X
มาดูถึงที่

อนุเชื่อมโยงประโยชน์ชุมชน รองเลขาอีอีซี ลงดูการอยู่ร่วมกันของชาวบ้านและนิคมอุตฯ

ฉะเชิงเทรา – คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่การพัฒนาพื้นที่และชุมชน พร้อมรองเลขาอีอีซี ลงดูความร่วมมือในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ระหว่างชาวบ้านและนิคมอุตสาหกรรมที่เข้ามาก่อตั้งในพื้นที่ หลังภาคเอกชนช่วยผลักดันต้นทุนทางภูมิปัญญาตามวิถีดั้งเดิม สู่การพัฒนาเป็นอาชีพสมัยใหม่ให้ก้าวทันต่อยุคที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดเป็นมูลค่าทำรายได้กลับคืนสู่ชุมชน

วันที่ 29 มี.ค.67 เวลา 09.30 – 12.30 น. ที่บริเวณทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน ภายในนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา รศ.ดร.มณฑล แก่นมณี ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่การพัฒนาพื้นที่และชุมชน พร้อมด้วย นายธนาคม จงจิระ (อดีตอธิบดีกรมการปกครอง) รองประธานอนุกรรมการฯ นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสานงานพื้นที่และชุมชน สำนักงาน อีอีซี และคณะกว่า 20 คน

รศ.ดร.มณฑล แก่นมณี

ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อมาดูความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและนิคมอุตสาหกรรม ที่เข้ามาก่อตั้งในพื้นที่ หลังจากที่เคยมีความขัดแย้งต่อต้านกันมาในอดีต กลับเปลี่ยนมาเป็นพันธมิตรและมีการให้ความร่วมมือกันในการพัฒนาพื้นที่ เกิดเป็นอาชีพจากต้นทุนทางภูมิปัญญาดั้งเดิมให้เกิดมูลค่า และอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขให้เห็นด้วยตา เพื่อนำไปรายงานต่อนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ในพื้นที่เคยขัดแย้งดั้งเดิมของชุมชนแห่งนี้

สบู่สมุนไพรจากป่าชายเลน

โดย น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ ได้กล่าวถึงหลักการทำงานร่วมกับชุมชนต่อทางคณะอนุกรรมการ และรองเลขา อีอีซีว่า ชื่อนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ หมายถึงธุรกิจสีฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่คนในสังคมทุกชนชั้น และในส่วนของสังคมชุมชนท้องถิ่นนั้น เราได้มุ่งมั่นสร้างการอยู่ร่วมกันของอุตสาหกรรมกับชุมชนที่ต้องใช้ใจทำงาน โดยใช้ใจแลกใจด้วยรูปแบบ “5ก.โมเดล”

ผลิตภัณฑ์เชิงอัตลักษณ์

คือ “เกียรติ” ในการให้เกียรติซึ่งกันและกัน นำไปสู่การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อชาวบ้านมีปัญหาจึงละเลยอยู่เฉยไม่ได้ ทำให้เกิดโครงการหมู่บ้านบลูเทคแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวบ้านมีบ้านเป็นของตนเอง และมีเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเกิดขึ้น “กล้า” ที่ต้องมีหัวใจกล้าหาญกล้าคิดกล้าทำ กล้านำกล้าเปลี่ยน ที่นำไปสู่การเกิดโครงการทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีใครกล้าคิดกล้าทำในเชิงพาณิชย์มาก่อน

แต่มาถึงวันนี้ได้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานทั้งเวชสำอางและผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติด้วยสมุนไพรป่าชายเลน “แก้ไข” คือ การสร้าวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นนักแปรปัญหาเป็นปัญญามองหาโอกาสมากกว่าจำกัด “แกร่ง” การมีหัวใจภายในที่กล้าแกร่งอดทนต่ออุปสรรคและปัญหา “กตัญญู” คือ การมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและแผ่นดินไทย น.ส.กุลพรภัสร์ ระบุ

ผ่ามัดย้อมจากพืชสมุนไพร

ขณะที่ นางธัญรัตน์ รองเลขาอีอีซี กล่าวชื่นชมต่อการเข้ามาอยู่ร่วมและช่วยพัฒนาพื้นที่ของนิคมฯ แห่งนี้ว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและดึงความร่วมมือของชุมชนออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และมีการพัฒนาด้านอาชีพให้แก่ชาว ต.เขาดิน ของทางนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้นั้น ตรงกับนโยบายของทางอีอีซี ที่มุ่งเน้นในการเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนมาสู่ชุมชน โดยภารกิจหลักของอีอีซีคือการผลักดันการลงทุน แต่จะเกิดความยั่งยืนได้อย่างไรหากรากหญ้าประชาชนไม่เติบโตไปพร้อมกัน

ในวันนี้ถือว่าที่แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งโรลโมเดล (role model) ในการเชื่อมโยงประโยชน์สู่ชุมชนรากหญ้า และเป็นอีกหนึ่งโรลโมเดลที่เคยเกิดความขัดแย้งในตอนแรก จากที่ทุกคนเคยผ่านอดีตมาเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ที่เคยเกิดปัญหาด้านสิ่งต่างๆในสิ่งแวดล้อม ที่อาจเคยเกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม  จึงเป็นเรื่องของเค้าเจอร์ช็อค (Culture Shock) ที่จะมีเกิดขึ้นบ้างเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

มาดูให้เห็นด้วยตา

ขณะที่ทางอีอีซีนั้นเป็นหน่วยงานที่มี พ.ร.บ.ในการเข้ามาอย่างชัดเจน เพื่อมาช่วยบูรณาการหน่วยงานต่างๆ โดยที่ไม่ได้เข้ามาทำแทนใครแต่เป็นการดึงทุกหน่วยงานมาร่วมกันทำงาน สถานที่นี้จึงถือเป็นโรลโมเดล จึงเป็นที่มาของการที่มีดำริของประธานและอนุกรรมการ ในการเข้ามาดูว่าการอยู่ด้วยกันจากเดิมที่เคยขัดแย้ง แต่สุดท้ายมารักกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกันทำให้มีรายได้ ที่ไม่ใช่การทำ CSR ดูแลสิ่งแวดล้อมเก็บขยะ แต่เป็นการทำให้รากหญ้าประชาชนโดยรอบมีรายได้ ได้อย่างไร จึงเป็นสิ่งที่ทางคณะฯ อยากจะมาเห็น นางธัญรัตน์ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.มณฑล กล่าวว่า สาระสำคัญของคณะอนุกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.66 ที่ผ่านมารวม 4 คณะ ประกอบด้วย อนุฯ ฝ่ายกฎหมาย เรื่องทุนมนุษย์ และชุดที่ 3 คือ ชุดที่เดินทางมานี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ที่กำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ต้องการให้ อีอีซี ได้บรรลุพันธกิจ ที่จะเชื่อมโยงผลประโยชน์จากการลงทุนสู่พื้นที่และชุมชน

แปรรูปสร้างมูลค่า

จากการเข้ามาเยี่ยมชมในวันนี้ ได้เห็นผลงานจากการที่คนในชุมชน ต.เขาดิน ได้ทำงานร่วมกับนิคมฯ บลูเทคซิตี้ ในวันนี้น่าจะมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลที่ดีต่อไปในภายภาคหน้า จึงขอชื่นชมวิสัยทัศน์ ของประธานกรรมการบริหารนิคมฯ แห่งนี้ ที่ได้ช่วยผลักดันและทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านและ อบต. สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเป็นการรวมกันของฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการเมือง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ทำงานร่วมกัน ทำให้ทุกอย่างเกิดเป็นการพัฒนา

โดยทุกอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ย่อมมีภาพทั้งที่ดีและไม่ดีเสมอ แต่ล้วนมีเป้าหมายเหมือนกัน คือ การยกระดับให้อยู่ดีกินดีของประชาชน ของบุคลากรในประเทศให้ดีขึ้น เป็นวิสัยทัศน์ใหม่ที่ต้องมีการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน อะไรที่เป็นปัญหาเป็นอุปสรรคต่างๆ ในส่วนที่จะให้ทางฝ่ายบริหารได้ช่วยแก้ไขรับทราบ ทางเราก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง

คณะอนุ มาดูงาน

โดยจะนำสิ่งที่ได้ในวันนี้ไปสรุปและรายงานให้ทางรองนายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป และดูว่าจะขับเคลื่อนสนับสนุนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่อไปในอนาคตอย่างไร จึงอยากให้มีการทำ KM หรือกระบวนการเรียนรู้ไว้ เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำในเรื่องของการทำงานร่วมกับชุมชนในอนาคตต่อไป รศ.ดร.มณฑล กล่าว

ส่วนด้าน พ.จ.อ.ณรงค์ นกอิ่ม ปลัด อบต.เขาดิน ตัวแทนฝ่ายท้องถิ่น กล่าวว่า หลังจากนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ได้เข้ามาก่อตั้ง ทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ มีการปรับขยายเส้นทางทำให้การเดินทางสะดวกสบาย ทำให้การท่องเที่ยววัดเขาดินซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมีนักท่องเที่ยวเดินทางอย่างสะดวกเข้ามามากขึ้น พ.จ.อ.ณรงค์ กล่าว

ตัวแทนท้องถิ่น

ขณะที่นายกิตติทัศน์ ประเสริฐศรี ผู้ใหญ่ ม.5 ต.เขาดิน กล่าวว่า สิ่งที่ชาวเขาดินได้รับ คือการได้ความจริงใจจากนิคมฯ บลูเทค ทั้งการได้รับความช่วยเหลือในเรื่องของความเดือดร้อนของชุมชน ทั้งด้านที่อยู่อาศัย และการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ตลอดจนการสนับสนุนด้านการศึกษา ศาสนา โดยเฉพาะวัดเขาดินซึ่งเป็นวัดเพียงแห่งเดียวในตำบล ที่ได้รับการสนับสนุนในทุกด้านที่ร้องขอ นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่จะได้รับต่อไปในอนาคต ที่จะได้เห็น คือ การพัฒนาอาชีพสร้างอัตลักษณ์ โดยการใช้วัตถุดิบในพื้นที่

จากเดิมที่คนในชุมชนมองไม่ออกว่าสิ่งที่เราเคยมีเคยทำอยู่นั้น สามารถสร้างมูลค่าได้ สร้างเป็นอาชีพได้ ทำทดแทนอาชีพเกษตรกรรมแบบเดิมได้ จากที่เคยทำแบบไม่มีฐานความรู้ทางวิชาการสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ จนเกิดปัญหาหนี้สินมาโดยตลอด จึงมีความคาดหวังว่าความร่วมมือในการพัฒนาอาชีพกับนิคมฯแห่งนี้ จะทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนและมองไปข้างหน้าว่า ชุมชนเขาดินอาจจะเป็นชุมชนที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาต่อไปได้ นายกิตติทัศน์ กล่าว

สินค้าสมุนไพรเหงือกปลาหมอ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน