X

ชี้แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้ำหยดสำคัญระดับโลก ยกเทียบแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟทวีปออสเตรียเลีย

เพชรบูรณ์-นักวิชาการชี้แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้ำหยดมีความสำคัญระดับโลก ยกเทียบแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef)ทวีปออสเตรียเลีย ชี้เป็นหลักฐานมหาสมุทรที่คั่น 2 แผ่นเปลือกโลกอินโด-ไชน่าและฉาน-ไทยที่หลงเหลืออยู่

วันที่ 8 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีการค้นพบแหล่งธรณีวิทยาภูน้ำหยด “ทุ่งโขดหินกรวดมนฟอสซิล 240 ล้านปี”ยุคปลายเพอร์เมียน ที่บริเวณ หมู่ 12 บ้านยางจ่า ต.ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ โดยทีมธรณีวิทยาฯเพชรบูรณ์ได้มีการสำรวจไปก่อนหน้านี้นั้น ล่าสุด ดร.สมบุญ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณีวิทยา กล่าวว่า ลักษณะของโขดหินที่พบเป็นหินกรวดมน แสดงถึงการตกตะกอนในช่วงสิ้นสุดของยุคเพอร์เมียนหรือยุคโลกตอนต้น ก่อนโลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และบริเวณตรงนี้ลักษณะภูมิประเทศเดิมเป็นแนวหินปะการังใหญ่ที่มีขนาดใหญ่เหมือนที่เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ของทวีปออสเตรียเลียที่ชื่อเสียงของโลก หลังจากนั้นเกิดการยกตัวทำให้ในแอ่งหยุดการตกตะกอน และทำให้แนวหินปะการังดังกล่าวโผล่ขึ้นพ้นพื้นน้ำ

ดร.สมบุญกล่าวว่า อย่างไรก็ตามด้วยอิทธิพลของแสงแดดและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจึงเกิดการแตกหัก และมาสะสมตัวที่ไหล่ทวีปก่อนเกิดการแข็งตัวกระทั่งกลายเป็นหินในที่สุด ซึ่งยุคนี้ถือเป็นนี้เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งใหญ่ และมีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในช่วงนั้น ซึ่งแหล่งฯภูน้ำหยดเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาอีกแห่งที่พบได้ไม่มากในโลกนี้ ซึ่งอาจจะบ่งบอกถึงตำแหน่งภูมิศาสตร์ของโลกในอดีตได้ โดยเฉพาะเป็นหลักฐานของแอ่งสะสมตะกอนในมหาสมุทรหรือทะเลโบราณ ในปลายยุคตอนต้นมีทะเลใหญ่มากเรียกว่า ทะเลเททิสคั่นกลางระหว่าง 2 แผ่นเปลือกโลกคือ อินโด-ไชน่าและฉาน-ไทย โดยแหล่งธรณีวิทยาภูน้ำหยดตรงนี้คือหลักฐานทะเลเททิสที่ยังหลงเหลืออยู่

ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศทรัพยากรธรณีฯ กล่าวว่า ส่วนลักษณะภูมิประเทศบริเวณนี้มีความเฉพาะตัวแบบที่เรียกว่า ป่าช้าหิน คือมีหินปูนโผล่บนพื้นดินแบบตะปุ่มตะป่ำ และกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมากเป็นตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ตามรายงานไม่เคยมีการพบแหล่งธรณีวิทยาแบบเดียวกันนี้ในสถานที่อื่นๆซึ่งมากมายขนาดเป็นเนินภูเขาทั้งลูกแบบนี้  โดยหินปูนเหล่านี้ยังมีซากของฟอสซิลปะการังเยอะมากและมีหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีซากสิ่งมีชีวิตอาทิ พลับพลึงทะเล สาหร่ายขนาดใหญ่ หอยตะเกียง หอยฝาเดียว หอยสองฝา หอยงวงช้างและสัตว์เซลเดียวอื่นๆ  ซึ่งบ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่ามีความหลากหลายในซากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์

ดร.สมบูรณ์กล่าวอีกว่า ซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้จึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเก่าแก่และกำหนดอายุได้ ส่วนการพบแหล่งธรณีที่คล้ายคลึงกันก่อนหน้านี้ก็มีบ้างแต่ขนาดพื้นที่ที่เล็กกว่านี้มาก อาทิ ที่เขาแผงม้า อ.ชัยบาดาล โดยมีการแสดงอันดับชั้นหิน ที่แสดงถึงการสิ้นสุดของยุคโลกตอนต้นได้ชัดเจน โดยบริเวณนี้เคยมีการสำรวจไปแล้ว ส่วนแหล่งภูน้ำหยดสันนิษฐานว่าคงเป็นแนวเดียวกัน ที่สำคัญจะไปเสริมประวัติศาสตร์ของโลกในยุคนี้ที่มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ตอนเหนือของเพชรบูรณ์ไล่ลงมาถึงภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี และต่อเนื่องไปถึง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นทะเลเดียวกันมาก่อน อย่างไรก็ตามหลังจากข่าวนี้ได้ถูกเผยแพร่ได้มีนักวิชาการให้ความสนใจและสอบถามถึงรายละเอียดกันหลายท่าน คาดว่าจะมีผู้สนใจมาศึกษาค้นคว้ารายละเอียดอีกเป็นจำนวนมาก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน