X
แห้งหายใกล้หมดเขื่อน

เกษตรกรแปดริ้ว เริ่มไถหว่านปลูกพืชเกษตรตามปกติ หลังฝนทิ้งช่วงจากเอลนีโญ

ฉะเชิงเทรา – เกษตรกรแปดริ้ว เมินเสียงเตือนผลกระทบจากเอลนีโญระยะยาว ตามการคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องนับแต่ช่วงเดือน มิ.ย.66 ที่ผ่านมาไปตลอด 3-5 ปีข้างหน้า ที่ต่างพากันลงมือไถหว่านปลูกพืชเกษตรตามฤดูกาลเป็นปกติ ด้าน ผอ.ชลประทานฉะเชิงเทรา เตือนให้ชาวบ้านรับฟังข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำจากหน่วยงานรัฐ หวังลดผลกระทบจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมา ขณะอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ไร้เม็ดฝนตกลงมาเติมทางตอนบน ทำปริมาณน้ำหดหายเหลือเพียงแค่ก้นอ่าง

วันที่ 9 ก.ค.66 เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากเริ่มมีฝนตกลงมาในพื้นที่ลุ่มตอนล่าง ใต้อ่างเก็บน้ำคลองระบมและอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.สนามชัยเขต และท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้เกษตรกรต่างพากันลงมือไถหว่านเพาะปลูกพืชเกษตรตามฤดูกาลเป็นจำนวนมาก ที่อาจได้รับความเสียหายจากฝนทิ้งช่วงตามปรากฎการณ์ของเอลนีโญ ที่มีการคาดการณ์จากนักวิชาการและกรมอุตุนิยมวิทยาไว้ว่าอาจจะส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะฝนน้อย และอาจเผชิญกับภาวะแห้งแล้งต่อเนื่องในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

หว่านกันแล้ว

ซึ่งล่าสุดจากข้อมูลรายงานสถานการณ์น้ำประจำวัน จากหน่วยงานชลประทานในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 2 แห่งภายใน จ.ฉะเชิงเทรา นั้นมีปริมาณลดน้อยลงอย่างมากจนเหลือเพียงในระดับก้นอ่างโดยที่ไม่มีฝนตกลงมาเติมในพื้นที่ทางตอนบนเหนือสันเขื่อนของอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งเลย ทำให้การตรวจวัดปริมาณน้ำฝนมีค่าเป็น 0 มม. โดยที่อ่างเก็บน้ำคลองสียัดนั้นมีความจุสูงสุด 420 ล้าน ลบม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 75.94 ล้าน ลบม. หรือคิดเป็นร้อยละ 18.08 ของความจุ

ไม่มีฝนตกเหนือเขื่อน

โดยที่ยังคงมีการระบายน้ำลงสู่คลองสียัดในปริมาณ 1.64 ล้าน ลบม. เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และสนับสนุนภาคการเกษตรในพื้นที่ทางตอนล่าง ส่วนที่อ่างเก็บน้ำคลองระบมนั้นมีความจุสูงสุด 55.5 ล้าน ลบม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 9.173 ล้าน ลบม. หรือคิดเป็นร้อยละ 16.53 ของความจุเท่านั้น และยังคงมีการระบายน้ำลงสู่คลองระบมในปริมาณ 0.089 ล้าน ลบม. เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ตลอดแนวลำคลอง ลงมาทางตอนล่างเช่นเดียวกัน

กลายเป็นทุุ่งหญ้า

ด้าน นายธานินทร์ เนื่องทศเทศ ผอ.โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการพยายามประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรให้รับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ และพยายามจะกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำทั้งหมด ซึ่งมาตรการที่ต้องทำนั้นต้องพยายามเก็บน้ำไว้อย่างเดียวเป็นหลัก แม้ปริมาณฝนที่ตกลงมาจะน้อยมากจึงอาจเป็นเรื่องยาก โดยขณะนี้ทำได้เพียงการประหยัดและพยายามกักเก็บเพิ่ม

นายธานินทร์ เนื่องทศเทศ

นอกจากนี้ยังได้พยายามประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและประชาชนกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ของตนเองให้มากเท่าที่จะมากได้ ส่วนการเพาะปลูกนั้นคงจะต้องรอให้ฝนตกอย่างเข้มข้นเสียก่อนจึงค่อยทำการเพาะปลูก เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงภาวะฝนทิ้งช่วง ส่วนพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกไปแล้วนั้น จะพยายามดูแลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ประเด็นสำคัญ คือ จะต้องช่วยกันประหยัด และในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนในพื้นที่ที่มีฝนตกเกษตรกรควรจะใช้น้ำจากน้ำฝน

ส่วนชลประทานนั้นมีหน้าที่เสริมฝนแต่เมื่อฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นในช่วงนี้ เราได้พยายามดูแลและพยายามประสานกับสำนักงานชลประทานที่ 9 ประสานกับโครงการฯ อ่างเก็บน้ำสียัด เพื่อส่งน้ำลงมาช่วยเหลือในช่วงเวลารอยต่อตรงนี้ ที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนับจากเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่

ส่วนการผลิตประปาในพื้นที่ยังไม่มีผลกระทบ เนื่องจากมีหัวสูบจากแหล่งน้ำชัดเจนอยู่แล้วที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำที่มีการส่งน้ำลงมาอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่มีการแยกสัดส่วนกันว่าน้ำสำหรับผลิตประปานั้นมีจำนวนเท่าใด น้ำเพื่อการเกษตรมีเท่าไหร่บริเวณไหนอย่างไร และคาดว่าจะมีเพียงพอเนื่องจากน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคนั้น อย่างไรก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญลำดับที่หนึ่งอยู่แล้ว

เริ่มเหือดแห้งแล้ว

ขณะที่อ่างเก็บน้ำโจน 2 อ่างน้ำโจน 16 รวมถึงอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงนั้น มีความจุเพียง 1.9-4.2 ล้าน ลบม. ไม่สามารถส่งน้ำเข้ามาช่วยเหลือภายนอกพื้นที่ได้ เนื่องจากเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ต้องใช้น้ำเพื่อดูแลพื้นที่ของตัวเองรวมถึงพื้นที่เพาะปลูกบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรที่อยู่ห่างออกไปนั้นอาจจะได้รับความเดือดร้อนบ้าง เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ในขณะที่ทางชลประทานนั้นได้พยายามที่จะส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อลงมาช่วยเสริมฝนเท่านั้น

อ่างเก็บน้ำคลองสียัด

ในช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นนี้ จึงอยากให้เกษตรกรติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางกรมชลประทานและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเนื่องจากถือเป็นข้อมูลสำคัญในปัจจุบัน ที่จะมีการแนะนำไว้ว่าช่วงใดฝนตกหรือไม่ตก หรือสถานการณ์เกี่ยวกับฝนในช่วง 2-3 เดือนหรือ 4-6 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หากเป็นไปได้จึงอยากให้เป็นแบบนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรเอง

ลงมือทำนากันแล้ว

ทำให้ได้รับรู้ว่าปัจจุบันสถานการณ์เป็นอย่างไร และในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องช่วยกันถือเป็นการช่วยทางราชการอีกทางหนึ่ง ซึ่งล่าสุดตาดว่าฝนจะเริ่มตกเข้มข้นมากขึ้นภายในเดือนนี้แล้ว เท่าที่ได้ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุฯ ที่คาดว่านับจากวันที่ 15 ก.ค.66 เป็นต้นไปนั้น ความเข้มของฝนจะดีขึ้น และจะมีฝนตกถี่ขึ้น ตกในปริมาณที่มากขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ต.ค.66 ตามที่ได้มีการพยากรณ์ไว้ นายธานินทร์ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน