X

ชลประทานแปดริ้วไม่กังวล น้ำในพื้นที่ยังกักเก็บได้น้อย ระบุอีก 20 วันเก็บเพิ่มได้อีก

ฉะเชิงเทรา – ชลประทานแปดริ้วไม่กังวลน้ำในพื้นที่ยังกักเก็บได้น้อย ระบุอีก 20 วันเป็นช่วงร่องมรสุมตามสถิติเข้ามาเติมน้ำเข้าท้ายเขื่อนในช่วงปลายฤดู เผยยังมีโอกาสเก็บน้ำเพิ่มเติมได้อีกกว่า 60 ล้าน ลบม. ระบุเมื่อปลายฤดูฝนในปีที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำคลองสียัดเก็บน้ำได้เพียงแค่ 160 ล้าน ลบม. แต่ยังบริหารจัดการได้อย่างเพียงพอ

ชลประทานแปดริ้ว

วันที่ 9 ต.ค.67 เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการเปิดเผยจากนายธานินทร์ เนื่องทดเทศ ผอ.โครงการชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา ถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำหลักของ จ.ฉะเชิงเทรา คือ อ่างเก็บน้ำคลองสียัดซึ่งมีความจุสูงสุดที่ 420 ล้าน ลบม. แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 203.4 ล้าน ลบม. หรือคิดเป็นร้อยละ 48.43 ของความจุ แต่ไม่น่ากังวลเนื่องจากในปีที่ผ่านมา (2566) หลังสิ้นฤดูฝนอ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีปริมาณน้ำในอ่างแค่เพียง 160 ล้าน ลบม. ยังสามารถบริหารจัดการใช้น้ำให้เพียงพอต่อความต้องการได้

นายธานินทร์ เนื่องทดเทศ

ขณะที่ในปีนี้ยังเหลือเวลาอีกประมาณ 20 วัน ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า จะสิ้นสุดฤดูฝนในวันที่ 1 พ.ย.67 ซึ่งยังพอมีเวลาเหลือที่จะมีน้ำไหลลงสู่ท้ายอ่างเก็บน้ำได้วันละหลายล้าน ลบม. ตามสถิติของมวลน้ำที่จะไหลลงมาในอ่างในแต่ละปีนั้น จะมีน้ำไหลลงท้ายอ่างมากในช่วงของเดือน ต.ค. ของทุกปี โดยจะมีร่องมรสุมที่ทำให้มีฝนตกผ่านเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จึงคาดการณ์ว่าสุดท้ายเมื่อถึงช่วงปลายฤดูหรือสิ้นสุดฤดูกาลในปีนี้แล้ว อ่างสียัดจะมีปริมาณน้ำกักเก็บประมาณ 260 ล้าน ลบม. โดยเป็นน้ำใช้การที่ประมาณ 230 ล้าน ลบม.

ฝนตกไม่ตรงอ่าง

ซึ่งใกล้เคียงกับความจุเดิมของอ่างเก็บน้ำคลองสียัดที่ 320 ล้าน ลบม. ก่อนที่จะมีการขยายขอบสันฝายยางสปิลเวย์ให้มีความจุเพิ่มขึ้นเป็น 420 ล้าน ลบม. ในปัจจุบัน จึงทำให้ทางชลประทานมั่นใจได้ว่าในช่วงฤดูแล้งปี 2568 นี้จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเพียงพอต่อการใช้น้ำ ทั้งด้านการอุปโภคบริโภค ผลิตน้ำประปาซึ่งถือเป็นเรื่องหลัก การรักษาระบบนิเวศและภาคเกษตรกรรม การใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลักดันน้ำเค็มหนุน และการสนับสนุนในพื้นที่ด้านอื่น ๆ ได้อย่างไม่ขาดแคลน

ไม่มีฝนเหนืออ่างสียัด

โดยการบริหารจัดการน้ำนั้น เป็นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมที่จะมีการประชุมร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อวางตัวเลขและวางกรอบการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ว่าภาคไหนควรจะได้น้ำเท่าไหร่ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับในเรื่องของการอุปโภคบริโภคที่ต้องมาเป็นลำดับแรก นายธานินทร์ กล่าว

ฝนไม่ตกเหนือสันเขื่อน

และกล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่อ่างเก็บน้ำคลองสียัดมีปริมาณน้ำไม่เต็มความจุ และไม่มีน้ำล้นสันฝายสปิลเวย์มานานหลายปีนั้น เนื่องจากบริเวณอ่างสียัดมีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง (Inflow) แค่เพียงประมาณ 260 ล้าน ลบม.ต่อปีเท่านั้น ส่วนการขยายเพิ่มความจุนั้น ทางกรมชลประทานได้มีแผนการบริหารจัดการลุ่มน้ำไว้เพื่อรองรับโครงการผันน้ำ ดึงน้ำจากพื้นที่โดยรอบทั้งจากอ่างเก็บน้ำพระสะทึงในพื้นที่ จ.สระแก้ว ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 36 กม. ตามที่ได้เริ่มมีการศึกษาดำเนินการไว้แล้ว จำนวน 5 แนวทาง ในการที่จะดึงน้ำเข้ามากักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำคลองสียัด

มีน้ำไม่ถึงครึ่งความจุ

เนื่องจากบริเวณอ่างเก็บน้ำพระสะทึงนั้นมีปริมาณฝนมากถึงปีละ 190-210 ล้าน ลบม. แต่ความจุของอ่างสามารถกักเก็บไว้ได้เพียง 65 ล้าน ลบม.เท่านั้น จึงทำให้มีน้ำส่วนเกินไหลล้นระบายลงไปยังในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง และเกิดอุทกภัย น้ำท่วมในตลาดเก่ากบินทร์บุรี และในตัว จ.ปราจีนบุรี แต่หากเราสามารถผันน้ำส่วนเกินจำนวนประมาณ 100-140 ล้าน ลบม.ต่อปี มาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำคลองสียัดได้ จะเป็นการเพิ่มต้นทุนน้ำในภาคตะวันออก และบรรเทาปัญหาอุกภัยหรือน้ำท่วมใน จ.ปราจีนบุรี ได้

ไม่มีน้ำไหลผ่านมานาน

ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการแล้ว 5 แนวทาง โดยมีการออกไปทำการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในพื้นที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มาแล้ว 1 ครั้ง และใน จ.สระแก้ว 1 ครั้ง โดยได้รับความร่วมมือและมีการตอบรับจากผู้ที่สนใจเป็นอย่างดี โดย ปชช.อยากรู้ว่าโครงการนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งจะให้เวลาในการศึกษาโครงการประมาณ 3 ปี และจะมีการเลือกแนวทางที่เหมาะสมไปพร้อมกัน หากได้รูปแบบมาแล้ว จึงจะนำไปสำรวจออกแบบเพื่อเสนอขอเงินงบประมาณต่อไป โดยคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณปี พ.ศ.2570-2571

รอโครงการผันน้ำ

สำหรับ 5 แนวทางที่ได้ทำการศึกษาไว้นั้น ประกอบด้วยการวางอุโมงค์ขนาด 4 เมตรผันน้ำจากอ่างพระสะทึงมายังอ่างคลองสียัด หรือการวางท่อขนาด 2 เมตร และ 1.5 เมตรมาตามแนวถนนสาย 3259 ผ่านพื้นที่ป่าอนุรักษ์ระยะทาง 36 กม. แนวทางที่ 2 คือการสูบกลับจากฝายวังวุ้งด้านท้ายของอ่างสียัด แนวทางที่ 3 เป็นการสูบกลับจากบริเวณเหนือฝายท่าลาด แนวทางที่ 4 เป็นการสูบกลับจากแม่น้ำบางปะกง และแนวทางที่ 5 คือ การผันน้ำจากอ่างพระสะทึงด้วยการวางท่อขนาด 2 เมตรแต่ใช้เส้นทางอ้อมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ระยะทาง 63 กม. ซึ่งจะมีต้นทุนและขั้นตอนการดำเนินการมากกว่าแนวทางแรก นายธานินทร์ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน