ฉะเชิงเทรา – เขื่อนแตก น้ำทะเลทะลักกระทบนิเวศปลาลอยตายในคลองประเวศบุรีรมย์ทุกหย่อมหญ้าระยะ 8 กม. ขณะผักตบชวาเคลื่อนตัวขวางคลองตามกระแสน้ำพัดพา ส่วนปลาชะโดเลิกตีแปลงตะกายหนีน้ำเค็มขึ้นที่สูง ด้านชาวบ้านท้องถิ่นเริ่มลุยจับปรุงอาหาร ขณะ อปท. ต้นทางขยับใช้เรือลุยตัดกำจัดทิ้งวัชพืชที่ไหลมากองรวมกันอย่างหนาแน่น
วันที่ 10 เม.ย.67 เวลา 17.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าที่บริเวณหน้าวัดประเวศวัฒนาราม ม.3 ต.คลองประเวศ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา มีปลาน้ำจืดเริ่มทยอยตายเป็นจำนวนมาก หลังจากเขื่อนดินหรือทำนบดินปิดกั้นน้ำเค็มบริเวณประตูระบายน้ำท่าถั่ว พื้นที่ ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ เกิดการพังทลายลง หลังจากผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทำการขุดเปิดพื้นที่เพื่อสร้างบ่อก่อสร้างและตอกเสาเข็ม ประกอบกับมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูงจึงทำให้เกิดการจัดเซาะพังทลายลงตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา (19.30 น.)
นอกจากนี้ยังมีผักตบชวาที่อยู่ภายในลำคลองตามรายทางตลอดระยะทางกว่า 3 กม. จากจุดเกิดเหตุได้ถูกกระแสน้ำเค็มพัดลอยมาติดสะสมรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณเสาใต้สะพานไม้ข้ามคลองโบราณของชุมชนซึ่งเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในพื้นที่ ต.คลองประเวศ ที่ชาวบ้านใช้ข้ามคลองจากฝั่งตรงข้ามมายังวัดประเวศฯ จนทำให้ นายรุ่ง ทองเกตุแก้ว นายก อบต.คลองประเวศ ได้เร่งสั่งการให้กองช่าง อบต. นำเรือตัดหญ้าเข้ามาดำเนินการตัดทำลายผักตบชวาทิ้ง เนื่องจากหวั่นเกรงว่าสะพานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ของชุมชน จะได้รับความเสียหาย
ส่วนปลาน้ำจืดที่ลอยตายบางส่วนเริ่มเน่าเหม็น ขณะบางส่วนยังอยู่ในภาวะช็อกน้ำดิ้นทุรนทุราย ได้ถูกชาวบ้านจับนำไปปรุงอาหาร นอกจากนี้ยังมีปลาชะโดอีกจำนวนมากต่างพากันกระเสือกกะสนขึ้นสู่ที่สูงเหนือกอหญ้าและผักตบชวา เพื่อหนีให้พ้นพิษน้ำเค็ม จึงทำให้ชาวบ้านบาง่ส่วนสามารถเข้ามาจับตัวไว้ได้ เนื่องจากปลาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มเหล่านี้อยู่ในภาวะอ่อนแรง
ขณะที่ นายณัฐวุฒิ สินธุวงษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ได้กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด หลังจากเขื่อนดินแตกซ้ำสอง เมื่อเวลา 20.30 น. วันนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์น้ำทะเลไหลทะลักเข้ามายังภายในลำคลองประเวศได้ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ภาวะน้ำขึ้นอีกครั้งแล้ว ทำให้มีเวลาในการทำงานน้อย โดยในวันนี้จึงทำได้เพียงการกรอกทรายเข้าถุงบิ๊กแบ็ค และรอให้ระดับน้ำหนุนลดลงเพื่อที่จะวางถุงบิ๊กแบ็คต่อไป โดยในวันนี้จะมีระดับน้ำขึ้นสูงสุดมากกว่าเมื่อวานอีกประมาณ 6 ซม.
ส่วนการสำรวจนำเค็มที่รุกล้ำเข้าไปจากบริเวณจุดพังทลาย ที่มีดีกรีความเค็มเท่ากับบริเวณทำนบดินที่ 26 กรัมต่อลิตรนั้น มีการไหลลึกเข้าไปในลำคลองประเวศประมาณ 8-9 กม. โดยความเค็มได้ลดหลั่นกันลงไประหว่าง 24 -26 กรัมต่อลิตร ส่วนผลการตรวจวัดที่หน้าประตูน้ำใน ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ที่มีการลงบานประตูปิดกั้นไว้แล้วนั้น มีความเค็มที่ 2 กรัมต่อลิตรที่ระยะห่างจากเขื่อนดินที่พังลงไปเมื่อวาน ประมาณ 15 กม.
นอกจากนี้ในคลองสาขาจะส่งผลกระทบในลำคลองตอนล่างทางด้านทิศใต้ ที่จะลงไปยังในเขตพื้นที่ อ.บางปะกง ที่จะมีค่าความเค็มมากกว่าทางตอนบนด้านทิศเหนือ ที่จะขึ้นไปทาง อ.เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งส่วนใหญ่ในลำคลองที่มีประตูน้ำเราจะปิดบานประตูไว้ และในคลองไหนที่ยังมีทำนบดินช่วยชะลอภัยแล้ง ที่ยังมีคันทดน้ำในลำคลองอยู่ น้ำเค็มจะยังไม่รุกเข้าไปมากนัก โดยเฉพาะลำคลองในเขต อ.เมืองฉะเชิงเทรา ยังคงมีค่าความเค็มที่ 2-3 กรัมต่อลิตรอยู่
สำหรับกรณีสัตว์น้ำจืดตายนั้น ยังไม่ได้ทำการสำรวจ เนื่องจากยังคงอยู่ที่หน้างานโดยตลอดทั้งวัน แต่ทราบจากทางนายก อบต.คลองประเวศแล้ว ซึ่งมีโอกาสความเป็นไปได้ เนื่องจากมีความเค็มไหลเข้าไป ทำให้น้ำเปลี่ยนสภาพจากน้ำจืดเป็นเค็ม ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะเป็นปลาธรรมชาติที่อาศัยอยู่ภายในลำคลอง โดยคาดการณ์ว่าในช่วงค่ำของวันพรุ่งนี้ (11 เม.ย.67) จะสามารถวางถุงบิ๊กแบ็คลงปิดลำคลองได้สำเร็จ
จึงน่าจะชะลอแรงดันน้ำได้แล้ว จากนั้นจึงจะลงดินหลังคันปิดทับ ต่อจากนั้นผู้รับเหมาจะดำเนินการกดชีสไพล์ได้ ส่วนทางผู้รับเหมาจะมีความผิดหรือไม่ ที่ทำให้มีน้ำเค็มทะลักเข้าไปยังในลำคลองประเวศบุรีรมย์นั้น ต้องดูกันไปตามเหตุการณ์ ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างไร หากมีผู้ร้องหรือมีใครเกิดความเสียหาย โดยปรากฎหลักฐานหรือหาหลักฐานมาแสดงสนับสนุนได้ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจริง จึงจะดูกันไปตามข้อเท็จจริง
หากเป็นในลำน้ำธรรมชาติหรือสิ่งที่เป็นสาธารณะ หน่วยงานท้องถิ่นต้องดูแลในเรื่องของผลกระทบ ว่ามีความเสียหายใดเกิดขึ้นบ้าง โดยที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีผู้เสียหาย แต่อาจจะมีเสียงบ่นกลับมาบ้าง หากทำการปิดกั้นคันทำนบสกัดน้ำเค็มสำเร็จ และมีการสูบน้ำเค็มออกทิ้งลงสู่แม่น้ำบางปะกงแล้วนั้น ขณะนี้เราได้ขอรับการสนับสนุนน้ำต้นทุน เพื่อนำมาทดน้ำแทนจากแหล่งน้ำทางตอนบนแล้ว และมองไปถึงน้ำต้นทุนจากเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ด้วย ที่จะต้องส่งน้ำลงมาตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเส้นทางน้ำให้มากกว่าเดิม
โดยขณะนี้ได้ขอผ่านไปยังทางประตูระบายบึงฝรั่ง ที่เขตหนองจอก กทม. ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายที่จะลงสู่คลองแสนแสบและเข้ามายังในเขต จ.ฉะชิงเทรา แล้ว หลังจากที่ผ่านมาได้มีการลดการระบายน้ำลงไว้ที่ 3 ลบม.ต่อวินาที เนื่องจากกิจกรรมการใช้น้ำหลักๆ ได้ลดลงไปแล้ว จึงจะได้ขอเพิ่มไปตามลำดับเป็น 5 ลบม. และ 7 ลบม. โดยมีเป้าหมายที่ 10 ลบม.ต่อวินาที จนกว่าจะทำการควบคุมความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์ที่ 2 กรัมต่อลิตรได้ นายณัฐวุฒิ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: