ฉะเชิงเทรา – มรภ.ราชนครินทร์ ร่วม 3 หน่วยงานผุดหลักสูตรช่วยคลายความเหงาคนวัยเกษียณ จัดอบรมสร้างเรียนรู้ดึงศักยภาพจากความสามารถของคนวัยเก๋า ออกมาเป็นชิ้นงานอย่างมีคุณค่า ทั้งยังสร้างรายได้กลับคืนสู่คนสูงวัยให้มีงานทำ รองรับสังคมคนไทยในอนาคตที่กำลังจะมีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของคนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น เผยฉะเชิงเทราติดอยู่ในกลุ่มแถวหน้าในพื้นที่ภาคตะวันออกและจะมีคนชราเพิ่มมากขึ้นเป็นอันดับต้นของประเทศ
วันที่ 14 พ.ย.67 เวลา 15.00 น. รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงสภาพสังคมของคนชาว จ.ฉะเชิงเทรา ในปัจจุบันว่า ขณะนี้ จ.ฉะเชิงเทรา มีประชาชนหลังวัยเกษียณหรืออยู่ในกลุ่มผู้สูงวัยมากถึง 145,793 คนจากทั้งหมดเกือบ 7 แสนคนหรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรในจังหวัด และถือว่าอยู่ในลำดับที่ 3 ของภาคตะวันออกและติดอยู่ในลำดับที่ 9 ของประเทศ และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแบบขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อไปในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ข่าวน่าสนใจ:
ทาง มรภ.ราชนครินทร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงได้สำรวจถึงความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ ว่ามีความต้องการอย่างไรบ้าง เช่น ทักษะหรือความรู้ที่ต้องการและการเตรียมการก่อนที่จะเกษียณออกจากหน้าที่การงาน รวมถึงคนที่มีการเตรียมการชีวิตในอนาคตหลังวัยเกษียณไว้ล่วงหน้าแล้ว จากแนวทางที่สำรวจคนพบ จึงได้เตรียมคณะที่จะสนับสนุนทางวิชาการไว้รวม 6 คณะที่มีความพร้อมที่จะทำให้แก่กลุ่มผู้สูงวัย
เช่น คณะวิทยาศาสตร์ ได้ทำเกี่ยวกับโปรดักส์ผลิตภัณฑ์ชุมชนของผู้สูงอายุ โดยได้นำงานวิจัยงานบูรณาการทางวิชาการ และงานบริการวิชาการมาถ่ายทอดให้แก่ผู้สูงอายุเหล่านี้ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณค่าจากผู้สูงอายุมาปรับใช้ให้ได้มาตรฐานเพิ่มคุณค่ามากขึ้น คณะมนุษย์ศาสตร์สังคมศาสตร์ คณะวิทยาการการจัดการ สาขาการบัญชี สาขานิเทศฯ เพื่อการสื่อสาร เพื่อเตรียมการให้ผู้สูงอายุก่อนที่จะเกษียณได้เตรียมตัวก่อนการเกษียณ รวมถึงผู้ที่เกษียณอายุแล้วได้พัฒนาอาชีพอย่างไรบ้าง
เช่น การเป็นผู้มาเล่าเรื่องในเส้นทางการท่องเที่ยวภายในจังหวัด ด้วยการนำเอาประสบการณ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้ออกมาใช้ในการสื่อสารเป็น Story telling ที่มีคุณค่าต่อเมือง ตลอดจนคณะครุศาสตร์จะช่วยทำให้เด็กในแต่ละช่วงวัยสามารถเข้ากับกลุ่มผู้สูงอายุได้ ในการใช้ชีวิตร่วมกัน การใช้จิตวิทยาบูรณาการระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กให้ได้มีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดความสุขทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จัดให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ
นอกจากนี้ทางคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จะผลิตนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้กับผู้สูงอายุได้ ถือเป็นต้นทางที่จะพัฒนาไปสู่การจัดตั้งคณะใหม่ คือ คณะพยาบาลศาสตร์ ที่จะเป็นคณะน้องใหม่ที่จะเป็นแนวทางที่จะพัฒนากลุ่มคนผู้สูงอายุทั้งจังหวัด และจะบริการไปถึงยังกลุ่มของอีอีซีใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกด้วย
ในการดำเนินการที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจาก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ที่ได้ให้แนวทางในการพัฒนาความร่วมมือที่จะนำไปสู่การสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต” เพื่อทำให้กลุ่มผู้สูงอายุสามารถมีกิจกรรมร่วมกันกับคนทุกช่วงวัยได้ เป็นการนำ 2 หมื่นกว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยมาขับเคลื่อนในเรื่องของกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน โดยมีแผนปีที่ 1-2 และ 3 ตามลำดับ และจะมีแนวทางจากทั้ง 2 หน่วยงาน คือ สาธารณสุขจังหวัด และ พมจ. ที่จะเป็นแนวทางไปสู่การพัฒนาเมืองแห่งสมาร์ทซิตี้ในสังคมผู้สูงอายุได้
ในการเติมเต็มชีวิตให้แก่ผู้สูงวัย จะมีกิจกรรมนันทนาการในการช่วยคลายความเหงาคนหลังวัยเกษียณ ให้สามารถนำเอากิจกรรมที่เกิดขึ้นหรือการบ่มเพาะสำหรับกลุ่มคน ให้มีกิจกรรมสร้างรายได้สร้างอาชีพ และจะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นสำหรับกลุ่มคนสูงวัยที่จะทำให้มีความสุขสนุกกับงาน ดังนั้นเราจะสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวสำหรับคนภายนอกที่เข้ามา โดยนำกิจกรรมของผู้สูงอายุไปเติมเต็ม เพื่อที่ได้เห็นกลุ่มคนมากหน้าหลายตา และการมาสร้างสีสันให้กับเมือง เพื่อจังหวัดฉะเชิงเทราของเราที่จะต้องไปได้ไกล
ผู้สูงอายุในภาคีเครือข่ายจะได้ทักษะในโลกปัจจุบัน และทักษะใหม่ๆ ตลอดจนทักษะในโลกแห่งอนาคต ได้เพื่อน ได้เครือข่าย ได้การทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคีความร่วมมือ โดยถือว่า มรภ.เป็นข้อต่อกลางในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ทั้ง พมจ. เกษตรฯ เกษตรและสหกรณ์ สสจ. ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมในภาคี และจะไม่เกิดความซ้ำซ้อนกันในการทำงานระหว่างกัน โดยที่จะมุ่งเน้นในการบูรณาการเชิงพื้นที่
“กลุ่มผู้สูงวัยเป็นคนที่มีคุณค่า ประสบการณ์ของท่านมีคุณค่ามากเหลือล้น จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้คุณค่าเหล่านี้ได้ถูกแสดงออกมา ได้สร้างความภาคภูมิใจส่งต่อสู่คนรุ่นหลังได้นำเอาประวัติศาสตร์ประสบการณ์ สิ่งที่ถูกเล่าเรื่องถ่ายทอดออกมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ” ด้วยความตั้งใจของ มรภ.ราชนครินทร์ เราจะเป็นข้อต่อกลางให้คนทุกช่วงวัย มาสมานความร่วมมือกันกับทุกหน่วยงาน มาสมานดวงใจของชาวฉะเชิงเทราให้มีชีวิตหลังวัยเกษียณที่ดีขึ้น รศ.ดร.ดวงพร กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: