เพชรบูรณ์-บ.จุลไหมไทย ชี้ตลาดหม่อน-ไหม อนาคตยังสดใส หลังยอดส่งออกเส้นไหมปี 2561 พุ่ง 30% วางเป้าปี 2568-2570 เพิ่มการผลิต 5,000 ตัน จากเดิมแค่ 2,000 ตันต่อปี
วันที่ 15 ธันวาคม นายจงสฤษดิ์ คุ้นวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทในเครือจุลไหมไทย จำกัด กล่าวบรรยายที่โรงแรมโฆษิตฮิลล์ อ.เมืองเพชรบูรณ์ ระหว่างการสัมมนา 168 ตัวแทนเกษตรกรหม่อน-ไหม จาก 29 จังหวัด ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ถึงสถานการณ์หม่อนไหมทั้งภายในและนอกประเทศ รวมทั้งจุดอ่อนจุดแข็งและนโยบาย การส่งเสริมในปี 2562 และทิศทางราคารังไหมในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยนายจงสฤษดิ์ ระบุว่า การส่งออกเส้นไหมของจุลไหมไทยมีการส่งออกมากขึ้น สมัยก่อนส่งออกแค่ 5% แต่ปี 2561 ส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 30% โดยเมื่อช่วงกลางปีบางช่วงมีการส่งออกมากกว่าครึ่ง แต่พอปลายปีปรากฏว่าตลาดภายในประเทศมีความต้องการเส้นไหมมากขึ้น จึงต้องกลับมาดูแลตลาดภายในประเทศก่อน
นายจงสฤษดิ์ กล่าวว่า จากตัวเลขเฉลี่ยการส่งออก 30% ทำให้ตลาดเส้นไหมของจุลฯยังมีอนาคตและความมั่นคง เพราะไม่ได้พึ่งพาตลาดที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป หากเป็นสมัยก่อน ตลาดในประเทศ 95% ส่งออกแค่ 5% จะไม่กล้าพูดแบบนี้แล้ว ส่วนการส่งออกที่ทำให้มีเหตุสะดุด เพราะมีบริษัทอื่นมาแย่งเกษตรกรไป ทำให้จุลไหมไทยเสียเกษตรกรไปราว 300 กว่าราย โดยสาเหตุมาจากตลาดเส้นไหมในช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 อยู่ดีๆ ราคาสูงขึ้น ทำให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาซื้อ แต่เนื่องจากขณะนี้ราคาไหมในตลาดโลกกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้สถานการณ์เริ่มเบาบางแล้ว
นายจงสฤษดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาอื่นในปี 2561 ที่ผ่านมา มีบางพื้นที่คุณภาพดินไม่ดีโดยเฉพาะในภาคอีสาน ขาดการบำรุงดินปลูกหม่อนไม่งามเท่าที่ควร ประกอบกับตลาดโลกขาดแคลนจนราคาแพงขึ้น จุลฯไม่กังวลที่เสียเกษตรกรในส่วนนี้ไปเพราะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ส่วนปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลทำให้ใบหม่อนที่ทางบริษัทเตรียมไว้ เพื่อเลี้ยงไหมวัยอ่อนไม่เพียงพอและไม่สามารถผลิตตัวอ่อนให้เกษตรกรได้ตามเป้า เกษตรกรส่วนมากได้รับผลกระทบนี้ทำให้ผลการเลี้ยงของเกษตรกรตกต่ำลง เมื่อมีการร้องเรียนและตรวจสอบแล้วเป็นความจริง จึงมีการชดเชยเงินให้แก่เกษตรกรเป็นจำนวน 1.4 ล้านบาทเศษ และในปี 2562 นี้ บริษัทฯได้เพิ่มพื้นที่สวนหม่อนสำหรับไหมวัยอ่อนจึงไม่ต้องกังวลอีกต่อไป
นายจงสกฤษดิ์ยังกล่าวถึงราคารับซื้อรังไหมในปี 2562 ซึ่งจะปรับสูงขึ้น แต่จะมีการปรับเปลี่ยนกติกาเพื่อให้เกษตรกรช่วยกันพัฒนาคุณภาพรังไหมให้ดีขึ้น เกษตรกรจึงต้องปรับตัวตามไปด้วย นอกจากนี้จะมีการเปิดรับเกษตรกรสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยจะเน้นสมาชิกที่มีคุณภาพ สำหรับในปี 2561 มีรังไหมเข้าโรงงาน 2,000 ตันต่อปี ในปี 2568-2570 จุลฯมีเป้าหมายอยู่ที่ 5,000 ตันต่อปี และในปีหน้า บริษัทฯจะเปิดตัวแอปพลิเคชัน สำหรับช่วยให้เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯ ทำงานได้สะดวกมากขึ้นโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: