X

(สกู๊ป) เพชรบูรณ์ถกตั้งคณะทำงานทวงคืนโบราณวัตถุ-ตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ศรีเทพ

สกู๊ป- เพชรบูรณ์ถกตั้งคณะทำงานทวงคืนโบราณวัตถุ-ตั้งพิพิธภัณฑ์ฯศรีเทพ “วิศัลย์”ซัดกรมศิลป์ไม่เคยตอบสนอง จี้หวงชิ้นไหนให้เก็บไว้ ชิ้นไม่หวงนำมาให้ชาวเพชรบูรณ์ดูบ้าง

หลังเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา กระแสศรีเทพมรดกโลกทำให้มีผู้คนอยากเดินทางสัมผัสกับแหล่งอารยธรรมโบราณคดีเก่าแก่ อายุราว 1800 ปีแห่งนี้กันเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังจุดกระแสการทวงคืนโบราณวัตถุเมืองศรีเทพทั้งที่อยู่ในต่างประเทศ และที่กระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ภายในประเทศ รวมทั้งที่อยู่ในมือประชาชน

จากกระแสดังกล่าวทำให้จังหวัดเพชรบูรณ์มีแนวคิดที่จะขับเคลื่อนภายใต้คณะทำงาน ทำงานขับเคลื่อนการอนุรักษ์และพัฒนา มรดกวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยการตั้งคณะทำงานติดตามโบราณวัตถุเมืองโบราณศรีเทพคืนสู่เพชรบูรณ์ รวมทั้งขับเคลื่อนผลักดันให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมืองศรีเทพขึ้น ให้สมกับขึ้นชื่อว่า “ศรีเทพมรดกโลก”

กระทั่งเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานฯดังกล่าวขึ้น โดยมีนายชนก มากพันธ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์เป็นประธาน ทั้งนี้นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์ในฐานะเลขาฯ จึงได้นำเสนอการจัดตั้งคณะทำงานติดตามทวงคืนวัตถุโบราณเมืองศรีเทพต่อที่ประชุม พร้อมชี้เแจงถึงเหตุผลความจำเป็นที่จะเพิ่มคณะทำงานฝ่ายนี้ขึ้น เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณา

นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์ กล่าวชี้แจงว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่าวัตถุโบราณเมืองศรีเทพมีทั้งอยู่ในต่างประเทศ อยู่ในพิพิธภัณฑ์ในหลาย ๆ จังหวัด จึงควรทราบว่าโบราณวัตถุอยู่ไหนบ้างและมีการลงทะเบียนไว้ ส่วนในอนาคตมีแหล่งเก็บข้อมูลแล้ว จึงค่อยมีขบวนการขั้นตอนต่อไป ส่วนการขอข้อมูลทางจังหวัดโดยผู้ว่าฯจะลงนามหรือแจ้งไป ตรงนี้จะเป็นการขับเคลื่อนในคณะทำงานฯ ดังนั้นจึงคิดว่าสมควรตั้งคณะทำงานฝ่ายติดตามโบราณวัตถุเมืองโบราณศรีเทพคืนสู่เพชรบูรณ์

นายสิทธิชัย พูดดี หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กล่าวว่า หากตั้งกรรมการทวงคืนเลยและคิดจะเอาโบราณวัตถุที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์อื่นๆคืนสู่ศรีเทพ ตอนนี้ศักยภาพของอุทยานฯในการจัดเก็บมีไม่เพียงพอ ณ ปัจจุบัน และการขยายพื้นที่ต้องทำ HIA ก่อน และเมื่อเสร็จต้องส่งไปศูนย์มรดกโลกเพื่อพิจารณา จึงพัวพันกันว่าจะเอาไว้ตรงไหน การทำข้อมูลทางอุทยานฯและกรมศิลป์ยินดีที่จะให้บริการข้อมูลต่าง ๆ  ที่อาจต้องระมัดระวังในการสื่อออกไปภายนอก เพราะของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เราไม่ได้แชร์ทะเบียน จึงเป็นความลับเพื่อป้องกันการโจรกรรม

“เรื่องของศูนย์บริการข้อมูลปัจจุบัน อย่างที่เรียนไว้จะไม่มีการขยาย ในพื้นที่จัดเก็บและจัดแสดงจะใช้ จัดซ่อมอาคารเดิม ซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ส่วนการพัฒนาไปสู่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอให้ระดับผู้พิจารณาอีกที”นายสิทธิชัยกล่าว

นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คุยกันมานานตั้งแต่ทางอธิบดีคนเก่า ซึ่งทางจังหวัดเคยทำหนังสือไป แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ เราคิดว่าศรีเทพได้เป็นมรดกโลก คนมาก็จะได้เห็นแต่โบราณสถาน แต่ที่จริงแล้วจะต้องมีองค์ประกอบทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ แล้วก็มีโบราณวัตถุหลายชิ้นที่เป็นพยานหลักฐานของยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือศิลปกรรมสกุลช่างศรีเทพที่มีชื่อเสียง ซึ่งผู้ที่มาท่องเที่ยวก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้มาเติมเต็มให้เมืองโบราณศรีเทพมีความสมบูรณ์แบบในการมาเยี่ยมชม

“โบราณวัตถุที่อยู่ต่างประเทศ เป็นเรื่องของคณะกรรมการระดับประเทศ ที่จะต้องติดตามทวงคืน แต่ว่าเราสามารถจะช่วยได้ในระดับพื้นที่ โดยการนำข้อมูลต่างๆที่สงสัยว่า โบราณวัตถุที่ไปจากศรีเทพ นำมาให้ชาวบ้านได้เห็นได้ดูได้รู้ เผื่อใครจะมีเบาะแสเพิ่มเติม อาทิ รูปถ่ายที่ไปติดมาโดยบังเอิญ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2500 กว่า ๆ  บางคนก็ยังมีชีวิตอยู่ จึงอาจเห็นว่า ตรงนี้ใครขุดไป ไปอย่างไรซึ่งตรงนี้เราก็พอมีข้อมูลพอสมควร”นายวิศัลย์กล่าว

นายวิศัลย์กล่าวว่า เพราะฉะนั้นในคำว่าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ จากการที่เราจะนำโบราณวัตถุจาก 3 ส่วนด้วยกัน โดยส่วนแรกจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย ลพบุรี อยุธยาหรือกรุงเทพฯ อย่างเช่นทับหลังของศรีเทพไปจัดแสดงอยู่กลางแจ้ง ตากแดดตากฝนอยู่ ควรจะกลับมาอยู่ที่ศรีเทพนำมาประดับที่ปรางค์ศรีเทพอะไรต่างๆ

นายวิศัลย์กล่าวอีกว่า ส่วนที่ 2 ยังมีโบราณวัตถุอีกมากมาย ที่อยู่ในความครอบครองของประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านแถบบริเวณ เมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งไปเยี่ยมเยือนกันทีไร ชาวบ้านหลังนี้ก็จะนำมาให้ดู ถ้าหากว่ามีที่เก็บที่ถาวรมีความมั่นคงไม่ถูกขโมยไปอีก เขาก็ยินดีมามอบคืนให้ เพราะฉะนั้นการมีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สำหรับชาวเพชรบูรณ์ถือว่า มีความสำคัญและมีความจำเป็นและอยากให้มี จะได้นำโบราณวัตถุทั้งจากต่างประเทศ ในประเทศและจากประชาชน มาจัดแสดงด้วยกันให้สมบูรณ์แบบ

ประธานสภาวัฒนธรรมกล่าวว่า การจัดตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมา ไม่ได้ไปทวงคืนๆ แต่อย่างน้อยก็จะทำการรวบรวมข้อมูลภาพ มาช่วยขับเคลื่อนในพื้นที่ อย่างที่เรียนไว้ อาทิ พระสุริยเทพที่อยู่ในอเมริกา ใครเคยเห็นบ้าง ถูกตัดไปทีละครึ่งทีละครึ่ง ซึ่งเผื่อจะได้มีเบาะแสต่างๆเข้ามาเพิ่มเติม สนับสนุนการทำงานของภาครัฐไม่ใช่ไปทำหน้าที่ทวงคืนเองอะไรต่างๆ ถ้าไม่มีพิธภัณฑ์จะนำกลับเอามาไว้ตรงไหน ศูนย์ข้อมูลก็บอกอยู่แล้วว่า ไม่ขยายจะทำในที่เดิม และขนาดเดิมไม่เพียงพอ

“ฉะนั้นมีทางเดียวจะต้องมีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งผมขอใช้คำว่าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมืองศรีเทพ ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น หากเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างมาก ก็ให้ยืมมาทีละชิ้นสองชิ้นก็ว่าไป ไม่ใช่มาตรฐานความปลอดภัยอะไรต่างๆ”นายวิศัลย์กล่าว

นายวิศัลย์กล่าวอีกว่า ส่วนสถานที่จัดตั้งพิพิํภัณฑ์ ตนทราบดีอยู่แล้วว่า HIA จะทำเฉพาะในเขตบัพเฟอร์โซนใช่หรือไม่ หากอยู่นอกโซนเราก็ไม่ต้องทำ HIA อย่างเข้มข้นใช่หรือไม่ ซึ่งท่านอาจจะตอบไม่ได้ แต่ควรจะมีกระบวนการ ขบวนการหรือมาตรการขับเคลื่อนตอบสนอง ความต้องการของชาวเพชรบูรณ์บ้าง ไม่ใช่ตัดเยื่อใยไปเลย อย่างน้อยควรมีกรรมการมานั่งพูดคุยกัน ขนาดไหนเหมาะสม เอางบประมาณสร้างมาจากไหน เอาภัณฑรักษ์มาจากไหน เอาที่ดินตรงไหน คิดว่าทางจังหวัดอาจจะช่วยได้

“ผมก็ไม่เข้าใจว่าทั้งประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์ 50 กว่าแห่ง แล้วที่เล็กกว่าเพชรบูรณ์ก็มีตั้งเยอะแยะ แล้วศรีเทพเป็นมรดกโลกทำไมกรมศิลป์ไม่ตอบสนองเรา แค่เท็คแอ็คชั่นนิดเดียว ตั้งกรรมการ หรือมาดูแนวทางที่จะเป็นไปได้ ควรทำอย่างไร จังหวัดเราถึงจะทำได้ขึ้นมา ฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่จะมาบอกว่า ควรมีคณะกรรมการที่ติดตามข้อมูล หากไม่สบายใจคำว่าทวงถามให้แค่ติดตามข้อมูลก็ได้ เพื่อจะเป็นคลังข้อมูลและเพื่อจะดูซิว่า ในต่างประเทศมีตรงไหนบ้าง เวลาเอาไปพูดคุยกับชาวบ้าน จะได้บอกว่าใครเคยเห็นรูปนี้บ้าง”นายวิศัลย์กล่าว

ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่าวัตถุโบราณที่ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ตอนนี้ก็นำออกแสดงบ้างแล้ว อย่างที่พิพิธภัณฑ์ลพบุรี แม้กระทั่งที่อยู่ตามชาวบ้านต่างๆ ซึ่งตนไปเจอแล้วก็ยังตกใจ พระดินองค์ใหญ่เท่าฝ่ามือ มีอักษรปัลวะอยู่ด้านหลัง เอามาให้ดูซึ่งก็เหมือนกับที่อยู่ในอเมริกา แบบนี้เราก็จัดเก็บข้อมูลไว้และจะได้นำมาจัดแสดงในอนาคต

“กรมศิลป์หวงชิ้นไหนมีค่ามหาศาลก็เก็บไว้ก็ได้ และก็ขอชิ้นที่ไม่หวงเอามาให้ชาวเพชรบูรณ์ได้ดูบ้าง จัดแสดงที่นี่บ้างเพราะมีมากมายมหาศาลเหลือเกิน จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าเราควรจะมีคณะทำงานเพิ่มมาอีกฝ่ายหนึ่ง ในการติดตามเก็บรวบรวมข้อมูล โบราณวัตถุของเมืองศรีเทพอะไรต่างๆ เพื่อที่ในอนาคตจะมีขบวนการขอคืนมา”นายวิศัลย์กล่าวย้ำ

ในขณะที่นายอัคร ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 6 กล่าวว่า ตนเห็นด้วยในการตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้น เพื่อขับเคลื่อการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเมืองศรีเทพขึ้น ตนมองว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ หากมองว่าการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองศรีเทพ เพื่อจะนำโบราณวัตถุกลับคืนมา ส่วนที่ทางหัวหน้าอุทยานได้พูด ก็มองว่าเป็นเหตุผลของทางอุทยานและกรมศิลปากร

“การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมืองศรีเทพเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ Feasibility Study หรือการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อค้นคว้าหาความเป็นไปได้ ๆ ซึ่งเราต้องใช้คณะกรรมการขับเคลื่อนชุดนี้ ส่งถึงผู้ใหญ่ส่งถึงรัฐสภาและคณะครม. เพราะฉะนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มีการศึกษาในขั้นตอนต่างๆให้ชัดเจน”นายอัครกล่าว

นายอัครกล่าวอีกว่า ตัวอย่างที่คุณวิศัลย์ได้แจ้งว่า ในการทวงคืนโบราณวัตถุ จะต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องมีการรวบรวมเอกสาร ทั้งคำให้การของคนเคยอยู่ในพื้นที่นั้นมา และเคยเห็นเบาะแสของโบราณวัตถุชิ้นนั้นมา เริ่มจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ตนมองว่าต้องรีบเพราะคนที่รู้ถึงประวัติศาสตร์แก่นแท้ของคนศรีเทพจริง ก็อาจจะหายไปเรื่อยๆ

ด้านนายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานชุดนี้ถือเป็นก้าวแรก ของการนำไปสู่เป้าหมายที่จะทำในภายภาคหน้า เพราะหากไม่มีในขณะนี้ก็จะไม่มีไปต่อในวันข้างหน้า ในส่วนนี้จึงเห็นว่าควรจะต้องมีการตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมา ส่วนในรายละเอียดคงจะต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง

จึงนับเป็นความคืบหน้าอีกก้าวของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จะทำให้ “เมืองโบราณศรีเทพ” มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น

: สุนทร คงวราคม รายงาน : 25 พ.ย.66

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน