ฉะเชิงเทรา – บุคคลสำคัญของโลก ครบ 200 ปีแห่งชาตกาล “พระยาศรีสุนทรโวหาร ปราชญ์ภาษาไทย” หลังยูเนสโกยกย่องสู่ระดับนานาชาติ ขณะหลานเหลนผู้สืบทอดวอนคนไทยรักชาติรักแผ่นดินคงเอกลักษณ์ อนุรักษ์ภาษา ยึดมั่นแบบธรรมเนียมไทย ที่เป็นจุดเด่นเฉพาะไม่เหมือนใครในโลก หวังปลูกฝังให้ชนรุ่นหลัง ได้ภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของภาษาของตนเองที่มีเพียงไม่กี่ชนชาติในระดับโลก
วันที่ 5 ก.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ปราชญ์ภาษาไทย เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ประจำปีพุทธราช 2565 ในวันที่ 5 ก.ค.65 นี้ และถือเป็นวันครบรอบ 200 ปีแห่งชาตกาล หรือครบรอบวันเกิดเป็นปีที่ 200 ในวันนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- กอ.รมน.ภาค 4 เตรียมยื่นป.ป.ช.เอาผิดเจ้าพนักงานท้องถิ่น ม.157 ปล่อยให้ใช้อาคารที่ก่อสร้างผิดกฏหมาย
- คนเดินทางผ่านแปดริ้วสะดวก หลังสะพานข้ามแยกบางพระสร้างเสร็จไร้ปัญหาช่วงเทศกาล
- รัฐมนตรีคมนาคมห่วงภาพลักษณ์สุวรรณภูมิหลังผู้โดยสารแห่ใช้บริการทะลุวันละสองแสนคนสั่ง ดร. กีรติ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ลุยตรวจกลางดึก
- ทำลายท่อซิ่ง!! รถ จยย.เสียงดังผิดกฎหมาย หลังระดมกวาดล้างจับกุมใช้มาตรการเข้มจับ-ปรับ 2,000 บาท ยึดท่อ ทำเอ็มโอยูผู้ปกครอง
ซึ่งทาง จ.ฉะเชิงเทรา นำโดยนายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง 200 ปีชาตกาลขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 ก.ค.65 ที่บริเวณหอเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณจวนผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา และได้มีพิธีวางพานพุ่มสักการะพระยาศรีสุนทรโวหาร ในช่วงเช้าของวันนี้เมื่อเวลา 08.30 น. ที่อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร บริเวณวงเวียนทางโค้งหน้าวัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
จากนั้นในเวลา 09.29 น.ได้มีพิธีพราหมณ์อ่านโองการบวงสรวงดวงวิญญาณพระยาศรีสุนทรโวหาร และกล่าวบทประพันธ์เชิดชูเกียรติ โดยผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา จากนั้นในเวลา 10.00 น. จึงมีพิธีสงฆ์ โดยพระสงฆ์จำนวน 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์ตามลำดับ โดยภายในงานได้มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติและผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร รวม 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน รวมทั้งการเสวนาทางวิชาการ
โดยนายไมตรี กล่าวถึงประวัติของพระยาศรีสุนทรโวหารว่า ท่านเกิดในวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.2365 ในช่วงรัฐกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ที่บ้านคลองโสธร ต.โสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา และถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2434 รวมสิริอายุ 69 ปี ผลงานที่ผ่านมา เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ เป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนหลวง เป็นครูผู้สอนหนังสือไทย เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรพระบรมวงศานุวงศ์ ในราชวงศ์จักรกรีหลายพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอีกหลายพระองค์ ทั้งยังมีงานนิพนธ์วรรณกรรมทั้งร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ลิขิต ซึ่งเป็นงานล้ำค่าทางภาษาไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะตำราเกี่ยวกับภาษาไทย เช่น แบบเรียนหลวง 6 เล่มได้แก่ มูลบทบรรพกิจ, วาหนิติ์นิกร, อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ เพื่อสนองพระราชดำริการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
รวมทั้งหนังสือแบบเรียนภาษาไทยอีก 12 เล่ม ทั้งยังมีผลงานด้านหนังสือประเภทสุภาษิต วรรณคดี คำฉันท์ ลิลิต บทเสภา หนังสือด้านศาสนา รวมทั้งผลงานเบ็ดเตล็ดรวม 15 เรื่อง โดยเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเนื้อเพลงแรก ซึ่งผลงานต่างๆ ได้เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงอนุชนรุ่นหลัง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนบทเรียนแต่ยังล้วนมีพื้นฐานมาจากหนังสือเรียน 18 เล่มนี้ และท่านยังได้รับยกย่องว่าเป็นศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทยในสมัยนั้น
นอกจากนี้ยังได้รับคำยกย่องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ว่าเป็นจินตกวีขั้นสูง ซึ่งผลงานของท่านได้ปรากฏตามหอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดตามมหาวิทยาลัยสภาบันไอทีในประเทศต่างๆ 10 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สเปน อังกฤษ เยอรมนี แคนนาดา สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร และฟิลิปปินส์ ทั้งในรูปแบบเล่มหนังสือ อีบุ๊ก และไมโครฟอร์ม ท่านจึงเป็นบุคคลสำคัญของชาติไทยคนหนึ่ง เป็นนักปราชญ์ทางภาษาและหนังสือ และเป็นบุคคลสำคัญของโลกในวันนี้
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ หรือชื่อเดิม “น้อย” ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลำดับที่ 1,457 ว่า “อาจารยางกูร” ในปี พ.ศ.2457 จึงมีชื่อว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตามที่มีการใช้เรียกเป็นนามของท่านในปัจจุบัน
สำหรับกิจกรรมระหว่างวันที่ 5-10 ก.ค.65 ระหว่างเวลา 16.00 น.เป็นต้นไปนั้น ได้จัดให้มีการประกวดประกอบอาหารที่อยู่ในบทประพันธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร การประกวดอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้เป็นเมนูอาหารเกิดขึ้นมาใหม่ สูตรใหม่และเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่เกิดขึ้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งอาหารคาว และหวาน
การประกวดร้องเพลงของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป และการแสดงมวยไทย ในวันที่ 8 ก.ค.65 นอกจากนี้ยังจะมีการจำหน่ายสินค้าโอทอปของดีฉะเชิงเทรา และอาหารพื้นถิ่น โดยประชาชนสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวชมในงานได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นายไมตรี กล่าว
ด้าน นายอัมรินทร์ คอมันตร์ อายุ 82 ปี กงสุลกิตติมศักดิ์ สาธารณรัฐเบนินประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นเหลนสายเลือดตรงจากพระยาศรีสุนทรโวหาร กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นทายาทสายตรงนั้น อยากจะขอให้ผู้บริหารประเทศ นักการเมือง และประชาชนคนในชาติ ได้ยึดถือแบบอย่างจากท่าน ที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของเรา
สำหรับงานในรูปแบบเชิงกวีในลำดับลูกหลานถัดมานั้น เท่าที่ทราบมีเพียงไม่กี่คน ส่วนตนนั้นมีทำอยู่บ้าง โดยส่วนใหญ่ที่ตนทำนั้น จะเขียนหรือทำเกี่ยวกับเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เรื่องการทำมาหากิน เรื่องความมั่นคงของประเทศ และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งตนได้ต่อสู้มาโดยตลอดทั้งชีวิต จนทำให้ในวันที่ 7 ก.ค.นี้ ตนเองยังจะได้รับโล่จากทางมูลนิธิ ปปช. ในฐานะที่เป็นผู้ที่ต่อต้านการคอรัปชั่นมาโดยตลอดไม่น้อยกว่า 40 ปี
ด้วยการเขียนบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษออกทางสื่อ เพื่อพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ รวมถึงในด้านการทำกินและด้านแผ่นดิน การรักษาทรัพย์สมบัติของชาติ เช่น รัฐวิสาหกิจต่างๆ ประปา ไฟฟ้า องค์การเภสัชกรรม โดยเป็นหนึ่งในแกนนำที่จะรักษาสมบัติของชาตินี้ไว้ให้แก่ลูกหลานไทยต่อไป และยังจะทำต่อไปเรื่อยๆ
ส่วนการที่ยูเนสโก ได้ประกาศให้ปู่ทวดเป็นบุคคลสำคัญของโลกนั้น มีความรู้สึกยินดีที่ประเทศไทยเรามีผู้ที่ได้รับความชื่นชมจากองค์กรระหว่างประเทศให้เป็นบุคคลชั้นนำที่น่าเชิดชู และเป็นเกียรติต่อประเทศไทยและคนไทยทุกคน โดยอยากฝากถึงคนรุ่นหลังให้ดูแบบอย่างถึงความรักชาติรักแผ่นดินรักสถาบัน และรับใช้สถาบันมาโดยตลอดด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
จึงอยากให้ลูกหลานไทยรวมถึงตนไทยทั้งหลาย ได้ทำในแนวทางเดียวกันกับที่ท่านเคยทำมา เพื่อที่ในวันหนึ่งเราจะได้ภาคภูมิใจว่าประเทศไทยของเรามีความอยู่ดีกินดี ประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติมั่นคง สถาบันมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ และเราต้องรักษาทั้งวัฒนธรรมทั้งประเพณีของไทยไว้ให้ดีด้วย ตลอดรวมไปถึงทางด้านภาษาด้วย เราต้องภูมิใจว่าในอาเซียนรวมถึงในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ชาติที่มีภาษาของตนเอง
สำหรับตนนั้นเวลาที่อยู่ในสถานที่สาธารณะหรือออกสื่อโทรทัศน์ จะไม่มีการใช้ภาษาอังกฤษคำภาษาไทยคำ แต่จะพูดด้วยภาษาไทยทั้งหมด ทั้งที่ตนเองนั้นก็พูดภาษาอังกฤษได้เหมือนกับชาวต่างชาติหรือฝรั่งทั่วไป โดยตนถือว่าเราเป็นคนไทยเราต้องใช้ภาษาไทย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของชนชาติเราเองจึงต้องพยายามรักษาไว้ “โดยเราอย่าไปเป็นโลกสากลให้มากนัก แต่เราต้องเป็นไทยที่อยู่ในสากล และยังคงความเป็นไทยให้ได้” นายอัมรินทร์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: