ฉะเชิงเทรา – สุราพื้นบ้านแปดริ้วอยากขยับตัวโผล่ขึ้นพ้นจากดิน ขอโอกาสจากกระแส “สุราก้าวหน้า” ช่วยหนุนสร้างแบรนด์สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากสินค้าเกษตรแปรรูป เปิดช่องการนำผลผลิตทางการเกษตรมาสร้างความหลากหลายเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่ตลาด เผยศักยภาพของคนไทยสามารถทำสินค้าออกมาได้อย่างหลากหลาย ทั้งยังมีรสชาติยอดเยี่ยมไม่แพ้ใครในโลก เพียงแต่ยังติดกับดักอยู่ในข้อจำกัดทางกฎหมาย ที่ไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ศิลปะการปรุงแต่งเครื่องดื่มที่มีมาอย่างช้านานนับแต่บรรพบุรุษ
วันที่ 17 มิ.ย.66 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายนิทัศน์ ศรีอุราม อายุ 30 ปี ชาว ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้มีความนิยมในการปรุงแต่งรสชาติอาหารประเภทเครื่องดื่ม และเป็นสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยสูง โดยเป็นประธานยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ปัจจุบันกลุ่มของตนเองได้ทำการปรุงแต่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทสาโท ที่ได้รับการถ่ายทอดต้นตำรับมาจากสุราพื้นบ้านของคนรุ่นเก่าหรือได้นำภูมิปัญญาจากปราชญ์ชาวบ้านมาพัฒนาต่อยอด
ข่าวน่าสนใจ:
จนทำให้ขณะนี้สามารถที่จะพัฒนาสาโท ให้มีรสชาติดีมีกลิ่นหอมกลมกล่อมมากขึ้นกว่าในยุคอดีต จากวัตถุดิบซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และผลไม้ชนิดอื่นที่เกษตรกรสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากภายในประเทศ โดยขณะนี้ได้มีการปรุงแต่งออกมาเป็นตัวอย่างได้แล้วจำนวน 3 รสชาติ ประกอบด้วย สาโทข้าวเหนียว ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากสาโทโบราณสูตรดั้งเดิมที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้น มาเป็นสาโทในน้ำสีขาวค่อนข้างใสขึ้นและให้รสชาติที่อ่อนหนุ่มยิ่งขึ้น ด้วยความหวานและมีความเปรี้ยวปิดท้ายด้วยรสชาติของข้าวหมากตามมา
ขณะเดียวกันยังได้นำผลไม้ที่มีอยู่ทั่วไป เช่น ลิ้นจี่ นำมาพัฒนาทำเป็นสาโทลิ้นจี่ ที่มีรสชาติหอมหวานละมุนด้วยกลิ่นลิ้นจี่ที่ให้สีออกมาเป็นโทนขาวอมชมพู มาพร้อมกับรสชาติคล้ายกันกับการดื่มน้ำลิ้นจี่ที่ยังมีรสชาติของสาโทดั้งเดิมผสมอยู่ด้วยในระดับแอลกอฮอล์อ่อนๆ ขนาด 5.5- 6 ดีกรี (เปอร์เซ็นต์) โดยสูตรนี้เป็นที่ชื่นชอบของสตรีหรือบรรดาสาวๆ ที่ได้มาลิ้มลองทดสอบแล้วว่ามีรสชาติที่ดีและเป็นผลิตภัณฑ์ตัวเด่นในการพัฒนาสาโททั้ง 3 สูตรนี้ขึ้นมาด้วย
นอกจากนี้ยังมีสาโทมะม่วงบางคล้า สายพันธุ์อกร่องที่ให้กลิ่นหอมจากมะม่วงสุกออกมาอย่างโดดเด่นและชัดเจนมากกว่ามะม่วงชนิดอื่น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาในการรองรับผลผลิตมะม่วงในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา หากมีผลผลิตออกมามากเกินไป เนื่องจาก จ.ฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรชาวสวนมะม่วงจำนวนมาก จึงได้มีการนำมาพัฒนาแปรรูปทำเป็นสาโทขึ้นแล้ว โดยมีทั้งมะม่วงขายตึกและน้ำดอกไม้ แต่มะม่วงทั้ง 2 ชนิดยังให้กลิ่นหอมน้อยกว่ามะม่วงพันธุ์อกร่อง
หลังการนำผลผลิตมะม่วงสุกมาพัฒนาเป็นสาโทแล้ว ได้ให้รสชาติออกมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมะม่วง ที่ผสมผสานเข้าไปในรสชาติของความเป็นสาโทเข้าด้วยกัน โดยมีสีของน้ำออกมาเป็นสีเหลืองอ่อนจากผลมะม่วงสุกเป็นเอกลักษณ์ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาแปรรูปจากสินค้าเกษตรขึ้นมาแล้วนี้ ยังไม่สามารถที่จะนำออกมาทำเป็นสินค้าวางจำหน่ายในตลาดได้ เนื่องจากยังติดขัดด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้สามารถทำได้มากนัก
ทั้งที่ทางกลุ่มได้มีความพยายามที่จะยื่นเพื่อขออนุญาตทำการผลิตจำหน่ายต่อทางสรรพสามิต จ.ฉะเชิงเทรา มาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่เอกสารได้ถูกตีกลับมาทั้ง 2 ครั้งโดยที่ยังไม่ได้มีโอกาสได้ชี้แจงหรือได้นำเสนอข้อมูลในส่วนที่เป็นข้อสงสัยใดๆ ต่อทางเจ้าหน้าที่เลย ทั้งที่เราได้มีความพยายามที่จะทำให้สุราหรือสาโทที่ได้ทำการพัฒนาขึ้นมานี้ถูกกฎหมาย จึงอยากขอโอกาสจากผู้มีอำนาจหรืออยากฝากไปถึงยังรัฐบาลชุดใหม่ให้ได้ช่วยพิจารณาปลดล็อกปรับแก้ข้อกฎหมายบางอย่าง
ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการที่จะนำสินค้าเกษตรมาพัฒนาให้เกิดความหลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ที่ไม่เปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ถูกนำเสนอขาย หรือเผยแพร่ออกไปสู่สังคมเพื่อให้คนรู้จักได้เลย และยังเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายเล็ก ที่จะไม่สามารถเติบโตหรือทำการประชาสัมพันธ์ออกไปให้คนรู้จักได้ ในขณะที่ความพร้อมทางด้านอื่นๆ นั้น มีรองรับมากพออยู่แล้ว
ทั้งระบบอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงและแรงมาก และระบบการโอนเงินที่มีความปลอดภัย แต่กลับไม่สามารถที่จะโฆษณาสินค้าได้เลย จึงอยากให้พิจารณาเปิดช่องและผลักดัน พ.ร.บ.นี้ให้ได้ถูกแก้ไขหรือยกเลิกข้อจำกัดในการห้าม โดยที่ผู้ประกอบการรายเล็กนั้นไม่มีความสามารถที่จะไปโฆษณาผ่านทางสื่อขนาดใหญ่ได้ จึงต้องการทำการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อออนไลน์มากที่สุด โดยขอให้สามารถแนะนำสินค้าให้ผู้คนได้รู้จักบ้าง ในลักษณะของการแนะนำผลิตภัณฑ์แต่ไม่ใช่การชักชวนให้ดื่ม
เพื่อปลดล็อกให้ผู้ประกอบการรายเล็กเติบโตตามศักยภาพได้มากขึ้นกว่านี้ ทั้งที่ในช่วงที่ผ่านมาจากกระแสสุราก้าวหน้า ได้ทำให้ผู้คนต่างพากันตื่นตัวมาก กับการที่ได้เห็นสุราชุมชนในประเทศไทยนั้นมีมากมายหลากหลาย โดยที่หลายคนอาจไม่รู้จักมาก่อนว่ามีแบรนด์สินค้าชนิดนี้อยู่ในประเทศด้วย โดยมีบางรายนั้นไปเติบโตจากการไปตั้งโรงงานผลิตในต่างประเทศ บางรายนั้นผลิตเพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว จนทำให้คนไทยแทบไม่รู้จักเลย
จากที่มีการตื่นตัวของผู้คนเพิ่มมากแล้ว ได้ทำให้หลายคนมีความภูมิใจในผลิตภัณฑ์ของคนไทย การปรุงแต่งจากฝีมือคนไทย ทำให้ผู้คนจากต่างประเทศพากันเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นด้วย โดยที่การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรทั้งข้าว อ้อย ข้าวโพดหรือสินค้าเกษตรอะไรก็ตาม ที่พัฒนาขึ้นมาจากพื้นที่ของตนเองนั้น เป็นการทำให้คนได้รู้จักถึงรสชาติจากผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นนั้นๆ มากขึ้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถที่จะเติบโตต่อไปได้
ถึงเวลานี้แล้วจึงอยากจะฝากไปถึงยังผู้บริหารระดับประเทศ ไม่ว่าฝ่ายใดที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ตามว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญทางเศรษฐกิจภาคเกษตรที่ไม่ใช่การสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแค่เพียงสินค้าโอทอปเท่านั้น แต่จะกลายเป็นสินค้าในระดับโลกได้ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้มากมายหลายแบรนด์ ทั้งสังเวียน และกิโล (Kilo Spirits) ซึ่งถือเป็นผู้นำในเรื่องของสุราชุมชนที่จะไปไกลในระดับโลก
หากผู้นำได้เข้ามาช่วยปลดล็อกเสริมศักยภาพให้วิสาหกิจชุมชนมีกำลังการผลิตมากยิ่งขึ้นกว่านี้ และสามารถที่จะทำการโฆษณาได้มากกว่านี้ จะทำให้เกิดผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่จะพัฒนาตนเองจากเกษตรกรขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ และมาช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุราให้ได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าวัฒนธรรมการดื่มนั้นอยู่กับคนไทยและคนทั้งโลกมานานมากแล้ว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังจะเป็นการกระตุ้นในเรื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยวด้วย
หากปลดล็อกในเรื่องนี้ได้ เราจะมีโอกาสเติบโตไปได้อีกไกลอย่างมากมาย และจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น หากในอนาคตมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแล้ว ก็อยากฝากให้รัฐบาลในยุคต่อไปได้นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกลับมาพิจารณาทบทวนใหม่ เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาแปรรูปสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กลับคืนมาสู่ชุมชนได้มากที่สุด โดยเฉพาะการแปรรูปผลไม้ที่ตกเกรดหรือมีรูปร่างไม่สวยงามให้กลับมามีมูลค่าที่สูงขึ้น
ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการปรุงแต่งอาหารโดยเฉพาะเครื่องดื่มนั้น คนไทยเป็นที่ยอมรับและไม่แพ้ใครในโลก จนทำให้มีผู้ผลิตบางรายต้องไปตั้งโรงงานผลิตขึ้นในต่างประเทศในการส่งออก แทนที่จะเป็นการสร้างแบรนด์ของคนไทย ทั้งที่คนไทยนั้นเป็นผู้พัฒนา ผลิตหรือสร้างสูตรเครื่องดื่มเหล่านี้ขึ้นมา แต่กลับเป็นการไปสร้างชื่อเสียงสร้างแบรนด์สินค้าให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้เราเสียโอกาสอย่างมาก นายนิทัศน์ กล่าว
และกล่าวต่อว่า สำหรับที่มาของแบรนด์สินค้ามิสเตอร์ซาโต “MR.SATO” ที่ได้เตรียมการผลิตเอาไว้นั้น เพื่อต้องการตั้งชื่อให้คนทั้งโลกได้รู้จักคำว่า “สาโท” ไทย ที่คนได้เห็นแล้วอ่านออกมาว่า “นายสาโท” ขณะที่ในภาษาญี่ปุ่นนั้นเรียกน้ำตาลว่าซาโต ซึ่งเป็นวัตถุดิบหนึ่งที่เรานำมาใช้ทำสาโท ทั้งยังมีแรงบันดาลใจจากที่ในอดีตตนเองได้เคยไปเรียนที่ญี่ปุ่น และพบว่าที่ญี่ปุ่นนั้นมีสุราที่หลากหลายในหมู่บ้านหรือสุราชุมชนในหลายๆ จังหวัด จึงได้นำคำว่ามิสเตอร์มารวมกับคำญี่ปุ่น คือ ซาโต และแปลเป็นภาษาไทยว่านายสาโท จึงเป็นสตอรี่ที่เราสร้างขึ้นมา และอยากให้ “นายสาโท” นี้เป็นที่รู้จักไปในระดับโลกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: