ฉะเชิงเทรา – อุตสาหกรรมขนาดใหญ่รุกเต็มพื้นที่ ทำรถมากถนนทรุด นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา วอนนายทุนผู้มาประกอบกิจการในพื้นที่ ช่วยจ่ายภาษี VAT คืนผลกำไรกลับมาให้ชาวแปดริ้วพัฒนาซ่อมแซมสาธารณูปโภคในท้องถิ่นบ้าง โอดเป็นเมืองหนึ่งใน 3 เขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แต่มีงบประมาณรายปีแค่เพียง 943 ล้านบาท ขณะจังหวัดข้างเคียงอู้ฟู่โกยงบได้มากถึงกว่า 4-5 พันล้านบาทต่อปี
วันที่ 3 เม.ย.67 เวลา 10.00 น. ที่บริเวณเชิงสะพานบ้านคลองเปรง ม.12 ต.คลองเปรง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมคณะและหน่วยงานกองช่าง อบจ. ได้เดินทางลงพื้นที่มาสำรวจความเสียหายของคอสะพานข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ที่เกิดการทรุดตัวชำรุดเสียหายจนทำให้ชาวบ้านและผู้ใช้เส้นทางเดินทางผ่านด้วยความยากลำบากเมื่อช่วง 2 วันที่ผ่านมา หลังมีการร้องเรียนถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นไปยังสำนักงาน อบจ.ฉะเชิงเทรา
ข่าวน่าสนใจ:
โดยนายกิตติ กล่าวว่า ถนนสายนี้ (ฉช.ถ.1-0002) ทาง อบจ.ได้รับการถ่ายโอนมาจาก สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช. ฉช.3014) มาตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2545 เมื่อสมัยนายก อบจ.คนเก่ารวมระยะทาง 13.5 กม. โดยสะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 จึงมีสภาพชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลาหลังถูกใช้งานมานานถึงกว่า 40 ปี จนทำให้เกิดการทรุดตัวขึ้นที่คอสะพานเนื่องจากมีรถขับผ่านเส้นทางเป็นจำนวนมากในแต่ละวันโดยเฉพาะรถบรรทุกน้ำหนักมาก
เนื่องจากเส้นทางสายนี้เป็นถนนที่ตัดเชื่อมต่อมาจากถนนสุวินทวงศ์ ไปยังถนนสายเทพรัตน (บางนา-ตราด) และยังเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังเขตลาดกระบัง อ่อนนุช รวมถึงยังมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งใหม่ คือ นิคมอุตนสาหกรรมเอเชีย ทางด้านฝั่ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยหากจะทำการก่อสร้างสะพานใหม่ขึ้นมาทดแทนนั้น ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวน 70 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดการทรุดตัวขึ้นมาก่อน
จึงเป็นเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องจัดหาเงินหรือขอเงินงบบูรณาการ (ก.บ.ก) จากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) ภายใต้แผนขอรับการสนับสนุนงบประมาณปฏิบัติราชการประจำปี 2568 ผ่านกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 67,944,000 บาท มาทำการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทดแทน และระหว่างนี้จะนำเงินงบประมาณสะสมมาทำการซ่อมแซมให้ประชาชนและผู้ใช้เส้นทางสามารถเดินทางผ่านข้ามสะพานไปได้ก่อน
และหากมีงบประมาณในปีต่อๆ ไป จึงจะได้จัดสรรงบประมาณมาทำการก่อสร้างสะพานใหม่ทดแทนต่อไป แต่ อบจ.ฉะเชิงเทรา นั้นมีงบประมาณเพียงปีละ 943 ล้านบาท ทั้งที่เป็นหนึ่งในจังหวัดเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ผิดไปจาก จ.ชลบุรี ที่มีงบประมาณมากถึงปีละกว่า 5 พันล้านบาท และระยอง กว่า 4 พันล้านบาท โดยปัญหาการจัดเก็บรายได้ของ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ที่เข้ามาก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์นั้น มีการจดทะเบียนที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดอื่น เช่น กรุงเทพ หรือสมุทรปราการ
จึงไม่ได้มีการจ่ายภาษี VAT ให้กับหน่วยงานในท้องถิ่น จ.ฉะเชิงเทรา ในขณะที่ทาง อบจ.ฉะเชิงเทรา ต้องดูแลด้านสาธารณูปโภค ขยะ และสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยที่ยังจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการได้เท่าเดิม จึงไม่เพียงพอที่จะนำมาจัดสรรใช้จ่ายซ่อมบำรุงเส้นทางสาธารณูประโภคต่างๆ ที่มีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นจนเกิดการชำรุดทรุดโทรม และพังเสียหายอยู่ในขณะนี้ จึงอยากวิงวอนให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาทำธุรกิจอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา ช่วยกันหันมาจ่ายภาษีให้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วย นายกิตติ กล่าว
ด้านนายมนฑล นฤภัย รองนายก อบต.คลองเปรง กล่าวว่า เดิมถนนสายนี้เป็นเพียงถนนดิน ต่อมาในปี 2523 ทาง รพช.ได้รับมอบให้เข้ามาพัฒนาก่อสร้างให้เป็นถนนลูกรังและลาดยางตามลำดับ โดยมีการสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลองเพื่อให้ประชาชนเดินทางไปมาโดยสะดวก แต่ต่อมาได้มีผู้ประกอบการเข้ามาก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณนี้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังถูกใช้เป็นเส้นทางลัดเดินทางข้ามไปยังฝั่ง จ.สมุทรปราการ ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชียตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม ไปสนามบินสุวรรณภูมิ ไปลาดกระบังและถนนบางนา-ตราด ไปชลบุรี
จึงทำให้ปัจจุบันมีปริมาณรถผ่านเข้ามาใช้เส้นทางหนาแน่นเป็นจำนวนมาก ถึงวันละกว่า 1 หมื่นคันโดยเฉพาะรถบรรทุกหนักที่ขนถ่ายสินค้าเดินทางเข้ามายังโรงงานและโกดังสินค้าในพื้นที่ และไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ จนทำให้ถนนทรุดตัวที่บริเวณคอสะพานและมีเหล็กเส้นโผล่ออกมาบนพื้นผิวการจราจร เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา โดยทาง อบต.นั้นทำได้เพียงนำยางแอสฟัลท์ติกแบบบรรจุถุงมาอุตกลบรอยแตกร้าวที่ทรุดตัวลง เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้ไปก่อน เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด และได้ร้องขอแจ้งไปยังทาง อบจ.ให้เข้ามาหาทางดำเนินการแก้ไขต่อไป นายมนฑล กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: