ฉะเชิงเทรา คนรอดูผิดหวัง ขบวนแห่หลวงพ่อโสธรในการจัดงานประจำปีนี้สุดเหงาหงอย หลังทางจังหวัดเปลี่ยนรูปแบบการเดินขบวนแห่ทางบกจนผิดเพี้ยนไปจากเดิม โดยมีการรวมวงดุริยางค์ไปไว้ทางด้านหน้าขบวนทั้งหมดเพียงจุดเดียว ทำให้ผู้เข้าร่วมขบวนทางด้านท้ายที่อยู่ห่างไกลนับ กม. ต่างพากันเดินติดตามไปอย่างเงียบเหงา จนบางช่วงต้องส่งเสียงโห่ร้องและให้สัญญาณกันเองอยู่เป็นระยะ
วันที่ 8 พ.ย.62 เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ การจัดงานนมัสการหลวงพ่อโสธร และงานประจำปีจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะมีการจัดขึ้นเป็นประจำในทุกๆ ปี ช่วงกลางเดือน 12 โดยในปีนี้ได้มีกำหนดการจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 8-17 พ.ย.62 รวม 10 วัน 10 คืน ขณะที่ในการจัดงานในแต่ละปีนั้น จะมีพิธีบวงสรวงอัญเชิญองค์หลวงพ่อพระพุทธโสธร (องค์จำลอง) แห่ไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะ กราบไหว้บูชาขอพรกันจนถึงหน้าเรือนชาน ร้านค้า ทั้งทางบกและทางน้ำ
ข่าวน่าสนใจ:
โดยในปีนี้เป็นการจัดงานเป็นปีที่ 129 ซึ่งถือเป็นการจัดงานประเพณีสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับร้อยปีแล้ว แต่ในปีนี้ บรรยากาศภายในขบวนแห่ทางบก ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์และสีสันที่น่าสนใจ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเที่ยวชมขบวนแห่ในงาน ท่ามกลางความสวยงามของริ้วขบวนจากสถาบันการศึกษาในแต่แห่ง ที่จัดตกแต่งขบวนพร้อมการแสดงมาร่วมแสดงประกอบในขบวน
สร้างความอิ่มอกอิ่มใจของบรรดาเหล่าผู้ปกครองพร้อมญาติของเด็กนักเรียนนักศึกษา ที่ได้เข้ามาร่วมแสดงถวายองค์หลวงพ่อ จนทำให้มีผู้ติดตามมารอดูการแสดงกันเป็นจำนวนมากอย่างเนืองแน่นในทุกๆ ปี แต่ในปีนี้กลับมีแต่ความเงียบเหงา โดยเฉพาะทางด้านท้ายขบวน ที่การเดินในขบวนนั้น ไร้ทั้งเสียงเพลงเสียงดนตรีบรรเลงประกอบจังหวะและยังไร้ซึ่งคนดู เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากหัวขบวนถึงเกือบ 1 กม.
หลังจาก นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีการสั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการจัดริ้วขบวนและการแสดงใหม่ทั้งหมด ด้วยการให้วงดุริยางค์นำขบวนจากทุกสถาบันการศึกษา รวม 16 วง จำนวนกว่า 550 คนไปร่วมกันบรรเลงเพลงพร้อมกันยังที่ด้านหน้าหัวขบวนทั้งหมด ซึ่งมีทั้งวงกลองยาว และวงดุริยางค์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีการบรรเลงที่ไม่เข้ากันนัก จึงต้องผลัดกันบรรเลงนำ
อีกทั้งในแต่ละขบวนที่เข้ามาร่วมทั้ง 16 ขบวนไม่ได้มีการแสดงโชว์ใดๆ ตามรายทางให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่มารอชมได้ดูเหมือนกับในทุกๆ ปีที่ผ่านมา โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้มีการจัดให้มีเพียงนางรำ หน้าขบวนจำนวน 300 ชีวิต เดินรำนำอยู่ที่บริเวณหัวขบวนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
จึงทำให้ทางด้านท้ายของขบวนที่มีผู้เข้ามาร่วมด้วยความตั้งใจ โดยมีการแต่งกายมากันอย่างสวยงาม กลับไม่ได้รับความสนใจ และต้องเดินตามขบวนกันไปอย่างเงียบเหงา ท่ามกกลางเสียงบ่นสะท้อนอย่างน่าผิดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จนดังระงมไปทั่วทั้งงานปีนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: