ฉะเชิงเทรา – พิลึก อบต.โยธะกา เตรียมสร้างสำนักงานใหม่อยู่สุดปลายท้ายตำบลข้างป่าช้า แถมที่ตั้งยังอยู่ในมุมอับเป็นพื้นที่เสี่ยงถูกตัดขาดจากชุมชนคนส่วนใหญ่ใกล้แนวตะเข็บรอยต่อ 3 จังหวัด ชี้อนาคตลูกหลานเดินทางยากลำบาก เหตุไม่มีเส้นทางสาธารณะสัญจรเชื่อมต่อถึงกันได้โดยตรง ที่อาจต้องอ้อมผ่านถึง 3 จังหวัดเพื่อเข้ามาติดต่อราชการ วอนพ่อเมืองทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ปชช.ก่อนตัดสินใจ
วันที่ 8 ธ.ค.65 เวลา 09.30 น. ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 20 คน ได้เดินทางนำรายชื่อประชาชนจำนวนกว่า 700 คน พร้อมหนังสือร้องคัดค้านการก่อสร้างสำนักงาน อบต.โยธะกา แห่งใหม่ มาขอเข้ายื่นต่อ นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ในระหว่างที่ได้เดินทางมาเป็นประธานการประชุม เพื่อมอบยโยบายต่อผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน และ อปท.
ข่าวน่าสนใจ:
ภายในหอประชุมที่ว่าการ อ.บางน้ำเปรี้ยว แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปยื่นหนังสือยังภายในห้องประชุมด้านใน ต่อมาในเวลา 10.20 น. หลังจากที่นายขจรเกียรติ ได้ทำการกล่าวมอบนโยบายเกี่ยวกับเรื่องการขอให้ผู้นำชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ทั่วถึงและทันต่อสถานการณ์ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเสียเวลาในการเดินทางเข้าไปยื่นเรื่องร้องเรียนถึงยังหน่วยงานราชการในส่วนกลางหรือทำเนียบรัฐบาล
ที่อาจต้องใช้เวลานานนับเดือนกว่าเรื่องจะถูกส่งกลับมายังหน่วยงานภายในจังหวัด และอาจแก้ไขปัญหาได้ไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการช่วยกันสอดส่องดูแลพื้นที่ปรับปรุงแก้ไขแผ่นป้ายเตือน ตามเส้นทาง ป้ายบ่งชี้การจราจรรวมถึงทรัพย์สินสาธารณประโยชน์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มองเห็นได้ชัดเจนหรือสามารถใช้งานได้ตามปกติ
นอกจากนี้ยังได้กำชับรวมไปถึงยังประชาชน ร้านค้าขายของฝากต่างๆ เนื่องจาก จ.ฉะเชิงเทรา นั้นเป็นจังหวัดท่องเที่ยว เป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรม และยังเป็นยังหวัดในพื้นที่อีอีซี เป็นสมาร์ทซิตี้ ตามนโยบายของรัฐบาล จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนที่ขายสินค้าและบริการ โดยเฉพาะของฝากช่วยกันรักษามาตรฐานทั้งด้านคุณภาพสินค้า รสชาติ และปริมาณให้คงที่ เพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบต่อนักท่องเที่ยว ต่อเนื่องไปจนถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านยาเสพติดด้วยนั้น ก่อนที่จะเดินทางกลับออกมายังที่บริเวณด้านหน้าหอประชุมในเวลาประมาณ 10.30 น.
กลุ่มชาวบ้านซึ่งนำโดย นายจำลอง สิงหนาท อายุ 70 ปี ชาวบ้าน ม.6 ต.โยธะกา จึงได้รวมตัวกันตั้งแถวเข้ายื่นหนังสือเพื่อคัดค้านการเตรียมการก่อสร้างสำนักงาน อบต.โยธะกา แห่งใหม่ พร้อมแนบรายชื่อผู้ร่วมลงนามคัดค้านประมาณ 700 คน จนถึงมือผู้ว่าฯ พร้อมให้เหตุผลว่า ทาง อบต.โยธะกา ได้เตรียมการจัดสร้างสำนักงานแห่งใหม่ขึ้นในพื้นที่บริจาคจากภาคเอกชน ซึ่งอยู่ด้านปลายสุดทางด้านทิศเหนือของตำบลโดยที่ไม่ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ หรือทำประชาพิจารณ์มาก่อน
เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่จำนวน 5 ไร่ มีสภาพเป็นทุ่งนาที่ต้องใช้เงินงบประมาณในการปรับถมดินมากถึง 3 ล้านบาท ตามที่ได้มีการเตรียมการตั้งเงินงบประมาณเอาไว้แล้ว ซึ่งแพงกว่าราคาซื้อขายที่ดินที่อยู่บริเวณใจกลางชุมชนของตำบล ที่มีราคาซื้อขายเพียงไร่ละ 300,000-350,000 บาทเท่านั้น อีกทั้งที่ตั้งแห่งใหม่นี้ยังเป็นพื้นที่ห่างไกลถึง 10-15 กม. จากชุมชนขนาดใหญ่ (คลอง 19) รวม 5 หมู่บ้าน ที่มีประชากรหนาแน่นกว่ามาก
โดยจุดที่จะสร้าง อบต.แห่งใหม่ เป็นพื้นที่มีประชากรอยู่อาศัยเบาบางใน ม.12 ที่ส่วนใหญ่ราษฎรกว่าครึ่งของหมู่บ้านอยู่ในเขตพื้นที่ของทหารเรือ และเป็นหมู่บ้านเพียงหมู่เดียวที่จะถูกตัดขาดจากทั้ง 13 หมู่บ้านในตำบล หากทางทหารเรือไม่ให้ประชาชนผ่านเส้นทางในพื้นที่ ชาวบ้านจะไม่สามารถเดินทางไปติดต่อราชการที่ อบต.ได้โดยสะดวก เพราะต้องอ้อมไปยังในพื้นที่อื่นเป็นระยะทางยาวไกลถึงกว่า 30 กม.
โดยต้องย้อนกลับมายังในตัวอำเภอบางน้ำเปรี้ยวก่อน เพื่อเดินทางไปตามเส้นทางมุ่งหน้า อ.องครักษ์ จ.นครนายก โดยจะต้องอ้อมมาเข้าสู่สำนักงาน อบต.แห่งใหม่ ทางด้าน ต.บางสมบูรณ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก หรืออาจจะต้องเดินทางอ้อมมายังในเขต อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ที่มีระยะทางยาวไกลถึงกว่า 40-50 กม. โดยเฉพาะฤดูฝนที่มีน้ำหลากท่วมพื้นที่ จะไม่มีเส้นทางลัดเลาะผ่านตามทางดินในตำบลข้างเคียงได้เลย
ขณะเดียวกันเส้นทางการสัญจรในปัจจุบันก็ยังไม่สะดวก โดยยังคงเป็นทางดินผิวขรุขระ และมีการถมดินลูกรังหินคลุกบ้างบางจุด แต่ไม่สามารถที่จะพัฒนาเป็นเส้นทางสายหลักอย่างถาวรได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของทหารเรือ และพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และมีถนนบางช่วงเป็นของหน่วยงานชลประทาน ซึ่งหากหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ปิดกั้นพื้นที่ ชาวบ้านจะไม่สามารถเดินทางไปยังสำนักงาน อบต.แห่งใหม่ได้
เช่นเดียวกันกับโครงการประปาหมู่บ้าน ที่กำลังเกิดปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้าน ม.12 เอง ที่มีการดำเนินโครงการแล้ว แต่ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำได้ เนื่องจากทางหน่วยทหารเรือไม่อนุญาตให้มีการเดินท่อผ่านเข้าพื้นที่ ทั้งที่โครงการดังกล่าวนี้เป็นโครงการร่วมระหว่าง 2 หมู่บ้าน คือ ม.11 และ ม.12 อีกทั้งจุดที่มีการเตรียมโครงการก่อสร้าง สนง.อบต.แห่งใหม่นี้ ยังเป็นแปลงที่ดินติดกับวัดคลองหกวา ติดกับป่าช้าและเมรุเผาศพอีกด้วย
โดยการเข้ามายื่นหนังสือคัดค้านในครั้งนี้ ชาวบ้านเพียงต้องการให้ทาง อบต.โยธะกา เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อทำประชาพิจารณ์ลงมติรับฟังเสียงจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก่อน หากมติเสียงส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเป็นอย่างไรแล้วนั้น พวกตนยินดีที่จะรับฟัง และจะไม่ออกมาคัดค้านในเรื่องดังกล่าวนี้อีก นายจำลอง กล่าว
หลังนายขจรเกียรติ รับหนังสือจากชาวบ้านแล้ว ได้ซักถามข้อมูลเบื้องต้นจากชาวบ้านเพิ่มเติม และกล่าวว่า จะนำไปดูในรายละเอียดให้อีกครั้ง ก่อนที่จะเดินทางกลับไป จากนั้นชาวบ้านจึงได้นำพาผู้สื่อข่าวเดินทางไปดูยังที่ทำการ อบต.โยธะกา ปัจจุบัน ที่ยังคงเช่าอาคารพาณิชย์ขนาด 2 ชั้นรวม 2 คูหาในราคาเดือนละ 2 หมื่นบาท เพื่อใช้เป็นที่ทำการอยู่บริเวณใกล้สี่แยกบางน้ำเปรี้ยว ซึ่งถือเป็น อปท.เพียงแห่งเดียวของ จ.ฉะเชิงเทรา หรืออาจเป็นแห่งสุดท้ายของประเทศ ที่ยังไม่มีสำนักงานที่ทำการเป็นของตนเอง
ก่อนที่จะนำพาผู้สื่อข่าวลงไปยังในพื้นที่เตรียมการก่อตั้งสำนักงาน อบต.แห่งใหม่ ที่อยู่ห่างไกลออกไปจนสุดพื้นที่ของ จ.ฉะเชิงเทรา บริเวณแนวตะเข็บรอยต่อของจังหวัดติดต่อกับเขต จ.นครนายก ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของตำบล และมีสภาพการเดินทางที่ยากลำบากตามที่ชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเอาไว้จริง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: