คณะทำงานอีอีซี เร่งลงพื้นที่ทำความเข้าใจต่อผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.ฉะเชิงเทรา หลังมีกลุ่มการเมืองหน้าใหม่และนักเคลื่อนไหว ออกมาสร้างข่าวที่บิดเบือนต่อข้อเท็จจริงในพื้นที่ จนทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดต่อโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออกอย่างคลาดเคลื่อนหลายด้าน
วันที่ 10 ส.ค.62 เวลา 09.30-17.30 น. ที่ห้องประชุม อบต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ดร.อภิชาติ ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้เดินทางมาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและร่วมสัมมนา สร้างการรับรู้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ต่อผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. ในพื้นที่ อ.บางคล้า แปลงยาว บางน้ำเปรี้ยว และสนามชัยเขต จำนวน 100 คน
ซึ่งในระหว่างการบรรยายชี้แจงและสร้างการรับรู้ได้มีผู้เข้าร่วมรับฟังซักถามถึง ปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นหลังจากมีคนเข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างอยู่อาศัยในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 5 ล้านคนตามการคาดการณ์ และปัญหาเรื่องแหล่งน้ำที่อาจขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ง ซึ่ง ดร.อภิชาติ ได้ตอบข้อซักถามว่า การออกแบบเมืองน่าอยู่หรือสมาร์ทซิตี้ ใน จ.ฉะเชิงเทรา นั้น
ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไว้แล้วทั้งหมดแล้ว โดยได้นำบทเรียนจากการเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ แบบเก่าในสมัยอดีต มาปรับแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำซ้อนแบบเดียวกันใน จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีการขยายเส้นทางการสัญจรและขนส่งรองรับไว้ทั้งหมดให้สะดวกขึ้น โดยจะไม่มีปัญหารถติดขัดตามมาเหมือนในกรุงเทพฯ หากการพัฒนาเส้นทางแล้วเสร็จทั้งหมด ซึ่งทำให้มีการพัฒนาสุขภาวะที่ดีกว่าเดิม
ส่วนการพัฒนาคนนั้นต้องเร่งพัฒนาด้านความรู้ พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ในพื้นที่อีอีซีให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม 4.0 ใน 10 อุตสาหกรรมหลัก โดยจะต้องปูพื้นฐานการเรียนรู้ทางการศึกษาตั้งแต่ในระดับล่างสุดชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ให้โรงเรียนในท้องถิ่นสอนหลักสูตรทางภาษาอย่างน้อย 2 ภาษา เช่น อังกฤษ หรือจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และสอนเรื่องสะเต็มบวกอาร์ต ไซ แมท และเรื่องโค้ดดิ้ง ให้มีเพิ่มเข้ามาในหลักสูตร
ระบบการศึกษาในพื้นที่อีอีซีต่อไปนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องมีการจัดการศึกษาเป็น 3 ระบบ คือ ระบบอีอีซีโมเดล คือ การไปจับคู่กับอุตสาหกรรมและสอบถามความต้องการว่าภาคอุตสาหกรรมจะรับคนเข้าทำงานกี่คน และต้องการให้มีการเรียนรู้อย่างไรบ้าง เพื่อให้มีการจัดทำหลักสูตรไปด้วยกัน ทำพร้อมกันโดยภาคอุตสาหกรรมจะต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้เรียน
และเมื่อจบแล้วต้องรับเข้าทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาบัณฑิตตกงาน ที่มีมากถึงกว่า 4.5 แสนคนในปัจจุบันที่เรียนจบมาไม่ตรงกับตลาดแรงงานหรือความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ส่วนการศึกษาในรูปแบบที่สอง คือ แบบทวิภาคี ที่ต้องหาสถานที่ฝึกงานให้แก่ผู้เรียนในทุกระดับ แต่หลังจากเรียนจบแล้วเด็กต้องไปหาหางานทำเอง แต่หากเรียนอยู่ในหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็จะทำให้เด็กที่จบออกมามีโอกาสได้ทำงานมากกว่า
ส่วนรูปแบบที่สาม คือ การเรียนในระบบเดิมทั่วไป ซึ่งจะมีโอกาสน้อยกว่าการศึกษาในสองรูปแบบแรก ขณะที่ความต้องการแรงงานในพื้นที่อีอีซีในอนาคตนั้น มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีความต้องการแรงงานอย่างน้อยประมาณ 475,000 คน
ส่วนอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่อีอีซี จะต้องไม่ปล่อยมลพิษ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้ระบบออโตเมชั่นมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมเก่านั้นจะค่อยๆ หมดยุคไป เพราะต้นทุนจะสูงขึ้น ในขณะที่เดิมพื้นที่ของ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น มีปัญหาในเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกนิคมฯ ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางด้านมลพิษ ซึ่งจะต้องหาทางในการนำเข้าไปอยู่ในเขตอุตสาหกรรมที่มีการจัดการที่ดีต่อไป
ขณะที่ภาคเกษตรกรรมนั้น จะมีการพัฒนาให้เป็นการทำการเกษตรแบบสมัยใหม่ ที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งจะใช้ต้นทุนลดลงและมีการใช้น้ำน้อยลง อาจเป็นเกษตรแนวดิ่งที่ใช้น้ำน้อยลงถึงร้อยละ 60 แต่ได้ผลผลิตที่สูงกว่าร้อยละ 80 ในพื้นที่อีอีซี จึงเป็นการนำเอารูปแบบการพัฒนาในยุค 4.0 มาใช้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งด้านการพัฒนาเมือง การแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมแบบเก่าที่ก่อมลพิษมาก ส่งเสริมการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้ทันสมัย และพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดร.อภิชาติ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: