ฉะเชิงเทรา – ธรรมนัส เดินสายแจกเอกสารรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทำกิน ส.ป.ก.ชาวแปดริ้ว ก่อนลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าสถานีสูบน้ำบางสมบูรณ์พร้อมพบปะเกษตรกร ขณะผู้เลี้ยงปลากะพงโอดราคาตกต่ำสวนทางต้นทุนพุ่ง หลังปลาเพื่อนบ้านทะลักตัดราคาร่วง หวั่นวิถีอาชีพเปลี่ยนทั้งที่เคยสร้างชื่อเป็นแหล่งผลผลิตติดอันดับต้นของประเทศใกล้ถึงวันล่มสลาย
วันที่ 11 พ.ย.66 เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ห้องประชุมมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ชั้น 4 ศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทรา ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อมาตรวจราชการในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 70 ราย และรับฟังปัญหาจากเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงขาว
ข่าวน่าสนใจ:
- ปราจีนบุรี สาวแม่ลูกอ่อนผวา ช้างป่าพี่งาเดียว เดินในหมู่บ้านตอนเที่ยง
- เสน่ห์แสงสีชวนให้ผู้คนหลงใหล แสงไฟคริสต์มาสในสวนมรุพงษ์
- เลขา รมต.กระทรวงทรัพย์ฯ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาช้างป่า จ.ปราจีนบุรี
- เปิดสะพานข้ามแยกสระขวัญชั่วคราวช่วงเทศกาลปีใหม่ จ.สระแก้ว ส่วนเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอ่างฤาไนเปิดใช้เส้นทางช่วงกลางคืน
ก่อนเดินทางลงพื้นที่ไปติดตามความคืบหน้าสถานีสูบน้ำบางสมบูรณ์ บริเวณรอยต่อระหว่าง อ.องครักษ์ จ.นครนายก และ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และพบปะเกษตรกรอีก 200 ราย โดยมีนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมารอคอยต้อนรับ และเดินทางกลับไปโดยเฮลิคอปเตอร์ในเวลา 15.36 น.ที่ผ่านมา
ขณะที่ นายนรินทร์ นฤภัย อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1/5 ม.8 ต.บางกะไห อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงขาวจำนวน 13 บ่อบนพื้นที่ดิน 60 ไร่ ได้กล่าวถึงปัญหาของเกษตรกรในฐานะกรรมการบริหารสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ที่ได้เสนอให้ต่อทาง รมว.เกษตรฯ ให้ทราบถึงปัญหาและขอให้ทาง รมว.เกษตรฯ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงจากภาวะราคาปลาตกต่ำ เนื่องจากมีการนำเข้าปลามาจากประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย)
ที่ปลามีราคาถูกกว่ากันมาก จากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่แตกต่างกัน โดยมีการนำเข้ามาขายในราคาเพียง 70 บาทที่ตลาดหน้าแผงแม่ค้าในเมืองไทย ขณะที่ต้นทุนในการเลี้ยงของเกษตรกรในเมืองไทยอยู่ที่ กก.ละ 90-95 บาท จากราคาต้นทุนที่แพงกว่าเพื่อนบ้าน ทั้งด้านอาหารและพลังงาน แต่ต้องขายปลาในราคาเท่ากันกับประเทศเพื่อนบ้านคือ 60-80 บาทโดยประมาณ ส่งผลทำให้เกษตรกรขาดทุนทันทีประมาณ 30 บาทต่อ กก. และจำเป็นจะต้องขายหากไม่ขายและเลี้ยงต่อไปอีก จะยิ่งทำให้ขาดทุนเพิ่มขึ้นไปอีกจากราคาอาหารที่ปลากินต่อไปในแต่ละมื้อและจะเป็นการขาดทุนสะสมเพิ่มทวีมากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมาปลาจากเพื่อนบ้านเริ่มเข้ามาในเมืองไทยหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด ประมาณ 20-30 ตันต่อวัน และเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากเกษตรกรในประเทศเขามีการเลี้ยงกันเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่าตัวจากในช่วงปลายปี 2565-2566 จนทำให้มีปลาล้นเข้ามาในประเทศเราแบบไม่มีขีดจำกัดมากถึง 70-80 ตันต่อวันแล้วในขณะนี้ จากเดิมที่ปลาในประเทศเรานั้นขายกันที่ กก.ละ 120 บาท และราคาเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 100-105 บาท เกษตรกรก็ยังพออยู่ได้ แต่ขณะนี้ราคาตกต่ำเฉลี่ยขายได้เพียงแค่ 75 บาทต่อ กก.เท่านั้น
จากเดิมที่เราผลิตได้ภายในประเทศประมาณ 100-200 ตันต่อวัน ทำให้คนซื้อคนขายผู้บริโภคพอดีกันเป็นปกติ แต่เมื่อมีปลาจากมาเลเซียเข้ามามากถึงวันละ 60-70 ตันจึงส่งผลกระทบทำให้ปลาล้นตลาดและราคาของเขายังถูกกว่าเราด้วย จึงทำให้คนกินพากันหันไปซื้อของที่ถูกกว่า ทำให้ปลาของเราต้องถูกลงตามและทำให้ราคาตกต่ำลงมามากอยู่ในขณะนี้ หากสถานการณ์ในอนาคตต่อไปยังไม่ดีขึ้นก็อาจเป็นการทำลายอาชีพของผู้เลี้ยงปลากะพงไทยให้ล่มสลายลง จนต้องเปลี่ยนอาชีพ ขายที่ดินจากการการขาดทุนไปใช้หนี้สิน
โดยอาชีพเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวนั้น ถือเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ทำกันมานานตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ และเคยเป็นแหล่งผลิตปลากกะพงขาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีอาจต้องสูญสลายลงไป โดยในปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงใน จ.ฉะเชิงเทรา ตามที่แจ้งจดประมาณ 600-700 ราย และส่วนที่ไม่แจ้งจดอีกประมาณ 1,400 ราย จึงได้เข้ามานำเสนอปัญหาให้ รมว.เกษตรฯ ทราบและนำไปช่วยหาทางแก้ไข นายนรินทร์ กล่าว
ขณะที่นายธนพล แย้มเกสร อายุ 50 ปี เกษตรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงจำนวน 15 บ่อบนเนื้อที่ 36 ไร่ ชาว ต.บางกะไห กล่าวว่า สำหรับต้นทุนการเลี้ยงปลากะพงขาวของไทยที่แพงกว่ามาเลเซียนั้น สืบเนื่องมาจากราคาอาหารปลาของเราที่แพงจากวัตถุดิบในการนำมาผลิตอาหารภายในประเทศ ที่มีราคาสูงมากกว่าเพื่อนบ้าน ขณะที่ปลามาเลเซียนั้นส่วนใหญ่กินอาหารจากเวียดนามจึงทำให้ต้นทุนด้านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิต 70-80 เปอร์เซ็นต์ถูกว่าของประเทศเรา
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านราคาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าในประเทศเรานั้นค่อนข้างแพง ขณะที่ภาคการเกษตรเพาะเลี้ยงปลากะพงนั้นต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก หรือจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 10-20 ของการผลิต ที่ทำให้ต้นทุนการเกษตรของเรายังแพงอยู่ จึงสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ เพราะมีต้นทุนที่ต่างกัน จึงอยากถามหน่วยงานภาครัฐว่าทำไมค่าไฟฟ้าถึงมีราคาแพง และอยากฝากบอกให้ทางการไฟฟ้าช่วยดูแลในภาคการเกษตรบ้าง นายธนพล กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: