ฉะเชิงเทรา – รถดั้มสายบุญ ร่วมส่งท้ายกฐินกาล เตรียมก่อคาราวานชวนกันไปถมดินช่วยวัดขาดแคลน เผยเดินหน้าอุปถัมภ์สร้างบุญเกื้อหนุนวัดที่กำลังพัฒนา และประสบอุทกภัยมาเป็นปีที่ 2 แล้ว จากแรงศรัทธาของคนสายอาชีพบรรทุกดิน ระบุปีนี้มีผู้ร่วมพลังบุญมากถึงกว่าหนึ่งร้อยคัน ในสำนักสงฆ์สายปฏิบัติที่ชาวบ้านศรัทธา ก่อนร่วมพลังพัฒนายกระดับให้เป็นวัดอย่างสมบูรณ์ แต่ยังติดขัดปัญหาด้านการควบรวมธรณีสงฆ์
วันที่ 1 พ.ย.65 เวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายศุกติชา ตันเจริญ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 73 ม.7 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา นักธุรกิจเจ้าของบ่อลูกรังในพื้นที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ในวันเสาร์ 5 พ.ย.65 นี้ตนเองพร้อมด้วยเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกดิน ได้เตรียมจัดกองคาราวานกฐินเป็นดินลูกรังต่อเนื่องจากปีที่แล้วอีกครั้งเป็นปีที่ 2 ในการขนดินนำไปช่วยเหลือวัดที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1 แห่ง หลังจากเมื่อปีที่แล้วได้ทำการขนดินไปช่วยเหลือยังที่วัดหินแร่
ใน ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต ที่ถูกน้ำป่าไหลหลากเอ่อล้นจากลำคลองเข้าท่วมบริเวณวัดในทุกๆ ปี จนมีคนอาชีพรถบรรทุกดินเข้าร่วมสายบุญมากถึง 73 คันรถ 6 ล้อ มากกว่าที่คาดหมายไว้จำนวน 55 คันรถ โดยที่ในปีนี้ได้มีกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพรถขนดินได้แจ้งความประสงค์ที่จะเข้ามาร่วมแล้ว มากถึงกว่า 100 คัน ซึ่งมีทั้งรถบรรทุกขนาดหกล้อ สิบล้อ และรถพ่วงขนาดใหญ่ เพื่อนำไปถมแปลงที่ดินสร้างศาสนสถาน (โบสถ์) ให้แก่วัดบึงตาจันทร์ ตั้งอยู่เลขที่ 308 ม.1 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ นายศุกติชา กล่าว
ด้านพระอธิการปราโมทย์ อนาวิโล อายุ 51 ปีพรรษา 32 เจ้าอาวาสวัด กล่าวว่า ทางวัดกำลังต้องการดินลูกรังมาถมที่บริเวณหน้าวัดสร้างโบสถ์เพื่อให้ครบองค์ประกอบเป็นวัด ที่มีศาสนสถานครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป จากเดิมนั้นได้ใช้โบสถ์ชั่วคราวที่ตั้งอยู่ภายในสำนักปฏิบัติธรรมซึ่งอยู่ทางด้านหลังติดกันบนแปลงที่ดินธรณีสงฆ์สังกัดวัดชายเคืองวนาราม ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ห่างไกลออกไปประมาณ 6 กม. ในพื้นที่ ม.7 ต.เกาะขนุน ที่กำลังติดขัดปัญหาด้านกฎหมายจนไม่สามารถควบรวมให้เป็นวัดบนเนื้อที่แปลงเดียวกันได้
โดยเดิมทีนั้นสถานปฏิบัติธรรมบ้านบึงตาจันทร์แห่งนี้ เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2551 เพื่อสอนหลักปฏิบัติ และการฝึกกรรมฐานให้แก่ชาวบ้านผู้สนใจฝักใฝ่ในทางปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนา โดยมีพระมหาสำราญ อัคคจิตฺโต ซึ่งเป็นพระเพื่อนกันกับอาตมานั้น ได้รับบริจาคที่ดินมาจากญาติโยมเพื่อสร้างสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้จำนวน 5 ไร่ แต่ทางพระปกครองชั้นผู้ใหญ่ระดับจังหวัด ได้ให้ทางพี่ชายของพระมหาสำราญ ซึ่งเป็นผู้รับบริจาคไว้ โอนที่ดินให้เข้าไปเป็นธรณีสงฆ์ของวัดใดวัดหนึ่งในพื้นที่
ซึ่งทางพี่ชายของพระมหาสำราญ ไม่ได้ขัดข้องอะไร เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นการโอนฝากที่ดินเอาไว้กับทางวัดอื่นก่อน และหลังจากสถานที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นวัดแล้วเสร็จ จะสามารถนำกลับคืนมาเป็นของวัดบึงตาจันทร์ได้อีกครั้ง จึงได้โอนยกที่ดินให้ไปเป็นที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดชายเคืองวนาราม แต่ต่อมาเมื่อวัดบึงตาจันทร์ได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นวัดแล้ว กลับไม่สามารถนำที่ดินที่โอนฝากไว้กับวัดชายเคืองฯ กลับมาเป็นที่ดินของวัดบึงตาจันทร์ได้
เนื่องจากทางสำนักงานพระพุทธศาสนา ได้ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดินธรณีสงฆ์ จะต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากสภาฯ เท่านั้น และยังมีความยุ่งยากในการดำเนินการ พร้อมกับได้แนะนำให้ซื้อที่ดินแปลงใหม่จะดีกว่า จึงทำให้ต้องซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่อยู่ด้านหน้าวัดเพิ่มเติมอีก 6 ไร่เศษ เพื่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ ซึ่งหากควบรวมกับที่ดินธรณีสงฆ์ที่เคยได้รับบริจาคเดิมได้ ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโบสถ์หลังใหม่ และต้องใช้ทุนทรัพย์เพิ่มอีกจำนวนมาก
สำหรับความเป็นมาของอาตมา ที่ได้เข้ามาอยู่ที่วัดแห่งนี้นั้น เนื่องจากพระมหาสำราญ นั้นชอบเดินสายสอนแนวทางปฏิบัติให้แก่พุทธศาสนิกชนไปตามจังหวัดต่างๆ จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำดูแลวัดแห่งนี้โดยตลอด ในปี พ.ศ.2553 ชาวบ้านได้นิมนต์อาตมา จากวัดพนมพนาวาส อ.บ้านโพธิ์ ให้เข้ามาเป็นพระผู้ทำการสอนการปฏิบัติธรรมและดูแลสถานที่แทนอยู่ที่นี่ จึงได้เข้ามาสังกัดอยู่กับวัดชายเคืองฯ และมาประจำอยู่ยังที่สำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้
ต่อมาชาวบ้านต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นวัดที่เน้นด้านการสอนปฏิบัติธรรม อาตมาจึงได้เดินเรื่องไปแจ้งต่อคณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง และได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดได้ในปี 2560 ตามแรงสนับสนุนของชุมชนรอบข้าง และได้ให้อาตมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เพื่อพัฒนาสร้างให้เป็นวัดตามความต้องการของชาวบ้าน โดยในระยะแรกได้ทำการก่อสร้างศาลาที่ถูกใช้เป็นอาคารปฏิบัติธรรม และถูกใช้เป็นสถานที่พักของผู้มาปฏิบัติธรรมและโรงครัว หลังจากที่ได้สร้างศาลาหลังใหม่ที่ถูกใช้เป็นโบสถชั่วคราวในขณะนี้ โดยมีกุฏิสงฆ์ 5 หลัง มีโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม
ส่วนเจดีย์รูปทรงระฆังคว่ำศิลปะศรีลังกาประยุกต์นั้น ได้มีพระสงฆ์ที่เดินทางมาจาก จ.เชียงใหม่ คือ พระไพรสิฐ ฐิตสัมโธ ผู้มีจิตศรัทธาในการสร้างพระเจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำลักษณะผสมระหว่างไทยและศรีลังกาขึ้น โดยนำรูปแบบของเจดีย์ที่ประเทศศรีลังกามาประยุกต์เข้ากับรูปแบบเจดีย์ของไทย ตามที่ได้เคยเดินทางไปทัศนศึกษาทำสักการะบูชาพระเจดีย์ ยังที่ประเทศศรีลังกามา จึงได้มีการสร้างพระเจดีย์แห่งนี้ขึ้นมาในระยะเวลาประมาณ 4-5 ปี และแล้วเสร็จเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งภายในมีลักษณะเป็นห้องโถงโปร่ง สำหรับนักปฏิบัติเข้าไปนั่งสมาธิ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ข้างใน เพื่อใช้เป็นสถานที่บูชาสวดมนต์เดินจงกรม และนั่งสมาธิ ที่เน้นด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นหลัก และไม่รับจัดงานอึกทึกครึกโครมขึ้นในวัด หากใครผ่านไป ผ่านมาสามารถเข้ามาสักการะบูชาได้ พระอธิการปราโมทย์ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับวัดบึงตาจันทร์แห่งนี้ นอกจากจะมีเจดีย์รูปทรงศรีลังกาประยุกต์แล้ว ยังมีต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเกิดจากการนำเมล็ดพันธุ์ของต้นโพธิ์จากพุทธคยาประเทศอินเดีย มาเพาะและปลูกไว้ภายในสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ด้วย ซึ่งจะเห็นถึงความแตกต่างของใบโพธิ์ที่ไม่เหมือนกับใบโพธิ์ทั่วไป จากรูปทรงที่มีปลายใบเล็กเป็นหางเรียวยาวไปจนสุดความยาวของใบ ขณะที่บรรยากาศทั่วไปในบริเวณวัดยังร่มรื่นเย็นสบายอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: