เพชรบูรณ์-ประชุมเครียดแก้ค้านบ่อขยะ เทศบาลฯหล่มสักยันที่เดิมยังรองรับขยะและบริหารจัดการได้ เปิดแผน 2561 สร้างกำแพงล้อมรอบ-ขุดคลองป้องกันน้ำเสีย ตั้งคณะกก.ตรวจสอบการบุกรุกที่ดินเลี้ยงสัตว์สาธารณะประโยชน์ยกแปลง 373 ไร่
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ นายปัญญา ปานแสง ปลัดอาวุโสอำเภอหล่มสัก เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาบ่อทิ้งขยะเทศบาลหล่มสัก หมู่ 4 ต.หนองสว่าง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ร่วมกับส่วนราชการต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อ ประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง, ทหาร ม.พัน 28, เทศบาลเมืองหล่มสัก, อบต.ฝ่ายนาแซง, สาธารณสุขอำเภอหล่มสักและท้องถิ่นอำเภอ หลังจากที่มีกลุ่มชาวบ้านในเขตตำบลหนองสว่าง ร่วมกันต่อต้านบ่อทิ้งขยะแห่งนี้และโจมตีการบริหารจัดการของทางเทศบาลฯ ที่ปล่อยให้บ่อทิ้งขยะสร้างมลพิษและทำให้เกิดน้ำเสียไหลลงชุมชน จนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านมากว่า 40 ปี โดยเรียกร้องให้ย้ายบ่อขยะพ้นจากชุมชน รวมทั้งให้ตรวจสอบการใช้ที่ดินบริเวณบ่อทิ้งขยะซึ่งเป็นที่ดินหลวงสนามทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์ แปลงตำบลหนองสว่าง โดยการประชุมดังกล่าวไม่มีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ยังห้ามสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังด้วย
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในการประชุมดังกล่าวตัวแทนเทศบาลเมืองหล่มสักได้แสดงหลักฐานที่ดินบ่อทิ้งขยะ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ นส.3 เนื้อที่ 16 ไร่เศษ ออกเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2516 พร้อมชี้แจงถึงการบริหารจัดการขยะถึงการบริหารจัดการบ่อทิ้งขยะที่เป็นปัญหาทั้งที่ผ่านมาและแผนงานในปี 2561ซึ่งจะมีการก่อสร้างกำแพงรั้วปิดล้อมบ่อทิ้งขยะทั้ง 4 ด้านใช้งบฯราว 4 ล้านบาทเศษ และแผนงานการขุดลอกคูคลองป้องกันน้ำเสียไหลลงสู่ชุมชน รวมทั้งกำหนดแนวทางบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร โดยระบบคัดแยก ผลิตปุ๋ย ผลิตน้ำมันจากพลาสติก ร่วมกับเอกชน โดยตัวแทนเทศบาลฯยืนยันบ่อทิ้งขยะแห่งนี้ยังรองรับขยะและบริหารจัดการได้ต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
ในขณะที่การเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณบ่อทิ้งขยะ ตัวแทนเสาธารณสุขอำเภอชี้แจงชี้แจงถึงการตรวจสอบมาตรฐานสภาพอากาศวัดค่า P.M ได้ 2.5 อยู่ในระดับปกติ และค่าคาร์บอนไดออกไซต์และคาร์บอนมอนออกไซต์ไม่เกินระดับมาตรฐานเช่นกัน ส่วนการตรวจสอบสภาพน้ำเสียได้เก็บตัวอย่างส่งไปตรวจสอบแล้วอยู่ระหว่างรอผล สำหรับการตรวจสอบสภาพดินได้ประสานทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติมาเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้ตั้งคณะกรรมการสำรวจตรวจสอบ การบุกรุกครอบครองที่ดินหลวงสนามเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์แปลงดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุม 373 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ดินหลวงแปลงนี้เคยมีการดำเนินคดีกับชาวบ้าน 6 รายที่บุกรุก และล่าสุดคดีได้ถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฎีกามีคำตัดสินให้ชาวบ้านที่บุกรุกทั้งหมด ออกจากที่ดินที่เกิดเหตุและปัจจุบันอยู่ระหว่างการบังคับคดี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: