X

ผู้ว่าแปดริ้วลงพื้นที่แก้ปัญหาช้างป่า ทำลายพืชผลทางการเกษตรชาวบ้าน

ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่ใกล้แนวผืนป่ารอยต่อห้าจังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว) นำเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน

วันที่ 23 พ.ย.60 นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยนายกิตติพันธุ์ โรจนะชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ ตามโครงการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน” จากนั้นได้ลงพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องของช้างป่า จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่ พร้อมกับได้ร่วมพูดคุยกับกลุ่มของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโขลงช้างป่า

ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงดูพื้นที่จริงเพื่อ่แก้ปัญหาช้างป่า

โดยนายสุวิทย์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านและเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากโขลงช้างป่าที่ออกจากป่ามาหากินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน โดยได้สร้างความเข้าใจถึงแนวทางในแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ขณะนี้ทางการไฟฟ้าฯ (กฟภ.) ได้สนับสนุนเสาไฟฟ้า ให้นำมาใช้ปักทำรั้วลวดสลิงบริเวณแนวคูกั้นช้างจำนวนหนึ่งแล้ว 100 ต้น

โดยจะให้รีบทำในจุดสำคัญที่เป็นจุดเสี่ยงก่อน ใน อ.สนามชัยเขต 50 ต้น และ อ.ท่าตะเกียบ 50 ต้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีนาข้าวเป็นจำนวนมาก และเป็นทางเดินของช้างให้รีบดำเนินการในทันที ส่วนลำดับต่อไปคือการเพิ่มอาหารให้ช้าง ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนไผ่ จำนวน 10,000 ต้น เพื่อใช้ปลูกไว้เป็นอาหารช้าง  หรืออาจมีการปลูกกล้วยป่า กล้วยทั่วไป และอาหารอื่น ๆ ที่จะเป็นอาหารของช้างในป่าได้

ให้ทำรั้วจากเสาไฟฟ้าในจุดสำคัญที่ช้างเดินออกจากป่าก่อนอำเภอละ 50 ต้น

สำหรับในระยะยาวนั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เช่น ให้ปศุสัตว์จังหวัดมาสร้างอาชีพในพื้นที่ นำวัวที่มีผู้บริจาคมาจัดตั้งเป็นกลุ่มเลี้ยงวัวพื้นบ้าน เพื่อเป็นการเสริมรายได้ หรือให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนกัน หากเราส่งเสริมในลักษณะนี้ จะทำให้เกษตรกรไม่เดือดร้อน และมีรายได้เลี้ยงครอบครัว

เส้นทางเดินของช้างออกจากป่า

นอกจากนี้ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาในการเปลี่ยนภาระเป็นพลัง สร้างฝายมีชีวิต ในเดือนธันวาคมนี้  ซึ่งเป็นการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง โดยจะเริ่มดำเนินการในเขตอุทยานฯ และป่าสงวนแห่งชาติก่อน เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย นายสุวิทย์ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน