ชาวบ้านสุดมึนงง เส้นแบ่งแนวเขตกันพื้นที่ป่าไม้ (RF) ยังขยับไปมาได้ตลอดเวลา หลัง จนท.หลายหน่วยงานลงสำรวจพื้นที่ทับซ้อน กรณีการร้องเรียนมีกลุ่มชายฉกรรจ์ บุกตัดทำลายสวนยางชาวบ้านท่ากระดาน ก่อนปะทะคารมเดือด ขณะกลุ่มชาวบ้านมาขอสำเนาการรับรองแผนที่ ในตำแหน่งที่ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจรังวัดเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน แต่กลับถูกปฏิเสธ
วันที่ 1 ต.ค.62 ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีกลุ่มชาวบ้านจากพื้นที่ ม.21 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 10 คน ได้เดินทางมาติดตามทวงถาม ขอหลักฐานภาพถ่ายแผนที่และการรับรองสำเนาจากการเดินสำรวจรังวัด ของคณะเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ประกอบด้วย นายเจริญ ขุนทอง ป่าไม้ อ.สนามชัยเขต นายสำฤทธิ์ สุขประเสริฐ หัวหน้าฝ่ายป้องกันรักษาป่า สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 ปราจีนบุรี
ข่าวน่าสนใจ:
- สุราษฎร์ ฯ อ่วม ฝนตกหนักตลอดทั้งคืน จนท.เร่งช่วยเหลือประกาศภัยพิบัติเพิ่มเป็น 8 อำเภอ เสียชีวิตแล้ว 2 ราย
- นายกฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสั่งการหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร…
- สลด เจ็ทสกีชน นทท.จมทะเลหาย ศพโผล่กลางดึก หาดกะรน ต.กะรน จนท.เร่งสืบสวน
นายสมใจนึก สังข์คำพันธ์ ศูนย์ดำรงธรรม จ.ฉะเชิงเทรา นายสุนทร มูเนาวาเราะ ปลัดอาวุโส อ.สนามชัยเขต นายวีรชัย ชมศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา นายพงษ์พันธุ์ เรืองไทย นายช่างสำรวจและรังวัดอาวุโส สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) จังหวัด นายเลอสรรค์ ปรางเพ็ชร หัวหน้าฝ่ายสำรวจออกแบบกองช่าง อบจ.ฉะเชิงเทรา พ.ต.ท.เสรี ประเสริฐลาภ สารวัตรสอบสวน จาก สภ.สามชัยเขต ที่ร่วมกันลงพื้นที่ในการรังวัดแปลงที่ดินตามการร้องเรียน เมื่อวันที่ 26 ก.ย.62 ที่ผ่านมา
ตามคำสั่งของรองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังจากมีประชาชนเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนผ่านทางศูนย์ดำรงธรรม จ.ฉะเชิงเทรา กรณีมีกลุ่มชายฉกรรจ์ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ นำผู้รับเหมาบุกเข้าไปตัดโค่นสวนยางของชาวบ้าน เมื่อวันที่ 22 ก.ย.62 ที่ผ่านมา จนทำให้มีต้นยางพาราอายุกว่า 20 ปี ได้รับความเสียหายไปจำนวน 35 ต้น ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
แต่หลังการลงพื้นที่สำรวจรังวัด ด้วยเครื่องวัดค่าพิกัดจีพีเอส ตามหลักเขตการอ้างอิงในการครอบครองของชาวบ้าน และการอ้างอิงพื้นที่ของกรมป่าไม้นั้น ปรากฏว่าทางกรมป่าได้มีการขีดเส้นแบ่งกันเขตเป็นป่าสงวนทับพื้นที่การทำกินของชาวบ้านเอาไว้จริง โดยอ้างว่าได้ทำตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และประกาศ กฎกระทรวง ฉบับที่ 986 (พ.ศ.2525) แต่กลับมายึดหลักแนวเขตที่ดินของชาวบ้านที่เพิ่งปักแบ่งที่ดินทำกินกันเองระหว่างพี่น้องในครอบครัว ในการอ้างอิงเป็นเขตป่าสงวนฯ ในหลายจุด
จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกถึงความไม่โปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งขณะที่ชาวบ้านนำพาคณะเจ้าหน้าที่ เดินชี้จุดแนวเขตที่ทำกินของตนเองในการรังวัดนั้น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่มากันเป็นจำนวนมากกว่า 50 นายนั้น กลับไม่ร่วมเดินไปกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ ที่มาจากส่วนราชการอื่นๆ ด้วย และหลังการนำค่าพิกัดที่ทำการเดินสำรวจมากำหนดลงบนภาพแผนที่ดาวเทียมแล้ว ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มีการขีดแนวเส้นแบ่งกันเป็นพื้นทีเป็นป่าสงวนทับที่ดินที่ชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 อยู่จริง
และยังมีบางส่วนที่ยังได้กันพื้นที่ ไปทับที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ในการทำกิน (สปก.) ที่ออกให้โดย สำนักงานปฏิรูปที่ดิน เมื่อปี 2540 อีกด้วย ขณะเดียวกันหลังการสำรวจรังวัดแล้ว ทางนายช่างรังวัดจากสำนักงาน สปก.ฉะเชิงเทรา ได้รับปากว่าจะให้สำเนาแผนที่ ที่ทำการเดินสำรวจเมื่อวันที่ 26 ก.ย.62 แก่ชาวบ้าน ตามการร้องขอผ่านทางศูนย์ดำรงธรรม ที่ได้ขอให้มีการเดินสำรวจรังวัดพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจและความชัดเจนให้แก่ชาวบ้าน ว่าตำแหน่งที่ดินอยู่ในพื้นที่ สปก. หรืออยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ
แต่หลังจากที่ชาวบ้านมาติดตามขอสำเนาแผนที่จากการเดินสำรวจในวันนี้ ทางนายช่างที่ร่วมเดินสำรวจรังวัดที่ดิน กลับปฏิเสธที่จะให้สำเนาแผนที่จากการเดินสำรวจตามที่ได้รับปากกับชาวบ้านไว้ในวันทำการรังวัด โดยอ้างว่าแผนที่ดังกล่าวไม่ได้นำไปใช้ในการรายงานไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และสำนักงานบริหารพื้นที่ป่าไม้ที่ 9 ปราจีนบุรี จนเกิดการโต้เถียงกันขึ้นกับชาวบ้านอย่างดุเดือดในวันนี้
ขณะเดียว น.ส.ณัฐธิดา คนใจบุญ อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 165 ม.21 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตนเองได้สังเกตเห็นถึงความผิดปกติในการกันแนวเขตพื้นที่ป่าสงวน ที่แนวเส้นแบ่งกันเขตระหว่างพื้นที่ สปก. และพื้นที่ป่าสงวน (RF) นั้น สามารถขยับเปลี่ยนแปลงได้ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 1 ชม. จากการเข้ามาขอดูครั้งแรก ซึ่งตนได้ถ่ายภาพไว้ และจากการที่เจ้าหน้าที่ถ่ายเป็นเอกสารมาให้ โดยที่ไม่มีการรับรองสำเนาให้ดู
ซึ่งได้มีการขยับเส้นแบ่ง RF66 เข้าออกให้เห็นอย่างผิดสังเกตได้อย่างชัดเจน ในการกันที่ดินบางแปลงเข้าออกนอกพื้นที่ป่าสงวน ตนจึงเห็นว่าการกันพื้นที่ดังกล่าวของทางเจ้าหน้าที่นั้น ไม่มีความเป็นธรรมต่อชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ น.ส.ณัฐธิดา กล่าว
ขณะที่ นางมยุรี เรืองสุวรรณ อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 276 ม.7 ต.ท่ากระดาน กล่าว ที่ดินของตนจำนวน 19 ไร่เศษ ซึ่งมีแนวเขตติดกันกับพื้นที่ของกลุ่มชาวบ้านที่เข้าไปร้องเรียนยังศูนย์ดำรงธรรมนั้น ได้รับเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองทำกิน สปก. มาตั้งแต่เมื่อปี 2540 แล้ว ยังกลับถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้ามาพ่นสีสเปรย์ เพื่อทำการกันแนวเขตป่าสงวน (RF) เลยเข้ามาในแปลงพื้นที่บางส่วนลึกถึงเกือบ 2 วาตลอดแนวเขตอีกด้วย จึงอยากสอบถามว่าเป็นไปได้อย่างไร นางมยุรี กล่าว
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อดูจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 110 (พ.ศ.2509) ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ได้กำหนดให้ป่าแควระบมและป่าสียัด ครอบคลุมไปถึง ต.วังเย็น อ.แปลงยาว (อ.บางคล้า เดิม) ต.เกาะขนุน ต.คู้ยายหมี ต.ท่าตะเกียบ ต.ท่ากระดาน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งขัดแย้งต่อสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่สภาพพื้นที่ตามประกาศนั้นเปลี่ยนแปลงสภาพกลายเป็นชุมชนเมืองและพื้นที่ทางการเกษตรไปเกือบทั้งหมดแล้ว
จนบางตำบลนั้นได้ถูกยกระดับให้กลายเป็นอำเภอไปแล้ว เช่น ต.ท่าตะเกียบ และ อ.สนามชัยเขต โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการประกาศ กฎกระทรวง ฉบับที่ 986 (พ.ศ.2525) ให้เพิกถอนป่าแควระบมสียัดบางส่วน ใน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม ต.ทุ่งพระยา ต.คู้ยายหมี ต.ลาดกระทิง ต.ท่ากระดาน ต.ท่าตะเกียบ อ.สนามชัยเขต ต.วังเย็น ต.หนองไม้แก่น อ.แปลงยาว (อ.บางคล้าเดิม) ออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้วก็ตาม
แต่ยังคงมีพื้นที่อีกจำนวนมาก ที่ยังมีชุมชน เส้นทางคมนาคม ทางหลวงชนบท ถนน อบจ. และ อบต. หมู่บ้านบริษัทห้างร้าน ตลอดจนสถานที่ราชการ และที่ดินทำกินของราษฎร ยังคงอยู่นอกเขตของการประกาศยกเลิกป่าสงวน และยังอยู่ในแนวเขต RF66 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ศ.2507 จึงทำให้เกิดความสงสัยต่อชาวบ้านว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่ได้พยายามกันเขตที่ดินทำกินของชาวบ้านเพียงบางรายในขณะนี้นั้น เป็นการเลือกปฏิบัติหรือมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่
ทั้งที่มีพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2552 กำหนดให้พื้นที่ ต.ทุ่งพระยา ต.ท่ากระดาน ต.คู้ยายหมี ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม ต.ท่าตะเกียบ ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา และ ต.หนองหว้า ต.พระเพลิง อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว เป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้วก็ตาม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: