X

บทบาทใหม่สภาพัฒน์ จ่อทำข้อมูลขอมติ ครม.ปลดล็อกเงื่อนไขแก้ปัญหาช้างป่า

ฉะเชิงเทรา – บทบาทใหม่สภาพัฒน์ จ่อขอมติ ครม.ปลดล็อกเงื่อนไขแก้ปัญหาช้างป่า 5 จังหวัดภาคตะวันออกที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาอย่างยาวนานนับสิบปี หลังลงพื้นที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ระดมความคิดเห็นจากต้นตอปัญหาอย่างบูรณาการในทุกมิติ เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนสังเคราะห์เป็นแนวทางมุ่งนำเสนอสู่รัฐบาล ในการช่วยลดช่องว่างและข้อจำกัด ตลอดจนการเยียวยาแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

วันที่ 7 ก.ย.67 เวลา 16.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ มรภ.ราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ช่วงระหว่างวันที่ 5-6 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จัดทำโครงการการจัดการความรู้ “เวทีวิชาการเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่า ภาคตะวันออก” ขึ้น ที่ห้องโชคอนันต์ ชั้น 2 อาคารเรียนรวมและอำนวยการ มรภ.ราชนครินทร์

บทบาทใหม่สภาพัฒน์

โดยมี น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ในพื้นที่โดยรอบผืนป่า 5 จังหวัดภาคตะวันออก และหน่วยงานอนุรักษ์ ได้เข้ามาร่วมกันนำเสนอความคิดเห็นเป็นฐานข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาช้างป่า ที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อประชาชนที่ประกอบอาชีพและอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่โดยรอบ

เวทีวิชาการ แก้ปัญหาช้างป่า

ซึ่งการระดมความคิดเห็นมีทั้งด้านการรับมือ เมื่อช้างออกจากป่า การช่วยเหลือเยียวยาที่ต้องใช้เงินงบประมาณทั้งจากกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย การมีเซ็นเซอร์และระบบแจ้งเตือนเมื่อช้างออกจากป่า ที่มุ่งแก้ปัญหาที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาเพียงเฉพาะในระดับพื้นเท่านั้น เพื่อให้ครอบคลุมในทุกเรื่อง รวมถึงการปฏิบัติ ที่เกิดปัญหาว่าเกิดจากอะไร การปลูกพืชเกษตรที่ช้างป่าไม่ชอบ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีความขัดแย้งกัน ตลอดจนกลไกในการผลักดันช้างให้กลับป่า

ระดมข้อมูลแก้ปัญหาช้างป่า

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการใช้เทคโนโลยีในการแจ้งเตือน ทั้งระบบเซ็นเซอร์ ระบบเรดาร์ ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว ที่มีการตรวจสอบแบบเรียลไทม์ และการติดจีพีเอสช้างป่า การใช้เงินงบประมาณจากส่วนใดในการนำมาแก้ไขปัญหา รวมถึงกฎเกณฑ์การเยียวยาที่ต้องมีความชัดเจน และหากไม่ชัดเจนจะแก้อย่างไร ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การปฏิบัติไม่สำเร็จเป็นอย่าง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาให้อย่างตรงจุด โดยมีการอภิปรายแบบแบ่งกลุ่ม สำหรับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 8 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครนายก)

โดย น.ส.วรวรรณ ได้กล่าวถึงการที่สภาพัฒน์ฯ ได้เข้ามาเป็นหน่วยประสานการขับเคลื่อนว่า จากปัญหาช้างป่าที่มีความรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นที่มาในการสร้างกระบวนการ สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงได้มีการจัดประชุมในรูปแบบการเสวนาขึ้น หากถามว่าข้อมูลที่ได้ในครั้งนี้จะนำไปทำในเรื่องของการแก้ไขปัญหาช้างป่าได้อย่างไรต่อไป สภาพัฒน์คงแก้เองไม่ได้ แต่การจัดเสวนานี้เป็นเวทีในการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน

โดยเฉพาะปัจจัยที่สำคัญคือในส่วนของข้อมูล ที่ได้เห็นภาพของฟังก์ชันในแต่ละหน่วยงานที่เป็นคนทำ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการขึ้นมาได้ และคิดว่าจะทำผังข้อมูลที่ควรจะมี ในการที่จะไปแก้ปัญหาช้างป่า ตั้งแต่ในระดับตำบลขึ้นมาจนถึงระดับนโยบาย โดยที่ทาง จนท.อนุรักษ์ ก็จะมีฐานข้อมูลที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ และยังได้มีการทำในพื้นที่นอกป่าอนุรักษ์ด้วย จะได้เอาฐานข้อมูลตรงนี้มาดูร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

พื้นที่รอบป่า 5 จังหวัด

ฉะนั้นฐานข้อมูลจึงมีความสำคัญมากในเชิงของแพทเทิร์นการเดินทางของช้าง ในเรื่องถิ่นที่อยู่ที่เขามูฟไปเรื่อย ในเรื่องของพืชผลที่เขาต้องชอบที่เขาต้องกิน โดยเฉพาะพื้นที่รอบป่าแห่งนี้ที่เอื้อต่อการที่เขาจะอยู่อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลของสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นป่าที่สมบูรณ์และเป็นแหล่งที่เขาจะเคลื่อนย้ายไป อันนี้คือเบื้องต้นของฐานข้อมูลที่เราอยากเห็น ที่จะเป็นการบูรณาการในทุกมิติ และจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้นถือเป็นประการที่ 1

แนวทางจัดการช้างป่าภาคตะวันออก

ส่วนประการที่ 2 นั้น ได้คุยกันถึงเรื่องของระบบการเตือนภัย เราได้มีการนำร่องในการติดจีพีเอส ด้วยปลอกคอช้างแต่ยังอยู่ในเชิงของงานวิจัย ที่ดำเนินการกับช้างจำนวน 5 ตัวเท่านั้น จึงได้มีคำถามต่อมาว่าเราจะยกระดับตรงนี้ขึ้นมาเป็นระดับในเชิงนโยบายได้หรือไม่ เพราะต้องใช้เงินงบประมาณที่ไม่ใช่แค่การซื้อปลอกคอจีพีเอส เราจะต้องมีแอพพลิเคชั่น มีทีมสัตวแพทย์ที่ต้องเข้ามาคอยดูแลด้วย เราจะต้องมองทั้งหมดว่าหากเราจะใช้เทคโนโลยีนี้ เราจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และโดยใครหน่วยงานไหน ส่วนการติดกล้องวงจรปิดนั้น ทาง มรภ.ราชนครินทร์ ได้มีการดำเนินการทำอยู่แล้วในเชิง CSR

ขณะส่วนที่ 3 ในเรื่องของการเยียวยา เราจะเห็นปัญหาในเรื่องหลักเกณฑ์การเยียวยา ที่จะต้องมีแบบเฉพาะภัยพิบัติจากช้างป่าที่ยังไม่ได้มีครอบคุมไว้ เหมือนกับน้ำท่วมแผ่นดินไหว ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำลายของสัตว์ป่าที่อาจจะปรากฎไม่ชัดเจน จึงได้มีข้อเสนอมาว่าทางกรมอุทยานนั้นอยากจะปรับยกระดับการเยียวยา ผลกระทบจากช้างป่าขึ้นมาให้อยู่ในระดับที่เป็นระเบียบ ที่จะสามารถใช้เงินงบประมาณได้ด้วย โดยทั้งสามส่วนนี้หากถามว่าสภาพัฒน์จะทำอย่างไรนั้น เราจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ถูกผลักดันเป็นข้อเสนอเข้าเป็นมติ ครม.ในบางเรื่องที่จำเป็น ที่ต้องใช้มติ ครม.ต่อไป น.ส.วรวรรณ กล่าว

การวิเคราะห์ ข้อมูลช้างป่า

ขณะที่ รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดี มรภ.ราชนครินทร์ กล่าวว่า เราได้ร่วมกับสภาพัฒน์ในการสำรวจข้อมูลภาคีความร่วมมือต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยงานนี้เราต้องการดูว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง ที่มีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาช้างป่า ซึ่งได้มีการรวมพลคนที่อยู่ในภาคีต่างๆ ให้เข้าร่วมกันกับสภาพัฒน์ เพื่อหาแนวทางว่าการป้องกันจะทำอย่างไร การเยียวยาจะมีวิธีอย่างไร สิ่งที่ได้จากการเสวนาคือการมาร่วมกันระดมความคิด ทั้งมิติทางด้านของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงแผนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปด้วย

รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา

โดยงานต่าง ๆ ของทุกหน่วยงานนั้น เราคาดหวังว่าจะไม่ซ้อนทับกัน หากได้นำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกันแล้ว และเป็นการจุดประกายให้ในทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า ได้มาร่วมกันทำข้อมูลด้วยกันเพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ทั้งการใช้เทคโนโลยีที่พร้อมใช้หรือแอพพลิเคชั่นเทคโนโลยี ส่วนที่ 2 นอกจากแผนที่จะเกิดขึ้นในระยะ 1 ปีและแผน 5 ปีที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดนี้

รวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการ

จึงต้องมีการมาร่วมระดมความคิดด้วยกัน ช่วยกันกับทาง จ.ฉะเชิงเทราและในอีก 8 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า งานนี้ มรภ.ราชนครินทร์ ซึ่งเป็น ม.ในเชิงพื้นที่สามารถที่จะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัดได้ ตลอดจนนวัตกรรมที่เกิดจากมหาวิทยาลัยที่อยู่โดยรอบบริเวณผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัด แต่ละจังหวัดให้สามารถเข้ามาระดมสรรพกำลังร่วมกัน ทำให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นมาได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด รศ.ดร.ดวงพร กล่าว

ผู้รับผลกระทบรอบพื้นที่

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน