ฉะเชิงเทรา – ใบไม้ร่วง มุมชวนมองจากความดิบใหม่ที่ธรรมชาติคืนให้ จนกลายเป็นความไฉไลสะดุดสายตาของนักแสวงหามุมที่แตกต่างบนโลกอันวิจิตร ในผืนป่าชายเลนธรรมชาติบนเกาะนกรกร้างกลางน้ำที่บางปะกง หลังถูกเหล่ามนุษย์ทิ้งห่างหายมาเนิ่นนานถึงเกือบ 3 ปี จากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ระบาด จนกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนสุดน่าทึ่ง จากความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงให้เหล่าบรรดาผู้คนได้ชื่นชม และถ่ายภาพกลับไปอวดสายตาเพื่อนพ้องพร้อมโพสต์กันไปในโลกโซเชียล อย่างน่าอิจฉา
วันที่ 4 มิ.ย.65 เวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณบนเกาะนกกลางปากแม่น้ำบางปะกง พื้นที่ ม.1 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั่งเรือชมโลมาและเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ภายในป่าโกงกางที่มีสะพานทอดผ่านให้ได้เรียนรู้ศึกษาไปโดยรอบเกาะบนเนื้อที่กว่า 125 ไร่นั้น ได้เริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยนั่งเรือข้ามฟากไปเที่ยวชมความเป็นธรรมชาติบนเกาะบ้างแล้ว หลังจากทาง จ.ฉะเชิงเทรา ได้เริ่มปลดล็อคผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19
ที่เคยมีการระบาดอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนานถึงกว่า 2 ปีเต็มนับจากเมื่อวันที่ 15 มี.ค.63 ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกของ จ.ฉะเชิงเทรา และยังระบาดต่อเนื่องอีกหลายระลอก จนทำให้ธุรกิจทุกภาคส่วนรวมถึงการท่องเที่ยวได้หยุดชะงักลงไปด้วย แต่ล่าสุดทางคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีการเสนอขอเปิด จ.ฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดท่องเที่ยว (Sandbox) ภายใต้มาตรฐานป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในระดับ SHA เป็นอย่างต่ำ นับแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 เป็นต้นไปนั้น
ปรากฏว่า แหล่งท่องเที่ยวที่บริเวณภายในเกาะนกกลางน้ำนั้น ได้ถูกธรรมชาติทวงคืนกลับไปจนกลายเป็นเกาะที่รกร้าง อยู่ภายใต้ซากปรักหักพังของสะพานเดินศึกษาธรรมชาติที่ถูกกระแสลมและคลื่นน้ำซัดจนพังทลายชำรุดเสียหายไปอย่างยับเยินในหลายจุด และไม่สามารถที่จะเดินวนไปโดยรอบเกาะได้อีกต่อไป แต่ในทางกลับกันนั้น ธรรมชาติให้คืนความดิบใหม่ อันเป็นสิ่งที่ชวนให้ผู้คนที่รักธรรมชาติบนความแปลกใหม่ได้รู้สึกตื่นตาตื่นใจไปกับความสวยงามของแนวใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาจากต้น
ที่ปูวางเรียงกับพื้นโรยทอดยาวไปบนแนวสะพานของเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ทำให้มองดูคล้ายดังกับว่า มีใครนำผืนพรมที่ถักทอสานต่อกันด้วยใบไม้มาวางเรียงรายไว้ให้ผู้คนที่เพิ่งได้เข้ามาสัมผัส ได้เดินทอดน่องไปตามเส้นทางบนสะพานที่ยังหลงเหลืออยู่ สลับกับสีของพื้นสะพานที่เคยมีคนมาบรรจงทาวาดลวดลายสลับแถบเหลืองแดง และมีภาพของโลมาสัตว์น้ำประจำถิ่นติดเอาไว้ที่พื้นเป็นสัญลักษณ์
จนทำให้ผู้คนที่ได้ย่างกายเดินเข้ามาสัมผัส ได้รู้สึกหลงไหลไปกับแนวป่าโกงกางที่เติบโตสูงใหญ่ออกรากสาขาโค้งงอสลับกับแนวใบไม้ร่วง ที่ทอดปูไปบนพื้นอย่างยาวไกลจนสุดสายตา โดยบ้างก็ได้พากันเดินทางมาบันทึกถ่ายภาพเซลฟี่ด้วยตนเอง บ้างก็ให้เพื่อนช่วยถ่ายภาพให้ หรือบางรายถึงกับต้องว่าจ้างตากล้องมาไว้ประจำตัวเพื่อคอยเดินติดตามถ่ายภาพมุมสวยงามไว้เป็นที่ระลึกโดยเฉพาะหญิงสาว ไม่เว้นแม้แต่ผู้สูงวัยก็ยังชื่นชอบพากันเช่าเหมารถตู้เดินทางมาเที่ยวชม
โดยมีบางรายถึงกับนอนเกลือกกลิ้งไปบนผืนพรมใบไม้ตามธรรมชาติ เพื่อถ่ายภาพและนำไปโพสต์ลงบนโลกโซเชียล หวังอวดเพื่อนๆ ให้ได้อิจฉา ถือเป็นความคึกคักแปลกใหม่จากสิ่งที่ธรรมชาติส่งกลับคืนมาให้แก่ผู้คน และถือเป็นการต้อนรับ “ฉะเชิงเทราแซนด์บ็อกซ์” ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: