ฉะเชิงเทรา – ผุดทุ่งสมุนไพรชายเลน ที่บางปะกง ขณะพ่อเมืองแปดริ้วชื่นชนบริษัทเอกชนช่วยดูแลสังคมรอบข้างเป็นอย่างดี เผยเป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและสร้างรายได้ให้ขับเคลื่อนไปพร้อมกันในทุกภาคส่วน ด้านผู้ประกอบการเผยพร้อมใช้ที่ดิน 120 ไร่ สร้างความสมดุลธรรมชาติคืนให้ชุมชน ส่วนปราชญ์ชาวบ้านเผยเหงือกปลาหมอเป็นสมุนไทยไทยมาแต่โบราณ สามารถปลูกได้ดีในเมืองสามน้ำแห่งนี้
วันที่ 6 ธ.ค.65 เวลา 10.00 น. ที่บริเวณป่าชายเลนเลียบริมฝั่งลำน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นแปลงที่ดินของบริษัทดับเบิ้ลพีแลนด์ จำกัด ผู้ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิติ้ ในพื้นที่ ม.2 ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ทางผู้บริหารโครงการซึ่งนำโดย นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้
ข่าวน่าสนใจ:
ได้จัดให้มีพิธีปลูกสมุนไพรชายเลนและการลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงภาคีเครือข่าย 7 องค์กรมาร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน
ขณะที่นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดงานได้ กล่าวชื่นชมต่อผู้ประกอบการรายนี้ว่า ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ประสานความร่วมมือกับคนในพื้นที่เป็นอย่างดี เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่พี่น้องประชาชน โดยทางจังหวัดพร้อมที่จะสนับสนุนทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ที่ได้เข้ามาสร้างรายได้ให้พื้นที่ และเมื่อเข้ามาแล้วไม่เป็นการสร้างปัญหาให้แก่ประชาชน
เมื่อเกิดการลงทุนใน จ.ฉะเชิงเทรา แล้วยังจะส่งผลทำให้มีการการท่องเที่ยว มีการค้าขาย มีการเข้ามาพักผ่อน จึงทำให้เกิดรายได้ทั้งด้านการบริการ การขนส่ง รถตู้รถเช่า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และโรงแรม ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างรายได้ในทุกภาคส่วน ต่อเนื่องกันไปจนถึงระดับรากหญ้า ทั้งเด็กปั้มน้ำมัน พนักงานโรงแรม จึงทำให้เราต้องสนับสนุนทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว รวมถึงกิจกรรม ด้านอื่นๆ ด้วย
ขณะที่การพัฒนาและการลงทุนรวมถึงการค้าขายต่างๆ นั้น ย่อมก่อให้เกิดมีปัญหาขึ้นมาบ้างแน่นอน เพราะมีการเปลี่ยนไปจากสภาพปกติ แต่เมื่อมีปัญหาแล้ว หากเรามีมาตรการรองรับและมีการช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยหากประชาชนมีปัญหาขอให้มาแจ้งบอกกัน เพื่อทางจังหวัดจะได้ส่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล จึงเชื่อว่ากิจกรรมในวันนี้เป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่ทาง “บลูเทค” ได้ให้ความสำคัญในการที่จะทำทุ่งสมุนไพร
ซึ่งถือเป็นกิจกรรมในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพื่อชุมชนรอบข้างที่ต้องขอขอบคุณ และหากผู้ประกอบการได้เดินควบคู่กันไปกับชุมชนในลักษณะนี้ จะทำให้มีคนเข้ามาลงทุนมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้นด้วย นายขจรเกียรติ กล่าว
ด้าน น.ส.กุลพรภัสร์ พร้อมทีมงานความร่วมมือ ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการจัดทุ่งสมุนไพรชายเลนแห่งแรกของประเทศไทยในครั้งนี้ว่า เพื่อต้องการสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยได้เชิญมหาวิทยาลัยบูรพามาพัฒนาในเรื่องของเมืองอัจฉริยะ ในการพัฒนาทำให้คนเป็นอัจฉริยะ จากนั้นยังได้เชิญมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มาพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ด้านเศรษฐกิจชุมชน
และเชิญ กอ.รมน.ฉะเชิงเทรา มาสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชน หรือบูรณาการทุกภาคส่วนให้มาร่วมกัน เพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนจากสมการ “ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม บวกด้วยภูมิปัญญาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เท่ากับ นวัตกรรมชุมชน” ใน 5 ขั้นตอน คือ พัฒนาคน พัฒนากลุ่มองค์กรและเครือข่าย พัฒนาผลิตภัณฑ์ และนำผลิตภัณฑ์ทั้งหมดไปพัฒนานวัตกรรม เช่น เติมความสวยงาม และแพ็คเกจให้สวยงาม จากนั้นจึงจะพัฒนาในเรื่องของศูนย์การเรียนรู้สู่การท่องเที่ยว
โดยวิธีการพัฒนาจะใช้รูปแบบ “6 อ.พอเพียงตามศาสตร์พระราชา” คือ 1.อนุรักษ์ปลูกป่าชายเลน 2.อนุบาลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเพาะต้นกล้า 3.สร้างอาหารให้ชุมชน 4.สร้างอาชีพ 5.สร้างอนาคตและการวางแผน 6.เอานวัตกรรมเครื่องจักรอัจฉริยะเข้ามา ซึ่งการปลูกทุ่งสมุนไพรในวันนี้ ได้ดำเนินการปลูกไปแล้วจำนวน 10,000 ต้นบนเนื้อที่ดิน 20 ไร่จากทั้งหมด 120 ไร่ โดยแบ่งเป็นแปลงป่าจาก 40 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 60 ไร่นั้น เป็นป่าชายเลนเลียบชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง ทีมงาน น.ส.กุลพรภัสร์ ระบุ
ขณะที่ น.ส.สายรุ้ง เกิดแก้ว อายุ 61 ปี ชาว ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรไทยพื้นบ้าน กล่าวว่า การนำสมุนไพรต้นเหงือกปลาหมอมาปลูกในพื้นที่ป่าชายเลนนั้น สามารถปลูกได้และถือเป็นบ้านของพืชชนิดนี้ ที่สามารถทนสภาพแวดล้อมได้ทั้ง 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ที่มีสารอาหารของพืชครบถ้วน ทำให้มีคุณสมบัติทางยาดีมาก
แต่ที่ผ่านมาป่าชายเลนเริ่มหมดไปเพราะถูกบุกรุก จากทั้งภาคอุตสาหกรรม โรงเรือน และประชาชนทั่วไป จึงทำให้สมุนไพรและป่าชายเลนเริ่มหมดไปด้วย แต่เมื่อทางนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้แห่งนี้ ได้นำพื้นที่มาสร้างเป็นทุ่งสมุนไพรขึ้นมา ที่ไม่เหมือนกันกับแห่งอื่นๆ ที่นิยมปลูกป่าชายเลนกันโดยที่ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่า “ปลูกป่าชายเลนแล้วได้อะไร” นอกจากคาร์บอนเครดิต แต่ที่จุดนี้ไม่ได้ปลูกป่าชายเลน โดยเป็นการทำทุ่งสมุนไพร
ขณะที่ตัวสมุนไพร โดยเฉพาะเหงือกปลาหมอนั้น มีสรรพคุณทางยาที่สามารถรักษาโรคได้มากถึง 54 อาการ จึงทำให้การอนุรักษ์ในรูปแบบนี้ คนในชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทันที นอกจากนี้เหงือกปลาหมอยังสามารถนำไปทำเป็นเวชสำอางได้อีกด้วย เนื่องจากมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้กลิ่นตัวไม่มี จึงนำไปทำเป็นยาสระผมและครีมนวดผม เพื่อแก้อาการผมร่วง และทำสบู่เหลว สบู่ก้อน ทำให้ผู้ที่เคยเป็นภูมิแพ้อาการจะค่อยๆ หายไปด้วย น.ส.สายรุ้ง กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: