ฉะเชิงเทรา – เกษตรกรช่างสังเกต ชี้สาเหตุปลาหมอคางดำเนื้อแข็งตัวไม่อ้วน เพราะห่วงมุ่งแต่การแพร่ขยายพันธุ์เพียงด้านเดียว ทำให้กินอาหารได้น้อยและกินได้ไม่บ่อยครั้งนัก จากการที่ต้องอมไข่ฟักลูกให้ออกมาเป็นตัว ส่งผลต่อการระบาดในพื้นที่บางปะกง ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นสวนทางการเร่งกำจัดของทางราชการ และนโยบาย 7 มาตรการของรัฐบาล
วันที่ 7 ส.ค.67 เวลา 13.30 น. นายสุทธิ ศิลาลาศ อายุ 72 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปลานิล) กล่าวถึงพฤติกรรมของปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ แต่คนกลับไม่นิยมนำไปบริโภคเนื่องจากมีเนื้อที่แข็งกว่าเนื้อปลานิลว่า สาเหตุเป็นเพราะปลาหมอคางดำนั้นมัวแต่ห่วงการแพร่ขยายพันธุ์ จึงกินอาหารได้น้อยและกินอาหารได้ไม่บ่อยมากนัก เพราะมัวแต่ห่วงการอมไข่ อมลูกปลาเอาไว้ในปาก
ข่าวน่าสนใจ:
ในเวลาจะกินอาหารแต่ละครั้งก็ต้องพ่นคลายไข่หรือลูกปลาที่อมไว้ออกมายังภายนอก และต้องรีบกินอาหารก่อนที่จะต้องรีบดูดไข่ปลาหรือลูกปลากลับคืนเข้าไปในปาก เพราะหากดูดกลับคืนเข้าปากไปได้ล่าช้า ก็จะทำให้ลูกปลาและไข่ปลาถูกพัดปลิวหายไปตามกระแสน้ำ จึงทำให้ปลาหมอคางดำตัวจะไม่ใหญ่มาก และไม่เจริญเติบโตเท่ากับปลานิล จึงพบเห็นได้ว่าปลาหมอคางดำที่พบจะมีแต่ตัวขนาดเล็กๆ แต่ในท้องปลาและในปากก็ยังมีไข่มีลูกอมอยู่เต็มปากแล้ว
จากการที่กินอาหารได้น้อย และมีการผสมพันธุ์กันอย่างต่อเนื่องในทุกๆ 22 วัน เพื่อเร่งการแพร่ขยายพันธุ์กันบ่อย จึงทำให้ปลาหมอคางดำนั้นมีการเพิ่มจำนวนแบบทวีคูณได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ยากต่อการกำจัดให้หมดไปอย่างสิ้นซากโดยง่าย จากเดิมก่อนหน้านี้ในเขตพื้นที่ อ.บางปะกง ไม่เคยมีปลาหมอคางดำมาก่อนเลย แต่พอเริ่มมีเข้ามา ในช่วงระยะแรก ๆ นั้น ก็ยังมีอย่างประปราย
แต่หลังจากมีน้ำเค็มทะลักเข้ามาจากเขื่อนทำนบดินประตูน้ำท่าถั่วพังทลายลง ได้มีการสูบน้ำออกทิ้งทะเลนั้น เพียงช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือนจนถึงขณะนี้ กลับพบว่าปริมาณปลาหมอคางดำที่ชาวบ้านพบเห็นในพื้นที่และจากการที่ยกยอขึ้นมาได้นั้น มีประมาณที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าในช่วงก่อนหน้ามาก อย่างที่ไม่มีทิศทางจะลดน้อยลงเลย นายสุทธิ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: