ฉะเชิงเทรา – ช้างตายในป่า ระบุสาเหตุไม่ได้หลังสัตวแพทย์ร่วมชันสูตรแล้ว จากสภาพเน่าเปื่อยมากโดยทำได้เพียงแค่ตัดกระดูกขาขวาหลังนำไปตรวจหาโรคที่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย พร้อมจัดพิธีสวดบังสุกุลทางศาสนาก่อนขุดหลุมฝังกลบไว้ยังในที่เกิดเหตุ โดยเชื่อว่าช้างตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 วัน พบเป็นช้างเพศเมียอายุไม่เกิน 10 ปีมีน้ำหนักไม่เกิน 2 ตัน
วันที่ 24 พ.ค.66 เวลา 20.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีชาวบ้านพบช้างป่านอนตายอยู่ภายในป่าเขาดินหรือแปลงป่า 500 ไร่ เขตพื้นที่ ม.21 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกฟื้นฟูขึ้นมาให้เป็นผืนป่ากันชนทางตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว) ในสภาพเน่าเปื่อยและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วทั้งบริเวณดังกล่าวตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นวานนี้ว่า
ข่าวน่าสนใจ:
ในวันนี้เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายได้สนธิกำลังกันเดินทางเข้าไปยังในจุดเกิดเหตุ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สภ.สนามชัยเขต เจ้าหน้าที่จากหน่วยทหารพรานที่ 1306 เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และนายทรัพย์ทวี กุลสารี นายก อบต.ท่ากระดาน รวมถึงชุดเฝ้าระวังภัยพิบัติ (ช้างป่า) จาก อบต.ท่ากระดาน เพื่อร่วมกันตรวจสอบยังในที่เกิดเหตุอีกครั้ง
จากนั้นในเวลา 13.00 น. ได้มี ร.ต.ท.อนุรักษ์ หนักแน่น รองสารวัตรเวรสอบสวน สภ.สนามชัยเขต เดินทางมายังในที่เกิดเหตุ เพื่อรอการชันสูตรร่วมกันกับทางสัตวแพทย์ โดยได้มีชาวบ้านพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ได้ทำการนิมนต์พระสงฆ์จากวัดนายาวจำนวน 4 รูป มาทำการสวดบังสุกุลให้แก่ช้างป่าตัวนี้ด้วยเมื่อเวลา 14.40 น. จากนั้นในเวลา 15.20 น. น.ส.มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย สัตวแพทย์หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 กระบกคู่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา จึงเดินทางมาถึงยังในที่เกิดเหตุ
และเริ่มทำการชันสูตรซากช้างป่าที่ล้มตายลงกลางป่าในครั้งนี้ โดยเบื้องต้น น.ส.มัชฌมณ ระบุว่า ช้างป่าที่พบเป็นซากช้างเพศเมีย มีสภาพเน่าเปื่อยมากแล้ว อายุไม่เกิน 10 ปี น้ำหนักไม่เกิน 2 ตัน ตามร่างกายไม่พบบาดแผลจากการถูกทำร้ายแต่อย่างใดโดยพบโพรงที่ช่องท้องจากการเน่าเปื่อยเนื่องจากตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 วัน จนไม่สามารถหาร่องรอยบาดแผลได้อย่างละเอียด
หลังจากนี้จะได้ทำการตัดกระดูกที่บริเวณขาหลังด้านขวา เพื่อนำไปตรวจหาโรคที่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยจนเป็นสาเหตุของการล้มลงได้ โดยหลังจากการตัดกระดูกเก็บตัวอย่างเสร็จสิ้นแล้ว จะทำการฝังกลบซากช้างป่าตัวนี้ไว้ยังในบริเวณที่เกิดเหตุ ที่จุดนี้ต่อไป เนื่องจากมีสภาพเน่าเปื่อยมากแล้วจนไม่สามารถที่จะทำการเคลื่อนย้ายออกไปทำการฝังกลบยังภายนอกพื้นที่ได้ น.ส.มัชฌมณ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: