ฉะเชิงเทรา – เสาระหัดวิดน้ำโบราณ เจ้าของตั้งใจนำไปร่วมบูรณะหอสวดมนต์ทรงไทยอายุนับร้อยปีที่วัดเกาะบางเตยแปดริ้ว แต่พยายามใช้รถบรรทุกลากจูงเท่าใดกลับไม่ยอมผุดขึ้นจากตม สุดท้ายจุดธูปบอกเจ้าของเก่าดั้งเดิมให้ไปร่วมทำบุญด้วยกัน จึงยอมโผล่ขึ้นมาอย่างง่ายดาย หลังจากต้องใช้รถบรรทุกสองคันพร้อมเครนเฮี๊ยบยกนำมาส่งจนถึงที่ ด้านบุตรหลานเผยเป็นเสาระหัดวิดน้ำเข้าท้องนา ถูกใช้งานมานับแต่บรรพบุรุษยุคปู่ย่า ระบุเกิดมาจนถึงวัย 58 ปีเคยพบแต่เพียงบางส่วนที่ถูกฝังอยู่ในคูเรือเก่าแต่ยังไม่เคยเห็นความยาวจริง
วันที่ 3 ก.ย.66 เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายประเทือง ชัยสายัณห์ อายุ 60 ปี อดีตกำนัน ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า เมื่อวานนี้ได้มีชาวบ้านรายหนึ่งได้นำเสาไม้โบราณ ซึ่งเป็นระหัดวิดน้ำเก่าแก่ ตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ มาร่วมบริจาคช่วยเหลือทางวัดราษฎร์บำรุงวนาราม (วัดเกาะ) ตั้งอยู่เลขที่ 72 พื้นที่ ม.4 ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา แต่ปรากฏว่าระหว่างที่กำลังจะยกเสากังหันลมของระหัดวิดน้ำ ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้โคลนตมมายาวนานเกือบ 100 ปี ด้วยการใช้รถบรรทุกสิบล้อลากจูงให้ขึ้นมาจากหลุม ซึ่งเป็นบ่อโคลนกลับดึงไม่ขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
- ปราจีนบุรี สาวแม่ลูกอ่อนผวา ช้างป่าพี่งาเดียว เดินในหมู่บ้านตอนเที่ยง
- เปิดสะพานข้ามแยกสระขวัญชั่วคราวช่วงเทศกาลปีใหม่ จ.สระแก้ว ส่วนเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอ่างฤาไนเปิดใช้เส้นทางช่วงกลางคืน
- เลขา รมต.กระทรวงทรัพย์ฯ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาช้างป่า จ.ปราจีนบุรี
- เสน่ห์แสงสีชวนให้ผู้คนหลงใหล แสงไฟคริสต์มาสในสวนมรุพงษ์
สุดท้ายเจ้าของผู้ตั้งใจบริจาคให้ทางวัด ซึ่งเป็นบุตรหลานของเจ้าของเดิมเสาระหัดวิดน้ำต้นนี้ ต้องจุดธูปบอกกล่าวต่อทางบรรพบุรุษ ก่อนที่จะใช้ทั้งรถบรรทุกสิบล้อลากจูงและใช้รถเฮี๊ยบเครนยกดึงขึ้นมาจากหลุม จึงนำมาส่งยังที่วัดได้โดยสำเร็จด้วยดี โดยพบว่าเป็นเสาไม้เต็งที่ยังมีสภาพดีสมบูรณ์แบบ และยังไม่มีร่องรอยของการผุกร่อนไปตามกาลเวลาของอายุการใช้งาน และถูกฝังอยู่ใต้ดินมานานถึงเกือบ 100 ปีแต่อย่างใด นายประเทือง ระบุ
จากการสอบถาม นายณรงค์ โล่รักษา อายุ 58 ปี ชาวบ้านหมู่ 11 ต.บางเตย ซึ่งเป็นบุตรหลานของเจ้าของเสาไม้กังหันวิดน้ำโบราณต้นดังกล่าว เล่าว่า เสาไม้ระหัดวิดน้ำต้นนี้ คาดว่าถูกใช้งานในการวิดน้ำเข้าสู่นาข้าวในยุคของบรรพบุรุษจนถึงยุคของปู่และย่า ก่อนที่จะเลิกใช้ไป หลังจากเริ่มมีเครื่องยนต์ทางการเกษตรเข้ามา และถูกนำมาใช้ทดแทนกังหันรุ่นเก่า โดยที่ตนนั้นเกิดมาจนถึงวัย 58 ปีแล้ว ก็ยังไม่ทันเคยเห็นการใช้งานเสากังหันต้นนี้ที่บ้านมาก่อน
โดยพบว่าเสาไม้ต้นนี้นอนอยู่ในร่องน้ำ ซึ่งเป็นทางเรือเข้าออกจากบ้านไปยังลำคลองมาตั้งแต่เด็ก ๆ และยังได้มาวิ่งเล่นอยู่บนเสาที่นอนอยู่ในร่องคูเรืออยู่ก่อนแล้ว โดยพบเห็นตัวเสาไม้แค่เฉพาะบางส่วนเท่านั้น หลังจากไม่ได้ถูกนำมาใช้งานเลย และเวลาผ่านเลยมาหลายสิบปีแล้วทำให้เสาต้นนี้ได้จมลึกลงไปอยู่ที่ใต้ดิน ซึ่งเป็นคูเรือเก่าลึกลงไปกว่าเดิมอีกประมาณ 1 เมตร
เมื่อทราบจากทางอดีตกำนันว่า ชาวบ้านกำลังจะช่วยกันบูรณะหอสวดมนต์ทรงไทยโบราณเก่าแก่ภายในวัด และต้องการที่จะอนุรักษ์เรือนไทยโบราณเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู ทางบิดาตน คือ นายสวัสดิ์ โล่รักษา อายุ 86 ปี จึงมีความประสงค์อยากจะร่วมบริจาคเสาไม้ดังกล่าวให้แก่ทางวัดไป เพราะเชื่อว่าเป็นเสาไม้เก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณในยุคเดียวกัน เพื่อให้ทางวัดได้นำไปใช้ในการซ่อมแซมใส่แทนเสาไม้ของหอสวดมนต์เดิมที่ผุกร่อนจนบางต้นขาดออกจากฐานโคนเสาแล้ว
แต่ระหว่างที่กำลังทำการขุดเสา และพยายามที่จะลากเสาออกมาจากท้องร่องเดิม ซึ่งเป็นบ่อโคลนนั้น ได้ใช้รถบรรทุกสิบล้อมาดึงลากเพื่อที่จะนำขึ้นมาจากหลุม แต่เสาไม้ต้นนี้ไม่ยอมผุดขึ้นมา ทั้งที่เป็นดินโคลนอ่อน ๆ จนต้องใช้รถเครนเฮี๊ยบอีกคันมาช่วยกันลากจูงยกท่อนเสาเพื่อดึงขึ้นมาจากหลุม จนสำเร็จได้ในที่สุด โดยระหว่างที่กำลังจะยกขึ้นออกมาได้นั้น ตนได้จุดธูปบอกกล่าวต่อทางปู่ย่าผู้ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงบรรพบุรุษดั้งเดิมว่า จะขอนำเสาไม้ต้นนี้มาร่วมทำบุญกับทางวัด จึงอยากให้มาร่วมทำบุญด้วยกัน เสาไม้จึงยอมขึ้นมาจากหลุมได้ในที่สุด
โดยพบว่าเสายังคงมีสภาพดีอยู่และเนื้อไม้ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เต็มแน่นไปทั้งลำต้น โดยที่ยังไม่พบร่องรอยของการผุกร่อนเลย จึงอาจทำให้มีน้ำหนักมากจนยกไม่ขึ้น โดยหลังจากวัดความยาวแล้ว มีความยาวตลอดลำต้น 718 ซม. หรือประมาณ 7 เมตร 18 ซม. ซึ่งทางช่างไม้บอกว่าเป็นไม้เต็ง ซึ่งตนเองก็ยังไม่เคยเห็นความยาวจริงของเสาไม้ต้นนี้มาก่อน เพราะเกิดมาไม่ทันตอนที่ปู่และย่าใช้งานกังหันวิดน้ำเข้านา
ขณะที่ใต้โคนเสาที่หน้าตัดของไม้ท่อนนี้ ยังมีการตีตราเป็นตัวเลขไว้ด้วย ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเลขทะเบียนอะไร หรือเป็นเลขจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตให้ตัดทำไม้หรือไม่ แต่ชาวบ้านได้มีการถ่ายภาพส่งต่อกันภายในพื้นที่ ซึ่งเห็นเป็นเลข 50 และ 1293 และเชื่อว่าเสาไม้แบบนี้ไม่น่าจะมีหลงเหลืออยู่ในพื้นที่อีกแล้ว แต่ทางครอบครัวนั้นไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไร เพราะต้องการที่จะนำไปทำบุญ นายณรงค์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: