และการปรับปรุงขยาย กปภ. พัทยา แหลมฉบัง ศรีราชา จ.ชลบุรี การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา
การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา และการก่อสร้างระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชโลธร จ.ชลบุรี ดร.สุรสีห์ กล่าวถึงแนวทางโครงการพัฒนาจัดหาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง หรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนบางปะกงในปัจจุบันนั้น ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2539 และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 โดยได้รับการสนับสนุนจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) ในการศึกษาและกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ตั้งแต่เมื่อปี 2533 แต่หลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้ทำการเปิดทดลองใช้ กลับพบว่าได้เกิดปัญหาและผลกระทบจากการปิดกั้นกลางลำน้ำบางปะกงตามมาอย่างมากมาย
โดยเมื่อทำการทดลองใช้ปรากฎว่าน้ำทางตอนบนด้านหลังบานประตูเขื่อนได้เกิดภาวะเน่าเสีย ส่วนน้ำท้ายเขื่อนทางตอนล่างเมื่อถูกปิดกั้น ทำให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อล้นออกนอกลำน้ำจากน้ำทะเลหนุนในขณะน้ำขึ้น และในขณะที่น้ำลงตามระดับน้ำทะเล ได้เกิดปรากฏการณ์ตลิ่งทรุดตัวและพังทลายลงเป็นแนวยาวตลอดลำน้ำทางตอนล่าง ส่งผลทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยริมฝั่งลำน้ำได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
ทางกรมชลประทาน จึงได้ยุติการปิดกั้นลำน้ำ และไม่มีการใช้ประโยชน์เขื่อนทดน้ำบางปะกงอย่างเต็มประสิทธิภาพมาอย่างยาวนานถึงกว่า 23 ปีเต็มแล้ว โดยทางกรมชลประทานได้มีการใช้ประโยชน์เพียงครั้งคราว ในการลดบานประตูเพื่อสกัดกั้นผักตบชวาและวัชพืชที่ไหลมาตามลำน้ำ และชะลอการไหลขึ้นของน้ำเค็มได้เพียงชั่วขณะเท่านั้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: