ฉะเชิงเทรา – พิสูจน์เขี้ยวปลาหมอสี แหลมคมตรงตามที่ชาวบ้านบอกเล่า เอเลี่ยนสปีชีส์ระบาดเข้ามาพร้อมเพียงคู่กันกับปลาหมอคางดำในคลองขุดใหม่ สายคลองด่าน-บางปะกง หลังชะตากรรมพลิกผันจากปลาสวยงามมีมูลค่าราคานับหมื่นตามความเชื่อของผู้นิยม สู่ปลาที่ถูกปล่อยทิ้งให้กำพร้าในลำคลองข้างถนน จนกลายเป็นสัตว์ประหลาดแปลกหน้า พัดถิ่นเข้ามากลืนกินกัดทำลายสัตว์น้ำอื่นผู้อยู่ร่วมสายธาร
วันที่ 2 ส.ค.67 เวลา 11.30 น. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบกรณีมีชาวบ้านแสมขาวจับปลาหมอสี ที่ระบาดเข้ามาคู่เคียงพร้อมกันกับปลาหมอคางดำ จากพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ สู่พื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ภายในลำคลองขุดใหม่เลียบถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ริมทางหลวงแผ่นดินสาย 3 ที่บริเวณใกล้กับปากประตูระบายน้ำคลองพระยาวิสูตร (แสมขาว) พื้นที่ ม.2 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากชาวบ้านกู้ลอบที่ดักได้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
ข่าวน่าสนใจ:
โดยพบว่าชาวบ้านดักลอบจับปลาหมอสีขึ้นมาได้ จำนวน 3 ตัว เป็นปลาหมอที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกันกับปลานิลอีกชนิดหนึ่ง รวมทั้งยังเหมือนกันกับปลาหมอคางดำ แต่มีลายพรางตัดขวางเป็นทางยาว ขีดเป็นเส้นสีดำคล้ายกับลายของเสือโคร่ง หรือลายของปลาการ์ตูน แต่มีจำนวนมากกว่า 5-6 ลาย ตามลำตัวมีสีพื้นออกเหลืองแกรมเขียว และที่สำคัญยังเป็นปลาที่มีเขี้ยวที่มุมขอบปากด้านล่างทั้งสองข้าง และที่จะงอยริมฝีปากด้านบน 1 ซี่
ซึ่งเป็นเขี้ยวที่ยังไม่ยาวมากเพราะยังเป็นปลาที่มีขนาดเล็กประมาณ 2-3 นิ้ว แต่มีลักษณะแหลมคม ทั้งยังมีฟันปลายแหลมละเอียดที่ขอบริมฝีปากด้านในอีกหลายซี่ด้วย ตรงตามที่ชาวบ้านบอกเล่าไว้เมื่อวานนี้ (1 ส.ค.67) ว่า สามารถดักลอบจับปลาหมอสีและปลาหมอคางดำได้เป็นประจำทุกวัน ยกเว้นวันที่มีการเปิดบานประตูระบายน้ำ หรือเดินเครื่องสูบน้ำออกลงสู่ทะเล จนทำให้กระแสน้ำไหลแรงทำให้ปลาไม่เข้ามาในลอบ
สอบถามนายสมศักดิ์ บุตรโสภา อายุ 56 ปี ชาวบ้าน ม.2 ต.สองคลอง ผู้ที่ดักลอบได้กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าเวลา 08.00 น.ที่ผ่านมา ได้ทำการลงไปกู้ลอบที่ดักเอาไว้ในคลองขุดใหม่ และพบว่ามีปลาหมอสีตัวขนาดประมาณ 2-3 นิ้วมาติดลอบจำนวน 3 ตัว และปลาหมอคางดำขนาด 2 นิ้วอีกจำนวน 4 ตัว และมีปลาอื่นๆ ทั้งปลานิล ปลาตะเพียน ปลาช่อน และปลากะพง เข้ามาติดรวมอยู่ด้วยหลายตัว
โดยตนเองจะลงวางลอบจำนวน 3 ใบในทุกวัน หรือหากน้ำขึ้นสูงจะลงจำนวน 5 ใบ และจะสามารถจับปลาหมอคางดำและปลาหมอสีได้ในทุกวันด้วยเช่นเดียวกัน จากการสังเกตุพบว่าปลาหมอสีนั้นมีนิสัยที่ดุร้ายมากยิ่งกว่าปลาหมอคางดำ หากนำมาขังรวมกันไว้ หรือติดอยู่ในลอบเดียวกันกับปลาชนิดอื่น มักจะกัดจนปลาตัวอื่นเกล็ดหลุดร่วงหมดหากไปกู้ช้า โดยเฉพาะปลานิลที่ไม่มีเขี้ยวมักจะถูกกัดจนตายก็ยังมี จึงเป็นปลาที่อันตรายมากสำหรับสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเดียวกัน
ส่วนปลาหมอคางดำนั้นเป็นปลาที่ไม่มีเขี้ยวเหมือนกันกับปลานิล แต่กินได้ไม่เลือกโดยเฉพาะลูกปลานิล จะถูกปลาหมอคางดำไล่ต้อนกินจนหมด ในอดีตนั้นปลาหมอสีถือเป็นปลาสวยงามที่มีคนนิยมเอามาเลี้ยง และเป็นปลาที่มีราคาแพงหากมีจุดหรือลายบนลำตัวตรงตามความต้องการ รวมถึงมีโหนกหรือวุ้นที่สวยงามบนศีรษะหรือหัวปลา โดยเฉพาะลายที่เป็นตัวอักษรภาษาจีน และมีความเป็นมงคลต่อผู้เลี้ยงจะมีราคาแพงมากตัวละนับหมื่นบาท
แต่พอเลิกนิยมเลี้ยงกันแล้ว ก็พากันเอามาปล่อยทิ้งตามลำคลองสาธารณะแบบนี้ โดยตนพบเห็นปลาหมอสีมาอยู่ในลำคลองเมื่อประมาณเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะดักขึ้นมาได้เป็นประจำเกือบทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อดักปลาหมอสีและปลาหมอคางดำได้ จะนำมาต้มให้เป็นอาหารแมวที่เลี้ยงไว้กิน นายสมศักดิ์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: