ขยะใต้น้ำ ที่ปากโจ้โล้ฐานทัพพระเจ้าตากมีชัยเหนือพม่าขยะอื้อ ขณะนิสิตธรรมศาสตร์ร่วมจิตอาสาผุดกิจกรรมชวนคนเก็บพบมีเศษถุงพลาสติก ขวดนม ขวดน้ำดื่ม กล่องโฟมยังครองแชมป์ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ เผยเตรียมเดินหน้าทำกิจกรรมใหญ่ช่วยลำน้ำเจ้าพระยาอีกครั้งช่วงต้นเดือนหน้า
วันที่ 22 ก.ย.62 เวลา 15.30 น. ที่บริเวณพระสถูปเจดีย์พระเจ้าตากสินมหาราช อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตร อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชนคณะนิติศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาในการอนุรักษ์แหล่งน้ำจำนวนกว่า 50 คน จัดกิจกรรมพายเรือคายัคเก็บขยะที่บริเวณปากน้ำโจ้โล้
ซึ่งเป็นบริเวณจุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำบางปะกงและคลองท่าลาด ที่ไหลลงมารวมกันจากแหล่งต้นน้ำแควระบม-สียัด และยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยเป็นจุดที่พักของกองทัพพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนที่จะถูกทางฝ่ายทหารพม่าตามไล่ตีมาจนทัน และเกิดการสู้รบกัน จนทำให้กองทัพของพระเจ้าตากได้รับชัยชนะ โดยทางฝ่ายทหารพม่าที่ไล่ติดตามมาได้ล่าถอยพ่ายแพ้กับไป ก่อนเดินทางมุ่งหน้าไปตีเมืองจันทบุรีในเวลาต่อมา
หลังการจัดกิจกรรมบรรดานักศึกษา และผู้มาเข้าร่วมยังสามารถเก็บขยะที่ปนเปื้อนมากับกระแสน้ำ และติดค้างอยู่ตามชายตลิ่งเป็นจำนวนมากทั้งที่มองจากด้านบนฝั่งลงมาบนผิวน้ำนั้น อาจมองไม่เห็น ทั้งถุงพลาสติก ขวดนม ขวดน้ำดื่ม เศษวัสดุก่อสร้าง รองเท้าบูท และของใช้จำพวกพลาสติก ที่ยังคงมีติดอยู่ตามชายตลิ่งตลอดแนวของลำน้ำอีกเป็นจำนวนมาก
โดย ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมพายเรือคายัค เก็บขยะในวันนี้ เพื่อต้องการสื่อให้คนได้เห็นว่ามีพวกเรามาเก็บขยะกัน เพื่อให้เขาเห็นว่ามีคนเก็บเขาจะได้มาช่วยเราเก็บหรือไม่กล้าที่จะทิ้งขยะลงมาในลำน้ำอีก ซึ่งในวันนี้พบว่าในแม่น้ำบางปะกงในจุดที่มีน้ำหมุน น้ำวนไหลมารวมกันนั้น ยังมีขยะอยู่มาก โดยเฉพาะในจุดที่เป็นตลาดน้ำนั้นพบว่ามีจำนวนขยะที่สามารถเก็บได้มากเป็นพิเศษกว่าจุดอื่นๆ
ทั้งขยะจากขวดน้ำดื่ม ขยะจากน้ำอัดลม ชามโฟม กล่องข้าวโฟม แก้วพลาสติก กล่องนม และถุงพลาสติก ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ ซึ่งเป็นขยะสารพัดที่เราต้องช่วยกันเก็บ และเก็บเท่าไหร่ก็คงไม่หมดถ้าเรายังทิ้งกันอยู่ การเก็บขยะในวันนี้จึงเป็นการเข้ามาชวนคนสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง ให้เลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำเพื่อให้แม่น้ำใสสะอาดขึ้นตลอดไป
ถ้าเราเปลี่ยนแปลงเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำได้ขยะก็จะหมดไป จะไม่มีเต่า ปลา โลมา พะยูน หรือสัตว์น้ำชนิดต่างต้องมาตายเพราะขยะอีก เราจึงต้องชวนให้คนตามลุ่มน้ำต่างๆ ทั้ง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง เลิกทิ้งขยะ และชวนให้เขาช่วยกันเก็บ เรามีความหวังว่าหากเราบอกเขาดีๆ และชวนเขาดีๆ ให้มาช่วยเก็บเขาก็จะช่วยเราเก็บ ซึ่งหลังจากนี้ยังจะมีการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันในลำน้ำสายใหญ่ ที่แม่น้ำเจ้าพระยา
ซึ่งจะจัดเป็นขบวนเรือพายเก็บขยะกันตลอดทั้ง 10 วันใน 10 จังหวัด ตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากบริเวณปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ มาจนถึงบริเวณปากอ่าวไทยแม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.สมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 1-10 ต.ค.62 ที่จะถึงนี้ เพื่อชวนคนทั้ง 10 จังหวัด ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้มาช่วยกันเก็บขยะขึ้นจากน้ำ และเลิกทิ้งขยะลงในแม่น้ำอีก
“การบอกคนให้เลิกทิ้งขยะที่ดีที่สุด คือ การลงมือทำให้เขาดู ถือเป็นวิธีการที่ได้ผลที่สุด” โดยความคาดหวังไม่ได้แต่เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกงเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนไทยในทุกแม่น้ำด้วย ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
ขณะที่ น.ส.จิดาภา เจือจันทร์ อายุ 20 ปี และ น.ส.กานต์กมล พรหมนาม อายุ 19 ปี สองนักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์ ปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) กล่าวว่า ปกติเป็นคนชอบพายเรือจึงได้สนใจมาเข้าร่วมกิจกรรมพายเรือคายัคเก็บขยะในแม่น้ำบางปะกงแห่งนี้ และพบว่าที่บริเวณปากน้ำโจ้โล้แห่งนี้ยังคงมีขยะลอยปนอยู่ในน้ำอีกเป็นจำนวนมาก จนถุงใส่ขยะที่จัดเตรียมมาไว้ใส่ไม่เพียงพอ ทั้งเศษวัสดุก่อสร้างเศษกระเบื้องปูพื้น ซองพลาสติกใส่ไม้ฝาเทียม ทั้งสองคนระบุ
ด้าน น.ส.รัชตา ตระกูลเวียง อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 66 ม.8 ต.ท่าสะอ้าน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในตัวเมือง จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมพายเรือเก็บขยะในลักษณะนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยมีญาติชักชวนมา เนื่องจากเป็นคนชอบพายเรือ โดยขยะที่เก็บได้ในวันนี้ เป็นจำพวกถุงพลาสติก และถ้วยพลาสติกใส่อาหารที่ไหลปนมากับน้ำ น.ส.รัชตา กล่าว
ขณะที่ นายศุภรัตฐ กอสกุล อายุ 28 ปี อาจารย์ผู้ช่วย ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขยะทุกชิ้นล้วนมีความสำคัญ ทั้งขวดน้ำ ขวดนม และเศษถุงพลาสติก ต่างๆ ซึ่งหากไหลออกลงสู่ทะเลแล้วก็จะสร้างปัญหาให้แก่สัตว์น้ำ ตามที่เราได้เคยเห็นเป็นข่าวว่ามีปลาและสัตว์น้ำขนาดใหญ่ตายลอยมาเกยตื้น เพราะกินพวกขยะเหล่านี้ที่เข้าไป จนกระเพาะและลำไส้ไม่สามารถย่อยเป็นอาหารได้
ซึ่งในวันนี้สามารถเก็บขยะจากใต้น้ำได้ นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกถุงพลาสติก พลาสติกรัดของ ขวดนม ขวดน้ำดื่ม กล่องโฟม รองเท้าบูท และกระปุกออมสินที่ทำมาจากพลาสติก ซึ่งหากเราทำให้ลำน้ำสะอาดชีวิตเราก็จะดีขึ้นด้วย เพราะน้ำคือชีวิต นายศุภรัตฐ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: