ฉะเชิงเทรา – สนามแข่งบุญเรือพายชิงถ้วยพระราชทานงานหลวงพ่อโสธร เจ้าถิ่นคว้าแชมป์ครองเจ้าสนามเรือยาวใหญ่ขนาด 55 ฝีพาย ขณะรองผู้ว่าเมืองแปดริ้วกล่อมให้กำลังใจขอให้เรือต่างถิ่นหวนคืนสนามกลับมาร่วมแข่งขันกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการอนุรักษ์งานประเพณี หลังสนามแข่งเรือยาวทั่วทั้งประเทศมีอีกเพียงไม่กี่แห่ง ที่ยังคงได้รับรางวัลพระราชทานให้จัดการแข่งขัน
วันที่ 16 พ.ย.67 เวลา 17.30 น. ที่บริเวณอาคารเอนกประสงค์หลวงพ่อโสธร พระธรรมมังคลาจารย์ วิ ชายแม่น้ำบางปะกง ภายในวัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา องค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา (อบจ.) นำโดยนายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา ได้จัดพิธีมอบถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พร้อมมอบเงินรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันเรือพายพื้นบ้าน ที่ได้มีการรื้อฟื้นจัดขึ้นมานับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ภายในงานนมัสการหลวงพ่อโสธรและงานประจำปี จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งปีนี้ได้มีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-24 พ.ย.67 และมีการจัดการแข่งขันเรือพายเพื่อการอนุรักษ์ขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.67 โดยการแข่งขันได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อเวลา 16.40 น.ของวันนี้ ผลการแข่งขันปรากฏว่า เรือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสูงสุดในรายการแข่งขัน และได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเภทเรือยาวใหญ่ไม่เกิน 55 ฝีพาย คือ เรือพรหลวงพ่อโสธร
ซึ่งเป็นเรือเจ้าถิ่นใน จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมได้รับเงินรางวัล 7 หมื่นบาท ขณะที่เรือคู่ชิงได้รับรางวัลรองชนะเลิศ คือ เรือพรพระยาตาก จาก จ.ชัยนาท ได้รับถ้วยรางวัลจากวัดโสธรฯ พร้อมเงินรางวัล 5 หมื่นบาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เรือเทพหัสดินทร์ จ.พิษณุโลก ได้รับถ้วยรางวัลจากวัดโสธรฯพร้อมเงินรางวัล 3 หมื่นบาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 คือ เรือแม่เหลืองทอง จ.สระบุรี ได้รับถ้วยรางวัลวัดโสธรฯ พร้อมเงินรางวัล 2 หมื่นบาท
การแข่งขันเรือยาวขนาดไม่เกิน 40 ฝีพาย ผู้ชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เรือเจ้าแม่ประดู่เงิน จากกองทัพเรือ จ.ชลบุรี และได้รับเงินรางวัล 5 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรือพรพระปราการ จ.ลพบุรี ได้รับถ้วยรางวัลจากวัดโสธรฯ พร้อมเงินรางวัล 3 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เรือเทพหัสดินทร์ จ.พิษณุโลก ได้รับถ้วยรางวัลวัดโสธรฯพร้อมเงินรางวัล 2 หมื่นบาท รองชนะเลิศอันดับ 3 คือ เรือแม่เหลืองทอง จ.สระบุรี ได้รับถ้วยรางวัลวัดโสธรฯ พร้อมเงินรางวัล 1.5 หมื่นบาท
การแข่งขันเรือยาวขนาดไม่เกิน 30 ฝีพาย ผู้ชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ เรือเนินฆ้อระยองนาวา จ.ระยอง พร้อมเงินรางวัล 3 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรือพรหลวงพ่อใหญ่ จ.จันทบุรี ได้รับถ้วยรางวัลจากวัดโสธรฯ พร้อมเงินรางวัล 2 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เรือสาวน้อยจิณณ์ณิชา จ.ปทุมธานี ได้รับถ้วยรางวัลวัดโสธรฯพร้อมเงินรางวัล 1.5 หมื่นบาท รองชนะเลิศอันดับ 3 คือ เรือสิงห์บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับถ้วยรางวัลวัดโสธรฯ พร้อมเงินรางวัล 1 หมื่นบาท
การแข่งขันเรือยาวขนาดไม่เกิน 12 ฝีพาย ผู้ชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ เรือสิงห์บางตะคง จ.นครนายก พร้อมเงินรางวัล 1.5 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรือเทพมงคลชัย จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับถ้วยรางวัลจากวัดโสธรฯ พร้อมเงินรางวัล 1 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เรือแม่ชฎาทองพรหลวงพ่อเกิด จ.นครนายก ได้รับถ้วยรางวัลวัดโสธรฯพร้อมเงินรางวัล 8 พันบาท รองชนะเลิศอันดับ 3 คือ เรือแม่มาลัยทอง จ.นครนายก ได้รับถ้วยรางวัลวัดโสธรฯ พร้อมเงินรางวัล 6 พันบาท
การแข่งขันเรือพายพื้นบ้านประเภทเรือมาดไม่เกิน 12 ฝีพาย ผู้ชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัล อบจ.ฉะเชิงเทรา คือ เรือทับจำปา จ.สมุทรปราการ พร้อมเงินรางวัล 1.5 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรือกระเบนธง จ.สมุทรปราการ ได้รับถ้วยรางวัล อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเงินรางวัล 1 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เรือแม่ทิพย์นาวา จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับถ้วยรางวัล อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเงินรางวัล 8 พันบาท รองชนะเลิศอันดับ 3 คือ เรือประจวบนาวา จ.สมุทรปราการ ได้รับถ้วยรางวัลจากชมรมเรือพายฉะเชิงเทราพร้อมเงินรางวัล 5 พันบาท
การแข่งขันเรือพายพื้นบ้านประเภทเรือมาดแต่งไม่เกิน 12 ฝีพาย ผู้ชนะเลิศได้รับถ้วย อบจ.ฉะเชิงเทรา คือ เรือน้องนะโม จ.สมุทรปราการ พร้อมเงินรางวัล 1.5 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรือเพชรกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ ได้รับถ้วยรางวัล อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเงินรางวัล 1 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เรือธิดาเทพวาริน จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับถ้วยรางวัล อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเงินรางวัล 8 พันบาท รองชนะเลิศอันดับ 3 คือ เรือแม่สร้อยทองธันยาธร จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับถ้วยรางวัลจากชมรมเรือพายฉะเชิงเทราพร้อมเงินรางวัล 5 พันบาท
การแข่งขันเรือพายพื้นบ้านประเภทเรือมาดไม่เกิน 9 ฝีพาย ผู้ชนะเลิศได้รับถ้วย อบจ.ฉะเชิงเทรา คือ เรือสิงห์หอมศีล จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเงินรางวัล 1 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรือเทพนรรัตน์ จ.สมุทรปราการ ได้รับถ้วยรางวัล อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเงินรางวัล 8 พันบาทรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เรือแม่ทิพย์นาวา2 จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับถ้วยรางวัล อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเงินรางวัล 6 พันบาท รองชนะเลิศอันดับ 3 คือ เรือมาวิน จากเขตหนองจอก กทม. ได้รับถ้วยรางวัลจากชมรมเรือพายฉะเชิงเทราพร้อมเงินรางวัล 4 พันบาท
การแข่งขันเรือพายพื้นบ้านประเภทเรือมาดแต่งไม่เกิน 9 ฝีพาย ผู้ชนะเลิศได้รับถ้วย อบจ.ฉะเชิงเทรา คือ เรือสาวน้อยพุดชมพู จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเงินรางวัล 1 หมื่นบาทรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรือสาวน้อยมิลิน จ.สมุทรปราการ ได้รับถ้วยรางวัล อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเงินรางวัล 8 พันบาทรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เรือสาวน้อยกระทงทอง จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับถ้วยรางวัล อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเงินรางวัล 6 พันบาท รองชนะเลิศอันดับ 3 คือ เรือธราเทพ จ.สมุทรปราการ ได้รับถ้วยรางวัลจากชมรมเรือพายฉะเชิงเทราพร้อมเงินรางวัล 4 พันบาท
ขณะที่ นายประสิทธิ์ อินทโชติ รองผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานกล่าวปิดการแข่งขัน ได้กล่าวให้กำลังใจต่อเรือที่ไม่ได้รับรางวัล และขอให้กลับมาร่วมแข่งขันกันใหม่ในปีต่อๆ ไป เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีแข่งเรือของไทยไว้ โดยเฉพาะการแข่งขันเรือพายชิงถ้วยพระราชทานนั้น ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศเท่านั้นที่ยังคงมีอยู่ และนอกจากฝีพายพร้อมทีมงานจะได้มาร่วมการแข่งขันเรือแล้ว ยังได้มากราบนมัสการหลวงพ่อโสธร มาท่องเที่ยวใน จ.ฉะเชิงเทรา มาทำความรู้จักมิตรภาพใหม่ๆ และการแข่งขันเรือพายยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีเป็นหมู่คณะด้วย นายประสิทธิ์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: