ผู้ว่าแปดริ้วคนใหม่ไฟแรง หลังนั่งเป็นพ่อเมืองได้ไม่ถึง 2 เดือนเต็ม ลุยงานรอบด้านพร้อมลงดูพื้นที่ลุ่มน้ำรอยต่อสามจังหวัดแบบเร่งด่วน ช่วยเหลือชาวบ้านแก้ไขปัญหาปลาตายในลำน้ำบางปะกง เรียกทุกหน่วยงานถกสางปัญหาแบบยั่งยืน เตรียมประสานทุกแหล่งต้นทุนน้ำตอนบน ผลักดันน้ำเสียพ้นพื้นที่ออกสู่ทะเล
วันที่ 21 พ.ย.60 เมื่อเวลา 15.30 น. นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เรียกประชุมด่วนกรณีประชาชนในพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยวได้รับความเดือดร้อน ปลากระชังลอยตายเป็นจำนวนมาก จากสาเหตุน้ำในแม่น้ำบางปะกงเกิดการเน่าเสีย ภายในห้องประชุมอาเซียน ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา
ในที่ประชุมได้มีการหารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากปลาทับทิมที่เลี้ยงเอาไว้ในกระชังลอยตายเป็นจำนวนมาก โดยมีสาเหตุมาจากน้ำในแม่น้ำบางปะกงตอนบนเน่าเสียขาดออกซิเจนในน้ำ
หลังการประชุม นายสุวิทย์ กล่าวว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเมื่อช่วงบ่าย จึงได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จนสามารถสรุปมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้ดังนี้ คือ ได้มอบหมายให้ทางโครงการชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา ประสานไปยังโครงการชลประทาน จ.นครนายก ให้มีการปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนขุนด่านปราการชล จำนวน 500,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบม.) ต่อวันลงมาตามแม่น้ำนครนายก เพื่อให้มวลน้ำดีไหลลงมายังบริเวณ ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว เพื่อเพิ่มคุณภาพของน้ำ
และให้ประสานไปยังโครงการชลประทาน จ.สระแก้ว ให้มีการปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนคลองพระสะทึง ลงสู่คลองพระปรง คลองบางแตน จำนวน 200,000 ลบม.ต่อวัน ไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง ขณะที่ในส่วนของ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ให้ปล่อยน้ำออกมาจากอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ วันละ 500,000 ลบม. มาทางคลองสียัด คลองท่าลาด ลงสู่แม่น้ำบางปะกงด้วย เพื่อเพิ่มคุณภาพออกซิเจนในน้ำ
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัด ขอความร่วมมือไปยังกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตลอดริมลำน้ำบางปะกง ให้ใช้หลักธรรมาภิบาล ลดการปล่อยน้ำคุณภาพต่ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง และคลองสาขาโดยเด็ดขาด และให้ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด นำนักวิชาการจากหน่วยงานต้นสังกัดในระดับภูมิภาคจาก จ.ชลบุรี มาตรวจวัดคุณภาพน้ำในทุกๆ วันๆ ละ 3 ครั้ง พร้อมให้รายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ประมงจังหวัด สำรวจจำนวนผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์น้ำ และจัดทำทะเบียนให้เป็นระบบ พร้อมประชาสัมพันธ์ชี้แจงการปล่อยน้ำออกจากคลองในโครงการชลประทาน เช่น คลองสารภี ใน จ.ปราจีนบุรี (ซึ่งเป็นต้นตอสาเหตุ) ให้ผู้ประกอบการประมงได้ทราบล่วงหน้า เพื่อกำหนดแผนในการเลี้ยงและจับสัตว์น้ำได้อย่างเหมาะสม
โดยมอบหมายให้นายอำเภอท้องที่ ที่มีการเลี้ยงสัตว์น้ำแจ้งเตือนต่อประชาชนล่วงหน้า เพื่อป้องกันปัญหาปลาตายจากการขาดออกซิเจนอีกในอนาคต และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุป และถอดบทเรียนมาตรการในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
โดยได้มอบหมายให้ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ออกไปตรวจวัดค่าออกซิเจนในน้ำ ส่งให้ทางนายอำเภอพื้นที่ที่ประสบปัญหาปลาตาย และส่งให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประกอบหลักฐานการประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินและให้เรียกประชุมคณะกรรมการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (กชภอ.) เพื่อให้การช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนโดยด่วนต่อไป นายสุวิทย์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: