ประเพณีอุ้มพระดำน้ำฯเพชรบูรณ์ “ศรัทธา..จากรุ่นสู่รุ่น”
ทุกครั้งเมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เวียนมาบรรจบครบรอบของทุกๆปี ชาวเพชรบูรณ์ต้องพากันน้อมรำลึกถึงตำนานมหัศจรรย์แห่งการพบ “พระพุทธมหาธรรมราชา” ซึ่งถูกเล่าขานตามตำนานความเชื่อมากว่า 400 ปี จนกลายมาเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ของชาวเพชรบูรณ์ .. นั่นก็คือ “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ”
ตำนานที่ว่าได้ถูกเล่าสืบทอดกันต่อๆมาว่า หลวง”ตาด่อน” กับภรรยาพายเรือออกไปหาปลาในแม่น้ำป่าสักบริเวณคุ้งน้ำวังมะขามแฟบ แต่บังเกิดความมหัศจรรย์ที่จู่ๆกระแสน้ำที่สงบนิ่ง ได้กลายเป็นกระแสน้ำวนดูดเอาองค์พระขึ้นมาดำผุดดำว่ายบนผิวน้ำ จากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ
ในปีต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้กลับหายไปอย่างไร้ร่องรอยอีกครั้ง จนชาวบ้านต่างช่วยกันระดมค้นหากันทั้งเมืองแต่ก็ยังไม่พบ กระทั่งสุดท้ายไปพบพระพุทธรูปเนื้อทองสำริดองค์นี้กำลังดำผุดดำว่ายอยู่บริเวณที่พบองค์พระในครั้งแรก จึงมีการอัญเชิญกลับมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิอีกครั้ง พร้อมตั้งนามเรียกขาน “พระพุทธมหาธรรมราชา”
จากนั้นในทุกๆปีเมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งตรงกับวันสารทไทย เจ้าเมืองในยุคสมัยนั้นจะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ โดยต่างเชื่อว่าไม่เพียงดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเท่านั้น แต่ยังทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโรคระบาด กระทั่งกลายเป็นประเพณีแห่งความเชื่อสืบจากนั้นเป็นต้นมา
“พระพุทธมหาธรรมราชา” เป็นพระรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี(ขอม) หล่อด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน พระเศียรทรงชฎาเทริดหรือมีกระบังหน้า มีลวดลายงดงามอีกทั้งแลดูน่าเกรงขามอย่างยิ่ง ส่วนประวัติการสร้างนั้นแม้จะไม่ปรากฏเด่นชัด แต่ก็มีความเชื่อว่า “พ่อขุนผาเมือง” เจ้าเมืองราด(อ.หล่มสัก) ได้รับพระราชทานจาก “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” กษัตริย์แห่งนครธม หลังจากอภิเษกกับพระนางสิงขรมหาเทวี
ส่วนสาเหตุที่ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้ต้องสูญหายไปจากเมืองราด สันนิษฐานว่าพระนางสิงขรมหาเทวีจอมนางแห่งนครธมเผาเมืองราด เพราะโกรธแค้นที่พ่อขุนผาเมืองมีใจออกห่างจากพระราชบิดา จนทำให้เหล่าไพร่พลและเสนาอำมาตย์อัญเชิญพระพุทธรูปหลบหนีเปลวเพลิงลงแพล่องหนีไปตามแม่น้ำป่าสัก แต่เนื่องจากแม่น้ำป่าสักมีความคดเคี้ยวและกระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากจึงทำให้แพอัญเชิญแตกออก จนองค์พระจมดิ่งลงสู่ก้นแม่น้ำสูญหายไปเป็นเวลายาวนาน กระทั่งต่อมามีชาวบ้านมาพบจนก่อให้เกิดตำนานประเพณีอุ้มพระดำน้ำที่ยิ่งใหญ่อลังการขึ้น
การจัดงานอุ้มพระดำน้ำถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยพิธีบวงสรวงเทพยาดาฟ้าดินที่ปกปักรักษาคุ้มครองเมืองเพชรบูรณ์ มีการจัดขบวนแห่องค์พระรอบเมืองและขบวนแห่องค์พระไปดำน้ำในแม่น้ำป่าสัก โดยการประกอบพิธีกรรมเจ้าเมืองจะอุ้มองค์พระดำน้ำ โดยหันหน้าทวนน้ำ 3 ครั้งและหันหน้าตามน้ำ 3 ครั้ง พร้อมทั้งอธิษฐานให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็นและเจริญรุ่งเรือง หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองมีกิจกรรมแข่งขันพายเรือทวนน้ำกันอย่างสนุกสนาน
สำหรับการจัดงานประเพณีอุ้มพระดำในปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-12 ตุลาคม 2561 โดยในช่วงเย็นของวันที่ 8 ตุลาคมนั้น จะมีขบวนแห่ทางบกโดยพ่อเมืองเพชรบูรณ์จะอัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชา แห่แหนไปตามถนนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ และกิจกรรมภายในขบวนมีความยิ่งใหญ่และมีการจัดแสดงทางศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวเพชรบูรณ์
จากนั้นในช่วงเช้าวันที่ 9 ตุลาคมจะมีการประกอบพิธีกรรมกลางลำน้ำป่าสัก บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร โดยนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ในฐานะพ่อเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งจะอัญเชิญพระคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ตามแบบโบราณประเพณีร่วมกับกรมการเมืองทั้ง 4 ฝ่าย เพื่อสืบทอดความศรัทธาจากรุ่นสู่รุ่นอีกครั้ง
นอกจากนี้สำหรับปีนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงหัวโขนเรืออัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชา จากเดิมที่ใช้โขนเรือพญานาค โดยจะปรับเปลี่ยนเป็นโขนเรือกุญชรวารี
“กุญชรวารี” เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ทรงพลัง มีหัวเป็นช้าง คอเป็นม้า ครีบ ลำตัว เกล็ด หาง เป็นปลา อาศัยอยู่ในทะเลสีทันดร และเป็นสัตว์ให้น้ำ ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีอุ้มพระดำน้ำ อันเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์จากลำน้ำ
ปัจจุบันประเพณีอุ้มพระดำน้ำยังเป็นประเพณีที่หล่อหลอมความเชื่อ และจิตใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธาของชาวเพชรบูรณ์อย่างแท้จริง เชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่น จากอดีตกาลสานสู่อนาคต โดยวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกๆปี ชาวเพชรบูรณ์ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งหนใดก็ตามจะกลับมาร่วมแรงร่วมใจ และช่วยกันร่วมสืบสานประเพณีศักดิ์สิทธิ์แห่งลุ่มน้ำป่าสัก ให้คงไว้ตราบนานเท่านาน…
นาวิน คงวราคม : รายงาน, ภาพโดย : X๖FOTOSTUDIO
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: