ฉะเชิงเทรา – ม.ราชภัฎ ยุคไทยแลนด์ 4.0 ปรับหลักสูตรเสริมเขี้ยวเล็บลบภาพบัณฑิตถูกปฏิเสธเข้าทำงาน หลังลงนามทำข้อตกลงความร่วมมือสถานประกอบการในพื้นที่ ปรับเสริมทักษะให้นักศึกษาเข้ารับการอบรมเรียนรู้งานในสถานประกอบการจริงจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง พร้อมรับเข้าทำงานในทันทีหลังเรียนจบ รองรับการขยายตัวภาคธุรกิจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี)
วันที่ 15 มี.ค.61 เวลา 11.00 น. รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกันลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนและพัฒนากำลังคนด้านโลจิสติกส์ รองรับการเติบโตของพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ในเขต 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) ตามนโยบายของรัฐบาล
ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) โรงเรียนวิฑูรย์ค็อกเทลและไวน์ สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) บริษัท ฮิตาชิ ซันเวย์ อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ในการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์, การท่องเที่ยวและการโรงแรม, ยานยนต์ไฟฟ้า
ข่าวน่าสนใจ:
เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวางแผนดำเนินงานความร่วมมือในการพัฒนานักศึกษา จัดทำปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร ตลอดจนกำหนดทิศทางเพื่อยกระดับและเตรียมความพร้อมของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะมีการจัดการอบรมทั้งภาคทฤษฏีภายในมหาวิทยาลัยฯ และอบรมภาคปฏิบัติในสถานประกอบการจริง และเมื่อนักศึกษาได้ผ่านการอบรมตามหลักสูตรแล้วจะมีงานรองรับทั้งหมดในทันที
โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับสถานประกอบการในระดับชั้นนำของประเทศในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์ และมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านแรงงานวิชาชีพให้เพียงพอและมีศักยภาพตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ
ซึ่งมีแนวทางหลักในการมุ่งพัฒนาด้านการฝึกทักษะ การถ่ายทอดประสบการณ์จากในสถานประกอบการจริงให้แก่แรงงาน โดยจะเน้นการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริงควบคู่กับการเรียนรู้ทักษะความรู้ที่ยังขาดแคลนโดยตรง ในระยะเวลาการฝึกภาคทฤษฎีรวม 72 ชม. และภาคปฏิบัติในสถานประกอบการจริงประมาณ 2 เดือน
สำหรับการอบรมระยะที่ 1 จะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายบัณฑิตที่ใกล้จะจบการศึกษาปีสุดท้าย และบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยฯ ไปแล้ว แต่ยังว่างงานให้เข้ามารับการอบรมเพิ่มทักษะความรู้ที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ และมาฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ และหลังจากการอบรมตามหลักสูตรแล้ว สามารถเข้าทำงานสู่สถานประกอบการได้ในทันที รศ.ดร.ดวงพร กล่าว
ด้าน นายสมชาย บรรลือเสนาะ ผอ.โรงเรียนธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ และตัวแทนสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) กล่าวว่า ทางโรงเรียนและสมาคมพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุน โดยเชื่อว่าตลาดแรงงานในอีอีซีนั้นยังมีอีกหลากหลาย ทั้งการขนส่งทางทะเล การเดินเรือขนส่งสินค้า เช่น ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ศูนย์กระจายสินค้า สายการเดินเรือ บริษัทขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่ยังมีความต้องการด้านบุคคลากรแรงงานที่จะเข้ามาทำงานร่วมในสายของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์อีกมาก นายสมชาย กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: