รายงานพิเศษ : ไขข้อข้องใจ”งานมะขามหวาน” ทำไมถึงต้องมี”นครบาลเพชรบูรณ์”
ในการจัดงาน “มะขามหวาน นครบาลเพชรบูรณ์” ทุกๆปีที่ผ่านมา มักมีคำถามที่ทำให้หลายคนต้องค้างคาใจว่า ทำไมถึงต้องมีคำว่า งานมะขามหวานเพชรบูรณ์ จึงต้องมี “นครบาลเพชรบูรณ์” ต่อท้ายด้วยทั้งที่การจัดงานนี้เป้าวัตถุประสงค์เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนพืชผลเอกลักษณ์ “มะขามหวาน” ซึ่งแต่ละฤดูกาลผลิตในแต่ละปีนั้น ได้สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม จนทำให้มีเม็ดเงินก้อนใหญ่ไหลสะพัด จนนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบูรณ์เฟื่องฟู
ขณะเดียวกันปัจจุบันต้องยอมรับว่า ผลผลิตทางการเกษตร ก็เป็นสินค้าอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย ฉะนั้นการผนวกเอาคอนเซ็บประวัติศาสตร์นครบาลเพชรบูรณ์ เข้าไปควบรวมกับงานมะขามหวานนั้น จึงทำให้เป้าวัตถุประสงค์การจัดงานของทางจังหวัดเพชรบูรณ์
นอกจากเเผยแพร่ชื่อเสียงมะขามหวานพืชเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์แล้ว ยังเป็นการรำลึกถึงอดีตที่ครั้งหนึ่งในยุคสมัย “จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี”ได้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ มาตั้งที่ จ.เพชรบูรณ์ โดยถึงกับออกพระราชกำหนดนครบาลเพชรบูรณ์ขึ้น และยังมีการประกาศใช้ในห้วงระยะเวลาหนึ่งแม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม
ข่าวน่าสนใจ:
โดยภายหลัง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้นำพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) นครบาลเพชรบูรณ์ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในยุคสมัยนั้น กระทั่งมติเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงทำให้พ.ร.บ.นครบาลเพชรบูรณ์ต้องตกไป ส่งผลให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี แสดงความรับผิดชอบโดยการประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่จังหวัดเพชรบูรณ์เกือบเป็นเมืองหลวงประเทศไทยนั้น ในปี 2542 ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมคณะกรรมการจัดงานมะขามหวานฯ มีมติเปลี่ยนชื่องานซึ่งเดิมใช้ชื่อ “งานเทศกาลชิมมะขามหวานเพชรบูรณ์” เปลี่ยนชื่องานเป็น “งานกาชาดมะขามหวาน นครบาลเพชรบูรณ์”
ต่อมาในปึ 2549 จึงปลี่ยนชื่องานอีกครั้ง โดยมีการตัดคำว่า“กาชาด”ออก จึงทำให้เหลือเพียงชื่อ “งานมะขามหวาน นครบาลเพชรบูรณ์” หลังจากนั้นจึงใช้ชื่องานดังกล่าวมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้ ขณะเดียวกันภายในงานยังมีกิจกรรมรณรงค์แต่งกายย้อนยุคนครบาลเพชรบูรณ์อีกด้วยนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์นครบาลเพชรบูรณ์ว่า ในปี 2486-2487 เป็นช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงย้ายเมืองหลวงมาที่เพชรบูรณ์ โดยหลักฐานสำคัญที่ยังปรากฎในปัจจุบัน ได้แก่ เสาหลักเมือง ที่ ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก ซึ่งถือเป็นเสาหลักเมืองหลวงไม่ใช่เสาหลักเมืองโบราณ
นอกจากนี้มีบันทึกว่าบริเวณรอบๆ ต.บุ่งน้ำเต้ามีการวางผังเมืองคล้ายกรุงเทพมหานคร โดยมีที่ตึ้งพระพระราชวัง มีกระทรวงต่างๆ อาทิ ที่ตั้งกระทรวงการคลังที่ถ้ำมหาสมบัติ ต.บุ่งน้ำเต้า, ที่ตั้งกระทรวงมหาดไทยที่ต.บุ่งคล้า, ที่ตั้งกระทรวงกลาโหมที่ ต.ท่าพล ฯลฯ
“โดยเฉพาะถ้ำมหาสมบัติซึ่งถูกวางให้เป็นที่ตั้งกระทรวงการคลังนั้น เนื่องจากกรุงเทพฯถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดใส่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงขนย้ายสมบัติของชาติมาเก็บรักษาไว้ที่ถ้ำมหาสมบัติ และยังปรากฎหลักฐานด้วยว่า พระแก้วมรกตก็ยังถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ สถานที่แห่งนี้ด้วย”นายวิศัลย์กล่าว
ฉะนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เกือบเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ และสาธารณูปโภคต่างๆ
รวมทั้งเพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ที่ชาวเพชรบูรณ์น่าภาคภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งเพชรบูรณ์เกือบเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ทำให้มีการหยิบยกชื่อ “นครบาลเพชรบูรณ์” มาเพิ่มเติมใส่ จนเป็นงานมะขามหวาน นครบาลเพชรบูรณ์ จวบจนถึงปัจจุบันนี้
Cr : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์ เอื้อเฟื้อคลิป
: นาวิน คงวราคม 77ข่าวเด็ด/เพชรบูรณ์ รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: