ฉะเชิงเทรา – ทำนบดินในโครงการขยายสถานีสูบน้ำปากคลองประเวศบุรีรมย์พังถล่ม หลังน้ำทะเลหนุนสูงทำน้ำเค็มทะลักลุกเข้ามาไกลถึงกว่า 20 กม. ขณะชลประทานเร่งไล่ปิดบล็อกลดบานประตูสกัดวุ่น ยอมรับกระทบผู้ใช้น้ำในลำคลองสาขาทั่วพื้นที่ในช่วงต้นทางทั้งหมดที่ไม่มี ปตร.สกัด ยันพร้อมเร่งสูบระบายออกทิ้งสู่บางปะกงทันที หากผู้รับเหมากู้คืนทำนบดินกลับมาได้
วันที่ 9 เม.ย.67 เวลา 19.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดเหตุทำนบดินในพื้นที่โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าถั่ว ซึ่งอยู่ใกล้กับปากคลองประเวศบุรีรมย์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา พังทลายลง จนทำให้น้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง ซึ่งขณะนี้มีค่าความเค็มสูงถึงกว่า 25 กรัมต่อลิตรไหลทะลักเข้าไปยังภายในลำคลองประเวศฯ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ กทม. และคลองสาขาอีกจำนวนมากที่ต้องการใช้น้ำจืด
ซึ่งทำนบดินกั้นขวางลำคลองดังกล่าวนี้มี 2 ชั้น โดยทางด้านฝั่งเชื่อมกับแม่น้ำบางปะกงนั้น เป็นแนวคันทำนบเดิมของประตูระบายน้ำเก่า ที่กำลังมีผู้รับเหมาเข้ามาทำการขุดขยายจากขนาดการระบายน้ำ 36 ลบม.ต่อวินาทีเป็น 60 ลบม.ต่อวินาที จึงได้มีการขุดดินเป็นหลุมลึกลงไป เพื่อเปิดเป็นบ่อก่อสร้าง ส่วนคันดินด้านหลังไซด์งาน ซึ่งเป็นคันกั้นน้ำจืดจากภายในคลองประเวศฯ เพื่อไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกงนั้นได้พังทลายตามกันลงไปด้วย ตามแรงดันของน้ำในเวลาไล่เลี่ยกัน
ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้นทราบว่าเป็นช่วงภาวะน้ำทะเลหนุนขึ้นสูงภายในลำน้ำบางปะกง เมื่อช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดการพังทะลายลงของคันกั้นน้ำทั้ง 2 ชั้น และกลายเป็นน้ำตกไหลบ่ากลางลำน้ำขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 60 เมตรในทันที ตามแรงการไหลของกระแสน้ำเค็มที่พุ่งทะลักเข้าไปยังภายในลำคลองประเวศบุรีรมย์
ต่อมา เมื่อเวลา 21.40 น. นายณัฐวุฒิ สินธุวงษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบประตูระบายน้ำแห่งนี้ ได้มีการประกาศแจ้งเตือนไปยังประชาชนผู้ใช้น้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสาขา ให้งดทำการสูบใช้น้ำที่มีค่าความเค็มสูงในขณะนี้ และระหว่างนี้ทาง หจก.สามประสิทธิ์ ผู้รับจ้างงานกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาในการปิดกั้นทำนบดินชั่วคราวให้กลับคืนมาใช้งานให้ได้ภายในคืนนี้ ซึ่งหากมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไป
และยังได้เปิดเผยถึงสาเหตุของการพังทลายลงของทำนบดินต่อผู้สื่อข่าวว่า โครงการนี้เป็นงานจ้างเหมาก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างของผู้รับเหมา ที่ได้มีการทำทำนบดินและมีการขุดดินในบ่อก่อสร้าง แต่มีการขุดดินในบ่อก่อสร้างในปริมาณที่มากเกินไป ตามที่ได้รับแจ้งจึงทำให้ทำนบขาดความแข็งแรงมั่นคง จนเกิดรอยแตกของทำนบดินที่กั้นระหว่างคลองที่จะออกสู่แม่น้ำบางปะกง ซึ่งได้รับอิทธิพลของระดับน้ำที่ขึ้นลงในแม่น้ำ
และเมื่อน้ำขึ้นจึงเกิดการทะลักผ่านรอยแตกร้าวของทำนบ ที่มีรอยแยกจากการขุดดินที่มากเกินไปของผู้รับเหมา จนขาดความแข็งแรงและทำให้น้ำทะลักเซาะผ่านตัวทำนบนี้เข้าไปยังในคลองประเวศฯ ด้านใน ซึ่งขณะนี้รู้ปัญหาแล้วและระดับน้ำทะเลเริ่มลดลง จึงจะใช้จังหวะนี้ในการซ่อมแซมแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาพในการบล็อกทำนบให้อยู่ก่อน จากนั้นจึงจะไปเสริมสร้างความแข็งแรงของทำนบให้มั่นคงแข็งแรงต่อไป
จากนั้นในลำดับต่อไป จึงจะพยายามที่จะเอาน้ำเค็มที่ทะลักเข้าไปยังภายในลำคลองออกมาให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลากี่วัน จึงขอให้ผู้ใช้น้ำงดใช้น้ำในช่วงนี้ไปก่อน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้น้ำในการเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาที่ยังเป็นผู้ใช้น้ำหลัก ส่วนนาข้าวนั้นส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวผลผลิตกันหมดแล้ว โดยปริมาณน้ำเค็มที่ทะลักเข้าไปยังภายในนั้น ไม่สามารถที่จะประเมินปริมาณได้ แต่ทางเราได้พยายามที่จะปิดกั้นลงบานประตู ที่ประตูระบายน้ำใน ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ไว้แล้ว
เพื่อสกัดกั้นไม่ให้น้ำเค็มเข้าลึกไปจนถึงชั้นในมากเกินไป แต่อาจจะมีบ้างที่นำเค็มได้ไหลเข้าไปแล้วในลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับคลองประเวศบุรีรมย์ เช่น คลองขุนพิทักษ์ คลองแขวงกลั่น คลองลัดยายหรั่ง ใน อ.บ้านโพธิ์ คลองเปรง คลองอุดมชลจร อ.เมืองฉะเชิงเทรา คลองพระยาสมุทร คลองพระยานาคราช คลองกระแชงเตย อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ หรืออาจไปไกลถึงคลองสำโรงใน อ.บางปะกง หรือไม่นั้น ต้องติดตามวัดผลในวันพรุ่งนี้
โดยระดับความเค็มของน้ำที่ทะลักเข้าไปในครั้งนี้ จากการตรวจวัดเมื่อช่วงเช้า (9 เม.ย.67) ได้ 25 กรัมต่อลิตร ซึ่งการควบคุมค่าความเค็มภายในลำคลองประเวศฯ และสาขานั้น จะพยายามไม่ให้เกินกว่า 1 กรัมต่อลิตรที่จะสามารถใช้ในภาคเกษตรได้ แต่ในวันนี้ถือว่าน้ำเค็มเข้าไปมากแล้ว จึงต้องพยายามที่จะผลักดันให้กลับออกไปสู่แม่น้ำบางปะกง โดยในขณะนี้ยังไม่สามารถคาดคะเนได้ว่า น้ำเค็มได้เข้าไปมากเท่าใด แต่หลังเกิดเหตุการณ์พังทลายของทำนบ จนเริ่มเข้าสู่ภาวะน้ำลงนั้นประมาณ 3 ชม.
สำหรับสถานีระบายน้ำแห่งนี้ เป็นโครงการที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการรองรับการระบายน้ำเป็นหลัก ทั้งน้ำจากปริมาณฝนในพื้นที่และน้ำจากทางภาคเหนือไหลหลาก รวมถึงน้ำจากทาง กทม.ด้วย เนื่องจากพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นตอนล่างสุดที่จะออกสู่อ่าวไทย ที่จะต้องระบายน้ำให้เร็วที่สุด และพร่องน้ำไว้รอ สถานีนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่จะพยายามเอาน้ำออกสู่แม่น้ำบางปะกงให้ได้อย่างรวดเร็ว
สาเหตุที่ต้องมีสถานีสูบน้ำแห่งนี้ เนื่องจากแม่น้ำบางปะกงนั้นมีอิทธิพลขึ้นลง จึงไม่สามารถที่จะเปิดประตูระบายน้ำไว้ได้ตลอดเวลา เมื่อน้ำขึ้นเราจึงต้องปิดประตูเพื่อทำการสูบออก เมื่อน้ำลงจึงเปิดระบาย จึงได้มีโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่มีอัตราการสูบระบาย 36 ลบม.ต่อวินาทีเป็น 60 ลบม.ต่อวินาที นายณัฐวุฒิ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: