ฉะเชิงเทรา – โลมาหลงน้ำ ลอยอืดตายในลำน้ำบางปะกง ซ้ำรอยเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ที่พากันหลงเข้ามาลอยตายเกือบยกฝูง หลังว่ายทวนขึ้นไปไกลนับร้อย กม. จนถึงยังลำน้ำตอนในที่คับแคบ ด้านบนแหล่งต้นน้ำพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ทำว่ายหาทางกลับปากอ่าวไม่เจอ ขณะ จนท.ระบุซากที่พบเป็นเพศผู้วัยประมาณ 20-30 ปีตายมาแล้ว 2 วัน
วันที่ 19 ม.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวบ้านพบซากโลมาที่ตายแล้วลอยมาติดอยู่ที่โป๊ะบริเวณไซด์งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ถนนสาย 365 เลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา โดยมีทีมสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ซึงนำโดย น.ส.ชลาทิพ จันทร์ชมภู ผอ.ศูนย์วิจัยฯ เดินทางเข้ามาตรวจสอบซาก
โดยได้ทำการลากจูงซากนำมาขึ้นฝั่งที่บริเวณสวนมรุพงษ์ริมลำน้ำในตัวเมืองฉะเชิงเทรา ก่อนระบุว่าซากโลมาที่พบตายในลำน้ำบางปะกง และเข้ามาลึกจากปากอ่าวประมาณ 65 กม. ตัวนี้ เป็นซากโลมาเพศผู้โตเต็มวัยแล้ว ความยาวตลอดลำตัว 2.39 ม. อายุประมาณ 20-30 ปี โดยเป็นสายพันธุ์ปากขวดอินโดแปซิฟิก (Indo – Pacific bottlenose dclphin) และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Tursiops aduncus ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับโลมาปากขวดธรรมดา (T. truncates) ที่มีผิวหนังสีน้ำเงินเข้มอมเทาจาง หรือบางครั้งมีสีอมชมพูที่ด้านหน้าท้อง
โดยคาดว่าโลมาตัวที่พบนี้ตายมาแล้วประมาณ 2 วัน จากไทม์ไลน์ที่มีผู้พบเห็นว่ามีโลมาหลงเข้ามาในลำน้ำ และโผล่ขึ้นมาให้คนเห็นที่บริเวณท่าน้าวัดสนามจันทร์ ในพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.67 และต่อมาได้มีผู้พบเห็นโลมาโผล่จากน้ำให้เห็นอีก ที่บริเวณด้านหน้าโรงแรมซันธาราเวลเนสรีสอร์ทแอนด์โฮเต็ล ในพื้นที่ ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนที่จะมาพบว่ากลายเป็นซากของโลมาไปแล้วในวันนี้
หลังการตรวจสอบตามลำตัวพบว่าซากเริ่มมีสภาพเน่าเปื่อย และส่งกลิ่นเหม็นเน่าแล้ว ผิวหนังด้านซ้ายถูกแดดเผาจนเริ่มแห้งไหม้บางส่วน โดยทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง อ.บางปะกง ได้ทำการเก็บซากและเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายอีกครั้งต่อไป
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพบซากโลมาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ที่โลมาได้ห่างหายไปจากลำน้ำบางปะกง หลังจากเคยหลงเข้ามาตายเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีผู้พบซากลอยตายในลำน้ำแล้วไม่น้อยกว่า 5-6 ตัว ทั้งในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และยังขึ้นไปลอยตายไกลจนถึงยังในเขตพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ใกล้กับแหล่งต้นน้ำบางปะกงเมื่อช่วงประมาณปี 2548
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลังจากมีการพบโลมาเข้ามาแหวกว่ายหากินไล่งับปลาดุกทะเลที่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง เมื่อประมาณปี 2543 จนเป็นที่ฮือฮาและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากที่พากันแห่เดินทางเข้ามาเที่ยวชมโลมากันอย่างคึกคัก ที่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง โดยมีทั้งโลมาหัวบาตรอิรวดี โลมาปากขวด และโลมาเผือกตัวสีขาวอมชมพู จนทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการออกเรือรับจ้างพาเที่ยวชมโลมากันอย่างคึกคัก
ด้วยการดัดแปลงเรือประมงให้กลายมาเป็นเรือพาเที่ยวชมโลมาไม่น้อยกว่า 50-60 ลำ ก่อนที่จะพบว่าฝูงโลมาบางส่วนได้หลงน้ำเข้ามาจนถึงภายในลำน้ำบางปะกงตอนใน และมาโผล่แหวกว่ายให้ผู้คนจำนวนมากได้เห็นกันที่บริเวณกลางลำน้ำริมสวนมรุพงษ์ด้านหน้า รพ.พุทธโสธร โดยโลมาได้ม้วนตัวโผล่พ้นน้ำให้เห็นพร้อมกันถึง 4 ตัว จนทำให้ทางเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ถึงกับได้มีการอนุมัติงบประมาณในสร้างรูปปั้นโลมาที่กำลังกระโจนม้วนตัวขึ้นมาเหนือผิวน้ำไว้เป็นสัญลักษณ์ จำนวน 4 ตัว และยังคงมีอยู่ให้เห็นมาจนถึงทุกวันนี้
แต่หลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหลายเหตุการณ์ หลังจากได้มีผู้คนพบเห็นซากโลมา ที่เข้ามาลึกจากชายฝั่งมากจนถึงกลางลำน้ำในแม่น้ำบางปะกงตอนในได้พากันทยอยตายลงเป็นจำนวนมากหลายตัวในหลายพื้นที่เป็นระยะไปตลอดแนวลำน้ำ จนถึงในพื้นที่เลยจากเขต อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีระยะทางที่เลี้ยวลดไปตามลำน้ำไกลออกจากปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงหลายร้อย กม.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: