กระทรวงอุตฯถกภาครัฐ-เอกชนที่เพชรบูรณ์ ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง หนุนตั้งศูนย์นวัตกรรมไม้ผลและพืชเศรษฐกิจ
วันที่ 17 กันยายน นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 7/2561 ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2561 ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมประชุมหารือภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์)ที่ห้องประชุมชั้น 4 โรงแรมบูรพาโฮเต็ล อ.เมืองเพชรบูรณ์ เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจด้วยการรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน รวมทั้งเสนอมาตรการ เครื่องมือที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีเพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบและใช้บริการเพิ่มขึ้น เช่น ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ITC การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และการสนับสนุนเงินทุนต่างๆ ของ Sme Devolopment Bank เป็นต้น
นายสมชายฯ กล่าวว่า จากการประชุมหารือในวันนี้ (17 ก.ย. 61) กระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนข้อเสนอจากภาคเอกชนใน 3 ประเด็น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ คือ 1. การจัดตั้งศูนย์พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมไม้ผลและพืชผักเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง 1 (Creative and Innovation Center of Economy Fruit and Vegetable Processing) เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับการรับรองมาตรฐานของผลไม้ (Premium Fruit) และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง พร้อมทั้งจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ผลไม้ และพืชผัก พัฒนานวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางจากผลไม้และพืชผัก บริการเครื่องมือแปรรูปและออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งบริการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง โดยกระทรวงฯ สามารถที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าวฯ ด้วยเครื่องมือจากศูนย์ ITC พร้อมช่วยพัฒนา GMP CODEX (มาตรฐานอาหารปลอดภัย) ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และยังสามารถพัฒนาบรรจุภัณฑ์ด้านอาหาร ตลอดจนการเชื่อมโยงกับสถาบันอาหารในการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหาร และพัฒนา Future Food ได้อีกด้วย
2.การก่อตั้งศูนย์ Excellent Center เพื่อวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน SME โดยใช้ชื่อว่า “Sabai Dee Excellent Center for Local Development” เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมทางการเกษตรและขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ด้านการแปรรูป การตลาดและส่งเสริมสินค้าเกษตร เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่ โดยใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (พื้นที่ 2.9ไร่)
โดยมีกิจกรรมหลัก คือ จัดตั้ง 1)ศูนย์สารสนเทศเพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำสารสนเทศผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอีสานตอนบนและเหนือตอนล่าง เพื่อต่อยอดวิจัยและพัฒนา จำหน่ายและส่งเสริมมูลค่าผลิตภัณฑ์ 2)ศูนย์วิจัยและพัฒนารับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ โดยมีห้องปฏิบัติการพื้นฐาน วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และให้บริการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 3)ศูนย์ประชุมอบรมสัมมนาเพิ่มศักยภาพเกษตรกร/ผู้ประกอบการ 4)ศูนย์เรียนรู้ Co-Working Space & Learning Space โดยมีการจำลองภูมิปัญญาท้องถิ่น การเป็นผู้ประกอบการ Product Library ถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยรวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำ 5)ศูนย์ส่งเสริมมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ปรับปรุงกระบวนการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 6)พื้นที่แสดงสินค้า Business Matching, Super Market
ก.อุตสาหกรรมโดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 จ.อุดรธานี จะให้การสนับสนุนเครื่องมือ ITC ที่สามารถให้บริการด้าน Pilot Plant / Co-working Space สำหรับพัฒนาเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นต้นและขั้นกลางได้ รวมถึงบริการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารแปรรูป รวมถึงการให้บริการปรึกษาแนะนำและให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งแบบ Offline และ Online ผ่านระบบ RISMEP Application
3.สนับสนุนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬเป็นคลัสเตอร์ยางพารา (Rubber Economic Cluster) เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาเรื่องยางพาราอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตยางพารา โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีการผลิตยางก้อน ซึ่งมีมูลค่าต่ำ จึงเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์การแปรรูป การพัฒนาและศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมเพื่อนำยางพาราไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ
ก.อุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะสนับสนุนฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศใช้เป็นแหล่งข้อมูลและสามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก และ สมอ.กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยาง จำนวน 163 มาตรฐาน ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ มาตรฐานแผ่นยางปูทางเชื่อมระหว่างทางรถไฟ มาตรฐานยางรัดเอวพยุงหลัง มาตรฐานแผ่นยางปูพื้นสำหรับผู้พิการทางสายตา ฯลฯ
ทั้งนี้ข้อเสนอที่ภาคเอกชนในพื้นที่ทั้ง 3 ประเด็นที่จะนำเสนอจะสรุปและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาขยายผล เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัดต่อไป
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รัฐมนตรีช่วย ก.อุตฯ และคณะได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมบริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มะขามแปรรูป เป็นหนึ่งในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI) โดยได้เข้าโครงการในแผนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การทดสอบตลาด นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด 3R ด้วยการนำเมล็ดมะขามที่ไม่มีมูลค่าหรือมีมูลค่าน้อยมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ซีรั่มจากเมล็ดมะขาม ซึ่งช่วยลดของเสียและช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น ปัจจุบันเซรั่มดังกล่าวได้ทดลองตลาดและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค
และลงพื้นที่เยี่ยมชมหมู่บ้านเล่าเน้ง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายม้ง ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและยังคงรักษาอัตลักษณ์ชุมชน วัฒนธรรมประเพณีของบรรพชนเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่เตรียมเข้าโครงการหมู่บ้าน CIV โดยกระทรวงฯ จะเข้าไปส่งเสริมพัฒนาและสนับสนุนทั้งด้านการสร้างตราสินค้า การจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การจัดทำชุดนำเสนอผลงานแบบเคลื่อนที่ Mobile Kiosk และ Backdrop ที่มีภาพสัญลักษณ์สำคัญหรือ Landmark ของท้องถิ่น/ชุดเครื่องแต่งกายที่มีอัตลักษณ์ของทัองถิ่น ฯลฯ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจนการจัดทำ Marketing Tools นามบัตร แผ่นพับซึ่งมีข้อมูลผลิตภัณฑ์ และสื่อทาง Digital QR Code ผลิตภัณฑ์ผ้าเขียนเทียนชาวไทยภูเขา เป็นสินค้าอัตลักษณ์ของชุมชนซึ่งจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: