เพชรบูรณ์-ตื่น! พบสัตว์น้ำเอเลี่ยนกุ้งก้ามแดงเครย์ฟิช ที่น้ำตกศรีดิษฐ์ฯ เขาค้อ ประมงจังหวัดฯ สั่งจนท. สำรวจ หวั่นกระทบสัตว์น้ำในท้องถิ่น
วันที่ 20 มี.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Hardi Thin” โพสต์ภาพกุ้งชนิดหนึ่งพร้อมแจ้งว่า “น้ำตกศรีดิษฐ์ เขาค้อ เพชรบูรณ์ กับสิ่งที่เปลี่ยนไป” กระทั่งมีสมาชิกในสื่อโซเชียลต่างพากันแสดงความคิดเห็นหรือให้คอมเมนต์กับกุ้งที่พบดังกล่าวเป็น “กุ้งก้ามแดง” หรือ “เครย์ฟิช ออสเตรเลีย” ซึ่งถูกจัดเป็นสัตว์น้ำเอเลี่ยนสปีชีส์ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากกุ้งชนิดนี้จะจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำที่ตัวเองอยู่อาศัยด้วยและมีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหารทั้งหมด
และหากแหล่งน้ำไหนมีสัตว์น้ำเอเลี่ยนชนิดนี้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอาจทำให้สัตว์น้ำท้องถิ่นมีโอกาสสูญพันธุ์ได้ ทั้งนี้ในการพบสัตว์น้ำเอเลี่ยนชนิดนี้อยู่ในแหล่งน้ำท้องถิ่นถือว่า เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ระวังถึงความอันตรายของสัตว์น้ำเอเลี่ยนชนิดนี้ และหากพบกุ้งก้ามแดงหรือเครย์ฟิสสัตว์น้ำต่างถิ่นเหล่านี้ ควรทำลายทิ้งหรือสามารถจับมาเป็นประกอบเป็นอาหารได้เช่นกัน
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ เล็งจับเข่าหารือพัฒนา "เลยดั้น" พร้อมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวน้ำหนาว
- หญิงไทยเสียชีวิตปริศนา แฟนต่างชาตินอนอยู่กับศพ 3 วัน ตำรวจเร่งสอบหาสาเหตุ
- เพชรบูรณ์ - "ครอบครัวศรีประโค" บริจาคกระจกตาพ่อที่เสียชีวิต หวังช่วยให้ผู้อื่นกลับมามองเห็น
- ปป.แม่สายทานมูมมามจนลืมตัว เรียกเก็บเงินแบบไม่อาย แต่ต่อรองราคาได้
ว่าที่ร้อยตรีชัยรัตน์ พุ่มช่วย ประมงจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวชี้แจงว่า ตามที่มีผู้โพสต์ภาพกุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิชพร้อมแจ้งแหล่งที่พบเป็นบริเวณน้ำตกศรีดิษฐ์เขาค้อนั้น ล่าสุดได้สั่งการให้ทางประมงอำเภอเขาค้อลงพื้นที่สำรวจเพื่อทำการเก็บข้อมูลแล้ว และจากภาพที่มีผู้โพสต์คาดการณ์ว่า กุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิช ขนาดราว 6-8 นิ้ว ถือเป็นไซต์ใหญ่ขนาดพ่อแม่พันธุ์ ส่วนที่มาที่ไปของกุ้งเอเลี่ยนชนิดนี้ที่พบจากแหล่งน้ำแห่งนี้ เบื้องต้นก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีผู้ปล่อยกุ้งชนิดนี้ลงแหล่งน้ำที่นี่หรือไม่ แต่เมื่อปี 2564 เคยมีรายงานชาวบ้านพบกุ้งก้ามแดงหรือเครย์ฟิชในลำน้ำเข็กใกล้เคียงกับจุดที่พบในปัจจุบัน
“ในรายงานเมื่อปี 2564 ระบุว่า ชาวบ้านที่บ้านป่าแดงซึ่งอยู่โซนเดียวกับน้ำตกศรีดิษฐ์วางลอบในลำน้ำเข็กกระทั่งจับกุ้งก้ามแดงได้ขนาดไซต์ราว 6-7 นิ้ว ซึ่งจัดอยู่ในขนาดพ่อแม่พันธุ์เช่นเดียวกัน ซึ่งในการพบกุ้งเครย์ฟิชครั้งนี้ ทางเราก็พยายามแจ้งประชาสัมพันธ์ชาวบ้าน โดยเฉพาะกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยกันเฝ้าระวังและช่วยติดตามสถานการณ์เช่นเดียวกัน ส่วนการพบกุ้งชนิดนี้อีกครั้งถือเป็นครั้งที่ 2 สำหรับลำน้ำเข็กก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาพบปลาซัคเกอร์สัตว์น้ำเอเลี่ยนอีกชนิดเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน” ว่าที่ร้อยตรีชัยรัตน์กล่าว
ประมงจังหวัดเพชรบูรณ์กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่มีการพาดพิงว่ากุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิชเคยเป็นโครงการหลวงว่า กุ้งชนิดนี้ถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, โอเชียเนียและบริเวณใกล้เคียง เช่น อีเรียนจายา และเอเชียตะวันออก ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้ากุ้งชนิดนี้มานานแล้วร่วม 20 ปี โดยโครงการหลวงมีการเพาะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ด้วยนั้น เป็นการทดลองเพาะเลี้ยงเท่านั้นเอง และมีกระแสบูมสุดราวปี 2560-2561 โดยเฉพาะการขายพ่อแม่พันธุ์ กรมประมงจึงให้สัตว์น้ำชนิดนี้เป็นสินค้าควบคุม โดยผู้จะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมประมง
ว่าที่ร้อยตรีชัยรัตน์กล่าวว่า ในส่วนของ จ.เพชรบูรณ์ เดิมก็มีผู้เลี้ยงกุ้งชนิดนี้ 1,000 กว่าราย แต่ปัจจุบันเนื่องจากการเพาะเลี้ยงไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ส่วนใหญ่เลิกเลี้ยงกันไป ตอนนี้เหลือผู้เลี้ยงเพียงเล็กน้อย ก็กำชับไปว่าหากเลิกเลี้ยงให้มายกเลิกการขึ้นทะเบียน อย่างไรก็ตามหลังกระแสตก ทำให้กุ้งชนิดนี้เริ่มหลุดรอดลงตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพราะด้วยจิตสำนึกของคนใหญ่ส่วนหนึ่ง เมื่อไม่ต้องการเลี้ยงบางคนก็จะนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ผ่านมาทางกรมประมงก็พยายามประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง
รายงานข่าวแจ้งว่า จากข้อมูลวิกีพีเดียระบุว่า “เครย์ฟิช” หรือ หรือ “ล็อบสเตอร์น้ำจืด” (อังกฤษ: Crayfish, Crawfish, Freshwater lobster,[3] Crawdad,[4] Mudbug,[4] Freshwater yabby) เป็นกุ้งน้ำจืดจำพวกหนึ่ง มีรูปร่างโดยรวมลำตัวใหญ่ เปลือกหนา ก้ามใหญ่แลดูแข็งแรง มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, โอเชียเนียและบริเวณใกล้เคียง เช่น อีเรียนจายา และเอเชียตะวันออก ปัจจุบันมีการอนุกรมวิธานเครย์ฟิชไปแล้วกว่า 500 ชนิด ซึ่งกว่าครึ่งนั้นเป็นเครย์ฟิชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ก็ยังมีอีกหลายร้อยชนิดที่ยังไม่ได้รับการอนุกรมวิธาน อีกทั้งหลายชนิดยังมีความหลากหลายทางสีสันมากอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทยไม่มีกุ้งในลักษณะเครย์ฟิช ซึ่งกุ้งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่สุดที่พบในประเทศไทย คือ กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) ซึ่งในลักษณะกุ้งก้ามกรามนี้ ไม่จัดว่าเป็นเครย์ฟิช
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: