สนพ. ห่วงความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเปลี่ยนแปลง หลัง ปชช.และผู้ประกอบการเริ่มผลิตไฟฟ้าทดแทนใช้เองมากขึ้น จากเทคโนโลยีและการลงทุนที่ลดต่ำลง ส่งผลต่อแผนการสำรองด้านพลังไฟฟ้าในระยะยาวที่อาจผันผวน ก่อนเดินสายจัดเวทีสร้างความเข้าใจในพื้นที่จังหวัดที่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของประเทศ
วันที่ 29 พ.ค.62 ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผอ.กองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้กล่าวระหว่าง การเดินทางมาจัดประชุมสัมมนา “สร้างความรู้ความเข้าใจต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย” ที่โรงแรมวันธารา เวลเนส รีสอร์ท อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ว่าปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากแผนเดิม PDP2015
หลังจากประชาชนและผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม ได้เริ่มหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานทดแทน เนื่องปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีและต้นทุนในการลงทุนที่ต่ำลง จึงทำให้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงในปีนี้ 0.4 เปอร์เซ็นต์
สวนทางกันกับกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 46,090 เมกะวัตต์ ส่งผลทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าตามความคาดหมายหรือการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) มีการเปลี่ยนแปลง สนพ.จึงมีการปรับแผนจาก PDP2015 เป็น PDP2018 ในแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าไทย 2561-2580
เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป โดยคำนึงถึงแนวโน้มด้านเทคโนโลยี การสร้างความสมดุลมั่นคงของระบบไฟฟ้าในรายภูมิภาค โดยเฉพาะนครหลวงที่ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตหรือโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้อีกมากนัก และภาคใต้ที่โรงไฟฟ้าในภูมิภาคมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ยังเพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
จึงต้องมีการเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน การรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าขายปลีกไม่ให้สูงขึ้น ด้วยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ และเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งครั้งต่อไป กระทรวงพลังงานจะมีการจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจ ต่อแผน PDP2018 ไปยัง จ.พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และนครศรีธรรมราช ต่อไป ดร.วีรพัฒน์ กล่าวระหว่างการจัดสัมมนา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: